“เสาวรสหวานไทนุง” ไม้ผลทางเลือกใหม่ เสริมรายได้ชาวสวนยาง “บึงโขงหลง”

ทุกวันนี้ ราคายางพาราอยู่ในช่วงตลาดขาลง ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีรายได้ลดน้อยลงตามไปด้วย แต่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่บ้านคำสมบูรณ์ อำเภอบึงโขงหลง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น พวกเขาหันมาปลูก “เสาวรส” เป็นไม้ผลริมรั้ว เพื่อขายผลสดและแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มในรูปน้ำเสาวรส ปรากฏว่าขายดิบขายดี จนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด พวกเขาเตรียมขยายพื้นที่ปลูกเสาวรสมากขึ้น พร้อมรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในท้องถิ่น เพื่อขยายกำลังผลิตน้ำเสาวรสให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านคำสมบูรณ์ สอดคล้องกับนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ “คุณนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร” ที่อยากเห็นพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราตัดโค่นต้นยางเก่าที่หมดอายุ หรือแบ่งที่ดินว่างเปล่านำมาปลูกผลไม้ เป็นสินค้าทางเลือกตัวใหม่เสริมรายได้ในครัวเรือน วิธีนี้จะช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนแทนการปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยวเหมือนในอดีต

จุดเริ่มต้น

คุณธีรวัฒน์ พันสุวรรณ์ เกษตรกรชาวสวนยางพารา บ้านคำสมบูรณ์ ตำบลบึงโขงหลง ได้โอกาสไปศึกษาดูงานเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านห้วยหินลาด อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ

คุณธีรวัฒน์ และภรรยา แกนนำกลุ่มผลไม้แปรรูปบ้านคำสมบูรณ์

ปรากฎว่า คุณธีรวัฒน์ เกิดความประทับใจคุณภาพและรสชาติของ “เสาวรสหวานพันธุ์ไทนุง” ที่มีลักษณะเด่นคือ ผลสีม่วงเข้ม ติดผลดก ให้ผลผลิตคุณภาพดี รสหวาน อร่อย มีค่าความหวานเฉลี่ย 17 Brix เนื่องจากเสาวรสเป็นไม้ผลเพื่อสุขภาพที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในวงกว้าง เพราะเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงมาก ช่วยให้ผิวพรรณสวยใส เปล่งปลั่ง มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ดีต่อสุขภาพ ช่วยลดระดับความดันโลหิตสูง ช่วยป้องกันโรคหัวใจ และโรคมะเร็งสำไส้ไปพร้อมๆ กัน

ดังนั้น คุณธีรวัฒน์ จึงตัดสินใจซื้อกล้าพันธุ์เสาวรสหวานปลอดโรคไวรัส ของโครงการฯ ในราคาต้นละ 20 บาท มาปลูกเป็นไม้ผลริมรั้วบ้านก่อน เพราะเสาวรสหวานพันธุ์ไทนุง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “เสาวรสพันธุ์สีม่วง” ปลูกดูแลง่าย ไม่มีปัญหาโรคแมลงรบกวน ทำให้ง่ายต่อการดูแลจัดการแปลงตลอดฤดูการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ธรรมชาติของเสาวรส จัดอยู่ในกลุ่มไม้เลื้อย แค่ทำซุ้มไม้ระแนงเป็นหลักให้ต้นเสาวรสเกาะ หรือปลูกริมรั้วบ้าน ไม้ผลชนิดนี้ก็สามารถเติบโตได้ดี

เสาวรสหวานพันธุ์ไทนุงผลแก่ มีสีม่วงเข้ม

“ผมทดลองปลูกเสาวรสพันธุ์สีม่วงเกาะบริเวณรั้วบ้านก่อน ปรากฏว่าได้ผลผลิตปริมาณมากและขายผลผลิตได้ราคาดี จึงชักชวนเพื่อนเกษตรกรชาวสวนยางพาราในท้องถิ่น จำนวน 20 รายมารวมตัวกันในชื่อกลุ่มแปรรูปผลไม้ โดยผมรับหน้าที่เป็นประธานกลุ่มฯ ระดมเงินทุนจากสมาชิกในราคาหุ้นละ 100 บาท ปัจจุบันทางกลุ่มฯ มีเงินทุนจากสมาชิกและรายได้จากการจำหน่ายน้ำเสาวรสประมาณ 30,000 บาท” คุณธีรวัฒน์ กล่าว

เนื่องจากเสาวรสหวานพันธุ์ไทนุง มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพียงปีละครั้ง (ตุลาคม-พฤศจิกายน) ทางกลุ่มฯ วางแผนรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกและเกษตรกรในท้องถิ่นให้มากที่สุด และเก็บรักษาคุณภาพผลผลิตในห้องเย็น และค่อยทยอยนำมาผลผลิตมาแปรรูปเป็นน้ำเสาวรสออกขายตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ สนับสนุนต้นกล้าเสาวรสหวานพันธุ์ไทนุง ให้สมาชิกและเกษตรกรในท้องถิ่นนำไปปลูกในพื้นที่ว่างของพวกเขา และรับซื้อผลผลิตคืนในราคากิโลกรัมละ 10 บาท เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับแปรรูปน้ำเสาวรสต่อไป

“เสาวรสหวานพันธุ์ไทนุง หรือเสาวรสพันธุ์สีม่วง มีจุดเด่นคือ รสชาติหอม หวาน เหมาะสำหรับกินผลสดและแปรรูปเป็นน้ำเสาวรส ถือว่าเสาวรสพันธุ์สีม่วงมีรสหวานอร่อยมากกว่าพันธุ์สีเหลือง ที่ปลูกกันทั่วไป แต่จุดอ่อนของเสาวรสพันธุ์สีม่วงก็คือ มีปริมาณเนื้อเสาวรสน้อยกว่าพันธุ์สีเหลือง” คุณธีรวัฒน์ กล่าว

ในปีนี้ คุณธีรวัฒน์มุ่งส่งเสริมให้สมาชิกและเกษตรกรในท้องถิ่นปลูกเสาวรสหวานเชิงการค้า เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลจัดการผลผลิตในอนาคต โดยมุ่งยกระดับการผลิตเสาวรสสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ ที่มีมาตรฐาน GAP ซึ่งเป็นมาตรฐานสินค้าผลไม้ระดับฟาร์ม และวางแผนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในอนาคต

การเพาะกล้า

คุณธีรวัฒน์ นำเมล็ดเสาวรสที่เหลือจากการแปรรูป มาแกะเยื่อหุ้มเมล็ดออกก่อน นำเมล็ดไปล้างความสะอาดและตากแห้งเพื่อเก็บรักษาคุณภาพ เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม จึงค่อยนำเมล็ดไปเพาะต้นกล้า

ต้นกล้าเสาวรสหวานพันธุ์ไทนุง

ขั้นตอนการเพาะต้นกล้า เริ่มจากนำเมล็ดเสาวรสที่ตากแห้งไว้ นำมาแช่ในน้ำอุ่น ประมาณ 10-20 นาที จึงค่อยนำเมล็ดเสาวรสใส่ลงในถุงเพาะชำที่มีดินร่วน ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์เป็นวัสดุปลูก คุณธีรวัฒน์ บอกว่า สาเหตุที่ไม่เลือกใช้แกลบดำเป็นวัสดุปลูก เพราะเวลาปลูกลงดิน หากดูแลไม่ดี อาจทำให้ต้นกล้าแห้งตายได้ง่าย แต่การเพาะเมล็ดโดยใช้ดินร่วนในท้องถิ่นเป็นวัสดุปลูก ทำให้ต้นกล้าปรับตัวเข้ากับสภาพดินที่เตรียมจะนำไปปลูกได้ดีนั่นเอง

การปลูก

คุณธีรวัฒน์ บอกว่า เขาเตรียมขยายพื้นที่ปลูกเสาวรสหวาน จำนวน 2 งาน คาดว่าจะใช้ต้นกล้าเสาวรส จำนวน 80 ต้น ขุดหลุมให้ลึกประมาณ 30 x 30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกก่อนปลูก โดยปลูกในระยะห่าง 5 x 5 เมตร พร้อมทำซุ้มไม้เพื่อเป็นหลักให้ต้นเสาวรสพันธุ์สีม่วงเลื้อยเกาะขึ้นไป

ผลเสาวรสหวานอินทรีย์พันธุ์ไทนุง

“หลังปล่อยให้ต้นเสาวรสเลื้อยไปตามซุ้มไม้ที่จัดเตรียมไว้ได้ประมาณ 3-4 เมตร ผมก็จะตัดลำต้นเสาวรสไม่ให้เลื้อยมากไปกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้ลำต้นเสารสเลื้อยยาวโดยไม่มีการควบคุม จะได้ผลเสาวรสมีขนาดเล็ก ขายไม่ได้ราคา ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน” คุณธีรวัฒน์ กล่าว

หลังปลูก คุณธีรวัฒน์แนะนำให้สมาชิกดูแลใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ทุกเดือน และรดน้ำในแปลงปลูกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว เพราะต้นเสาวรสไม่ชอบน้ำแฉะ หลังปลูกต้นเสาวรสจะเริ่มให้ผลผลิตรุ่นแรก ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี เกษตรกรมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 2 เดือน หากดูแลจัดการแปลงอย่างเหมาะสม ต้นเสาวรสพันธุ์สีม่วงจะให้ผลผลิตประมาณ 20 กิโลกรัม ต่อต้น

คุณธีรวัฒน์ กล่าวว่า ต้นเสาวรสจะให้ผลผลิตเต็มที่เพียงแค่ 3 รุ่น ต่อการเพาะปลูก 1 รอบ ผลผลิตรุ่นต่อมาจะน้อยลงและเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ จึงแนะนำให้สมาชิกรื้อแปลงปลูกเสาวรสออกหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จในรุ่นที่ 3 โดยทางกลุ่มฯ จะสนับสนุนกล้าพันธุ์เสาวรสรุ่นใหม่ให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกในฤดูถัดไป

ด้านตลาด

สำหรับเสาวรสหวานผลสด เกษตรกรจะขายส่งในราคาหน้าสวนอยู่ที่ กิโลกรัมละ 10 บาท หากนำไปจำหน่ายที่ตลาดโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรจะสามารถขายปลีกถึงมือผู้บริโภคได้ในราคา กิโลกรัมละ 35 บาท หรือ 3 กิโลกรัม 100 บาท เสาวรสหวานพันธุ์ไทนุงขายดีมากเพราะมีรสชาติหอม หวาน อร่อย ถูกใจกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ เพราะเสาวรสเป็นไม้ผลที่มีคุณประโยชน์สูง ดีต่อสุขภาพและร่างกายในหลายด้าน

คุณธีรวัฒน์ กล่าวว่า การขายเสาวรสผลสด สร้างผลกำไรได้น้อย เมื่อเทียบกับการขายน้ำเสาวรสที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เพราะเสาวรสน้ำหนัก 1 กิโลกรัม มีผลผลิตประมาณ 5-6 ผล สามารถแปรรูปเป็นน้ำเสาวรสออกขายได้ จำนวน 6 ขวด ขายในราคาขวดละ 10 บาท เท่ากับมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 60 บาท ต่อกิโลกรัมทีเดียว คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม ปัจจุบัน สินค้าน้ำเสาวรสของกลุ่มผลไม้แปรรูปภายใต้การนำของคุณธีรวัฒน์ เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วไป ขายดีเทน้ำเทท่า ผลิตแทบไม่ทันกับความต้องการของตลาด

น้ำเสาวรสรสหวานอร่อย

“ขั้นตอนการผลิตน้ำเสาวรส เริ่มจาก นำผลเสาวรสมาคว้านเนื้อออก นำมาผสมกับน้ำเชื่อมในอัตราส่วนที่พอเหมาะ โดยทั่วไปเสาวรส จำนวน 1 ผล สามารถผลิตน้ำเสาวรสได้จำนวน 1 ขวด หากเก็บแช่ในตู้เย็น จะช่วยรักษาคุณภาพความสดเพื่อรอการขายได้นาน 1 สัปดาห์” คุณธีรวัฒน์ กล่าว

เส้นทางสู่ความร่ำรวยของกลุ่มแปรรูปผลไม้บ้านคำสมบูรณ์ จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในวันนี้ คือ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบึงโขงหลงที่เข้ามาสนับสนุนทั้งองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปน้ำเสาวรส ช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ และจัดหางบประมาณจัดซื้อขวดบรรจุภัณฑ์น้ำเสาวรส ช่วยดูแลควบคุมมาตรฐานการผลิตและช่วยจัดหาตลาดให้แก่กลุ่มฯ

ล่าสุด เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า โดยสนับสนุนให้กลุ่มฯ นำ “ใยเสาวรส” เศษวัสดุที่เหลือจากกระบวนการแปรรูปน้ำเสาวรสมาผลิตเป็น “แยมเสาวรส” สินค้าตัวใหม่ของกลุ่ม เพิ่มจำนวนสินค้าทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค และกระจายความเสี่ยงทางการตลาดให้กับทางกลุ่มฯ ควบคู่กันไป

ชาวบ้านโชว์สินค้าเด่นของบ้านคำสมบูรณ์

หากใครสนใจเยี่ยมชมดูงานของกลุ่มแปรรูปผลไม้ของบ้านคำสมบูรณ์ หรือสนใจสั่งซื้อสินค้าของพวกเขา ติดต่อกับ คุณธีรวัฒน์ พันสุวรรณ์ ได้ที่ บ้านเลขที่ 108 หมู่ที่ 3 บ้านคำสมบูรณ์ ตำบลบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ โทรศัพท์ (061) 638-5012

หากใครอยากชิมรสชาติความอร่อยของเสาวรสหวานพันธุ์ไทนุง และน้ำเสาวรสของกลุ่มผลไม้แปรรูปบ้านคำสมบูรณ์ ขอเชิญแวะเข้าชมและเลือกซื้อได้ในงาน “วันยางพาราจังหวัดบึงกาฬประจำปี 2562” ในระหว่างวันที่ 13-19 ธันวาคม 2561 ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ