เกษตรกรลพบุรี เลี้ยงไก่ดำเคยู ภูพาน ส่งขายตลาดไก่เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ

คุณอาทิตย์ ทิพเนตร หรือ คุณอ๊อด อยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ที่ 7 ตำบลลาดสาลี อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ได้นำสายพันธุ์ไก่ดำเคยูภูพานมาเลี้ยง เพราะเป็นไก่ที่ตอบสนองกับพื้นที่ได้อย่างดี เลี้ยงง่าย โตเร็ว แข็งแรง ราคาดี แล้วยังมีตลาดรองรับที่แน่นอน ทำให้เลี้ยงไม่ทัน จึงชักชวนชาวบ้านมารวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน

คุณอาทิตย์ ทิพเนตร หรือคุณอ๊อด

ก่อนหน้านั้นคุณอ๊อดเป็นคนที่ชอบเลี้ยงไก่มาก โดยเฉพาะไก่ชน แต่พอน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ไก่หายและตายเกือบทั้งหมด จึงเริ่มต้นใหม่ด้วยการเปิดหาข้อมูลทางเน็ต จนได้พบเรื่องราวของไก่ดำเคยู ซึ่งกำลังอยู่ในกระแสความต้องการของผู้บริโภคด้านสุขภาพ จากนั้นจึงลองติดต่ออาจารย์ที่ดูแลเรื่องนี้เพื่อขอสายพันธุ์มาเพาะเลี้ยง โดยยังไม่ได้มองไปไกลถึงตลาดผู้บริโภคเชิงพาณิชย์

ไก่ขุนพันธุ์เคยู

การเลี้ยงไก่ดำเคยูไม่ใช่เรื่องยาก สามารถให้อาหารได้ตลอดเวลา โดยเลี้ยงแบบไก่ขุนทั่วไป ใช้อาหารประเภทเดียวกับการเลี้ยงไก่เนื้อ อาจมีอาหารเสริมบ้างในบางคราว อีกทั้งไก่พันธุ์นี้เจริญเติบโตได้เร็วในเวลาสั้น ดังนั้น จากไก่ที่นำมาเลี้ยงเพียงไม่กี่คู่กลับกลายเพิ่มมากขึ้น สร้างปัญหาให้กับคุณอ๊อด จึงทำให้เขาตัดสินใจแบ่งขายสายพันธุ์ออกไปบ้างเพื่อรักษาจำนวนเลี้ยงให้พอเหมาะ ดังนั้น จึงทำให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนในละแวกเดียวกันได้มีโอกาสเลี้ยงไก่ดำไว้

คุณอ๊อดเปลี่ยนแนวทางจากการขายพันธุ์มาเป็นการขายไก่เนื้อแทน แล้วนำไก่ที่เชือดแล้วไปขายตามตลาดที่ไม่ไกล อย่างตลาดนัด ตลาดชุมชน หรือตลาดในเมือง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี แต่ดูเหมือนว่าอัตราไก่ที่ขายกับจำนวนไก่ที่เพิ่มขึ้นในฟาร์มจะไม่สอดคล้องกัน

ดังนั้น คุณอ๊อดและแฟนจึงหาทางเปิดตลาดอื่นควบคู่ไปกับการนำไปขายเอง จึงเดินไปดูตามห้างแล้วพบว่าไก่ดำที่ขายอยู่ในห้างดังมีขนาดเดียวกันกับที่เลี้ยง จึงได้ติดต่อทางบริษัทแล้วได้ออเดอร์เพื่อส่งไก่ดำทันที ขณะที่บางส่วนได้พยายามติดต่อขายทางออนไลน์ด้วย

ตลาดไก่ดำของคุณอ๊อดเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมองว่าลำพังตัวเองคงไม่ทันแน่จึงได้ชักชวนชาวบ้านในพื้นที่มาจัดตั้งเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่ดำบ้านกระเบาเรียง” แล้วส่งเสริมให้สมาชิกนำลูกไก่ที่คุณอ๊อดเพาะไปเลี้ยงขุน โดยมียา อาหาร เวชภัณฑ์ไว้บริการให้

พ่อแม่พันธุ์เคยูอีกชุด
พ่อแม่พันธุ์มองโกเลียผสมเคยู

พอเลี้ยงโตได้ขนาดตามมาตรฐานเพื่อส่งขายซึ่งเป็นไก่ขนาดน้ำหนัก 750-850 กรัม หรือเป็นไก่อายุ 45 วัน จะรับซื้อคืน ซึ่งแนวทางนี้เหมาะกับชาวบ้านเลี้ยงเป็นรายได้เสริมหรือรายได้หลัก อีกทั้งยังสามารถเลี้ยงอยู่กับบ้านได้ เพราะเป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องลงทุน เพียงแต่ขอให้เลี้ยงด้วยความใส่ใจเท่านั้น

ทั้งนี้ จะเก็บไข่ไปฟักในเครื่องทุกสัปดาห์คราวละ 500-600 ฟอง หลังจากไข่ฟักเป็นตัวแล้วจะฉีดวัคซีนประมาณอายุ 1 สัปดาห์ แล้วจึงนำไปให้เครือข่ายเลี้ยงขุนต่อไป

ไข่ไก่ดำเคยู ภูพาน

ปัจจุบัน “ทิพเนตร” ฟาร์มไก่ดำเคยูภูพาน มีพ่อ-แม่พันธุ์จำนวนพันกว่าตัว แล้วจะแบ่งกลุ่มการเลี้ยงไก่ โดยถ้าต้องการเพาะพ่อ-แม่พันธุ์แต่ละรุ่นจะใช้ไก่ชุดหนึ่ง โดยจะสลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเพื่อป้องกันเลือดชิด แต่ถ้าต้องการเพาะเลี้ยงลูกไก่เนื้อจะใช้ไก่อีกชุดหนึ่ง ซึ่งอายุพ่อ-แม่พันธุ์ โดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปี โดยนับเวลาจากที่เริ่มให้ไข่ได้ ทั้งนี้ ไก่พ่อ-แม่พันธุ์ที่ไข่มีความสมบูรณ์ลดลงจะเชือดขายโดยมีตลาดกลุ่มที่ต้องการใช้ไก่แก่ไปตุ๋นเป็นยา

คุณอ๊อดชี้ถึงเหตุผลส่วนหนึ่งที่ตั้งใจเลี้ยงไก่ดำขายแทนไก่บ้าน เพราะว่าไก่บ้านต้องใช้เวลานานกว่าจะจับขายซึ่งอาจเป็นแรมเดือน แต่ไก่ดำยูเคภูพานใช้เวลาเลี้ยงเพียง 45 วันเท่านั้น อีกทั้งยังมีตลาดรองรับแน่นอนเพราะเป็นกลุ่มตลาดสุขภาพ จึงทำให้มีราคาขายสูงกว่าไก่บ้านและไก่เนื้อ

“ไก่ดำที่รับซื้อจากชาวบ้านแล้วนำส่งเข้าโรงเชือดแล้วจะแพ็กใส่ถุง นำไปแช่ในห้องเย็นเพื่อเตรียมส่งขายโดยไก่ที่นำไปแปรรูปขายทั้งตัวจะมีน้ำหนักประมาณ 600-700 กรัม”

การขายไก่ ถ้าซื้อจำนวนมากน้ำหนักเป็นตันจะกำหนดราคาขายแบบเป็นกิโลกรัม แต่ถ้าซื้อจำนวนน้อยแล้วเป็นรายย่อยจะกำหนดขายเป็นตัวราคาตัวละ 120 บาท ซึ่งราคานี้ผู้รับซื้ออาจจะนำไปขายต่อในราคาตัวละประมาณ 150-170 บาท

สำหรับสมาชิกที่นำไก่ไปเลี้ยงขุนจะได้กำไรจากการขายคืนประมาณตัวละ 10-15 บาท ทั้งนี้ จะต้องหักค่าอาหารและรายการเบ็ดเตล็ดซึ่งเป็นทุนออกไป

พ่อแม่พันธุ์มองโกเลียผสมเคยู

คุณอ๊อด ชี้ว่า ต้นทุนหลักของอาชีพเลี้ยงไก่ดำเนื้อประกอบด้วย ค่าอาหารซึ่งไก่ดำเคยูภูพานกินอาหารตัวละประมาณ 1-1.2 กิโลกรัม, ค่าจับไก่, ค่าเชือดที่โรงงาน และค่าเช่าห้องแช่แข็ง

“อย่างค่าเชือดคิดตัวละ 8 บาท ค่าแช่แข็งกิโลกรัมละ 2 บาท ต่อเดือน ซึ่งเมื่อรวมต้นทุนทั้งหมดแล้วไก่ตัวหนึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10 กว่าบาท แล้วจะส่งไก่เชือดทุกสัปดาห์ แต่จะขายให้กับบริษัททุก 15-20 วัน”

ตลาดขายส่งไก่ดำมีที่มหาชัย ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลาง โดยไก่จะห่อพลาสติกไปจากโรงเชือด ในลักษณะไก่แช่แข็ง จากนั้นผู้รับซื้อจะไปแกะพลาสติกออกแล้วห่อใหม่ด้วยการติดแบรนด์เอง ทั้งนี้ ยอดส่งไก่เดือนละประมาณ 5,000 ตัว ซึ่งความจริงแล้วตลาดต้องการมากกว่านี้ แต่ทางกลุ่มไม่มีความสามารถพอ ฉะนั้น ขณะนี้จึงต้องมาปรับแผนการจัดระบบการผลิตใหม่เพื่อจะได้รองรับตลาดได้อย่างเต็มที่

ไก่ดำแช่แข็งเตรียมส่งพ่อค้า

นอกจากความนิยมบริโภคเนื้อไก่ดำเพื่อสุขภาพแล้ว ไข่ของไก่ดำเคยู-ภูพาน ก็ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มเดียวกันด้วย ทั้งนี้ ไข่ของไก่ดำมีรูปร่าง สี หรือขนาดเช่นเดียวกับไข่ไก่ทั่วไป เพียงแต่มีรสชาติออกเค็มเล็กน้อยเมื่อนำไปบริโภค แต่ถึงยังไงกลุ่มรักสุขภาพมักนิยมซื้อไปบริโภคกันแต่ไม่มากเท่าไร

ทางด้านโรคที่พบในไก่ดำ คุณอ๊อดเผยว่าก็มีบ้าง แต่ไม่บ่อย ส่วนมากเกิดขึ้นกับสมาชิกที่เลี้ยงเพราะขาดการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ลูกไก่ทุกตัวจะฉีดวัคซีนให้ครบตามตารางอายุ ขณะเดียวกัน จะให้หญ้าเนเปียร์ผสมกับฟ้าทลายโจรให้ไก่กินเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคจึงนับเป็นวิธีการเลี้ยงไก่แบบอินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดังนั้น จึงไม่ค่อยพบปัญหาไก่เป็นโรคนอกจากเกิดการระบาดอย่างรุนแรงอย่างที่ผ่านมา

นอกจากการตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มสัมมาชีพที่ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 15 คน (เฉพาะในชุมชน) แล้ว ทางคุณอ๊อดยังมีเครือข่ายสมาชิกต่างถิ่นอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ทั้งภาคเหนือ-อีสาน โดยเครือข่ายจะปฏิบัติแนวทางเดียวกันกับทางกลุ่มหลักที่ลพบุรี ฉะนั้น จึงเป็นอีกแนวทางการแก้ไขจำนวนไก่ดำที่ไม่เพียงพอต่อการส่งขาย

สอบถามรายละเอียดการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ไก่ดำ หรือสนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเลี้ยงไก่ดำเพื่อสร้างรายได้ ติดต่อคุณอ๊อด โทรศัพท์ (092) 272-2573 หรือ fb : ทิพเนตรฟาร์มไก่ดำเคยูภูพาน ลพบุรี หรือ Line : aodchickan