ที่มา | รายงานพิเศษ บึงกาฬเมืองยางพาราก้าวหน้า |
---|---|
ผู้เขียน | จิรวรรณ โรจนพรทิพย์ |
เผยแพร่ |
“อุตสาหกรรมยางพารา” มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา หากใครอยากรู้ว่า อุตสาหกรรมยางพาราไทยในปีหน้าจะเติบโตไปในทิศทางไหนนั้น สามารถหาคำตอบได้จาก บทสัมภาษณ์พิเศษ “คุณพินิจ จารุสมบัติ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ได้ในฉบับนี้
ทิศทางตลาดยางพารา
สถานการณ์ราคายางพาราในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง เนื่องจากสต๊อกยางในจีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนได้สร้างความกังวลทำให้หลายฝ่ายชะลอการลงทุน ผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาค่าเงินในหลายประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมอยู่ในภาวะถดถอย ปริมาณความต้องการใช้ยางล้อรถยนต์ และชิ้นส่วนยางในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกที่ช่วยพยุงราคายางอยู่บ้างคือ การเติบโตของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ที่ยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง
“ในภาพรวมถือว่า ราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เป็นไปตามวัฏจักรการค้าขายยางพาราโดยทั่วไปนั่นเอง เพราะบางช่วงที่สินค้าขาดตลาด ราคายางพาราก็ปรับตัวขึ้นสูงมาก ปัจจุบัน ปริมาณความต้องการของตลาดอาจไม่มาก ประกอบกับผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ยังเก็บสต๊อกยางพาราไว้มากพอ ทำให้แรงซื้อในตลาดไม่สูงมาก ส่งผลให้ราคาซื้อขายในตลาดอยู่ในทิศทางขาลง ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตยางพารา เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ต่างเผชิญสถานการณ์ปัญหาราคายางพาราตกต่ำเช่นเดียวกับไทย ส่วนแนวโน้มตลาดยางพาราในปีหน้า ยังคาดเดาได้ลำบาก เพราะยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะมากระตุ้นราคายางให้ปรับตัวสูงขึ้น สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เช่น ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวได้เร็วหรือไม่” คุณพินิจ กล่าว
วิธีแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ
คุณพินิจ กล่าวว่า มาตรการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำที่ดีที่สุดคือ ส่งเสริมการแปรรูปยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ โดยภาครัฐจัดหาเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ จากสถาบันการเงิน หรือกองทุนเฮจด์ฟันด์ นำมาสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารากู้ยืมไปใช้ลงทุนแปรรูปยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ายางพาราภายในประเทศ เช่น ตั้งโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ประเภทต่างๆ ผลิตถุงมือยาง ผลิตถุงยางอนามัย ผลิตขอบยางกระจกรถยนต์ หรือแม้กระทั่งยางรัดของ (ยางหนังสติ๊ก) ซึ่งเป็นสินค้าขายดี เป็นที่ต้องการสูงในตลาดจีนและอินเดีย
หากมุ่งแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ โดยภาครัฐส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางใช้ยางพาราที่พวกเขาผลิตได้เป็นวัตถุดิบเพื่อนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราภายในประเทศ นอกจากกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราจะมีโอกาสขายยางพาราได้ราคาที่สูงขึ้นแล้ว รัฐบาลยังมีโอกาสได้เงินภาษีมากขึ้น จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย
“บึงกาฬโมเดล” เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของการรวมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา เพื่อจัดตั้งโรงงานแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราในท้องถิ่น ปัจจุบันผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราขายดีมาก จนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด
แต่น่าเสียดายที่กิจการแปรรูปยางของกลุ่มเกษตรฯ ชาวสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬยังดำเนินงานไม่ครบวงจร เพราะยังขาดวัตถุดิบ คือ “น้ำยางข้น” ตอนแรก ผมก็เกรงใจ อยากให้กลุ่มเกษตรกรหรือเอกชนรายอื่นทำ แต่ยังไม่คืบหน้าสักที ผมจึงตัดสินใจลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำยางข้นขึ้นมาเอง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราของท้องถิ่นในอนาคต
แผนการลงทุน “ธุรกิจน้ำยางข้น”
ปัจจุบัน สินค้ายางก้อนถ้วย ขายได้ราคาถูก คุณพินิจ จึงสนใจผลิต “น้ำยางข้น” เพราะมีราคาขายสูง แถมธุรกิจน้ำยางข้นยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องตามทิศทางอุตสาหกรรมขั้นปลายในตลาดโลก
คุณพินิจ เตรียมพื้นที่ว่าง ในบริเวณบ้านโคกก่อ เนื้อที่ประมาณ 5-10 ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำยางข้น
สำหรับโรงงานแห่งนี้ มูลค่าการลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยจะใช้เวลาก่อสร้างโรงงานไม่เกิน 10 เดือน คาดว่าโรงงานแห่งนี้พร้อมเดินเครื่องผลิตน้ำยางข้นได้ในช่วงปลายปีหน้า สินค้าน้ำยางข้นที่ผลิตได้จะมุ่งจำหน่ายให้กับโรงงานแปรรูปยางพาราภายในจังหวัดบึงกาฬและพื้นที่ใกล้เคียง หากกลุ่มเกษตรกรใดมีความสนใจ อยากเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการดังกล่าว คุณพินิจ ก็ยินดีเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเจรจาร่วมทุนได้ตลอด
“การผลิตน้ำยางข้นมีข้อดีหลายประการ ได้แก่
1. เก็บรักษาคุณภาพสินค้าได้นาน
2. ตลาดมีเยอะ ขายได้ง่าย
3. เมื่อโรงงานน้ำยางข้นเปิดดำเนินงาน เชื่อว่าเกษตรกรชาวสวนยางจะมีโอกาสขายน้ำยางสดได้ในราคาที่สูงขึ้น เพราะยินดีรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกในราคาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไปนั่นเอง” คุณพินิจ กล่าว
ตั้งโรงงานชิ้นไม้สับ ที่บึงกาฬ
ปัจจุบัน ชิ้นไม้สับที่เหลือจากการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่จากสวนไร่นา สวนผลไม้ ไม้ท่อนยูคาลิปตัส รวมทั้งไม้ยางพารา ที่่นำมาผ่านกระบวนการสับย่อยให้กลายเป็นชิ้นเล็ก ถูกนำมาใช้เป็นไม้สับเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนน้ำมันในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งโรงงานน้ำตาล โรงงานย้อมผ้า รวมทั้งจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลกันอย่างแพร่หลาย เพราะให้พลังงานความร้อนสูง ค่าความชื้นต่ำกว่าไม้สับทั่วไป ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเชื้อเพลิงพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ (NGV) ก๊าซหุงต้ม (LPG)
คุณพินิจ เล็งเห็นโอกาสทางการตลาดดังกล่าว จึงวางแผนก่อสร้าง “โรงงานผลิตชิ้นไม้สับ” เป็นโรงงานแห่งที่สองในบริเวณตำบลโคกก่อง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ โรงงานผลิตชิ้นไม้สับแห่งนี้มีสถานที่ตั้งอยู่ในแหล่งพื้นที่ปลูกยางพารา ทำให้การจัดหาและจัดเก็บไม้ท่อนเพื่อนำไปผลิตเป็นชิ้นไม้สับ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำและมีกำลังการผลิตสินค้าได้จำนวนมาก เพราะเป็นโรงงานผลิตที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสากล
คุณพินิจ กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้ มีเป้าหมายรับซื้อและแปรรูปไม้ยางพารา ที่หมดอายุการกรีด เพื่อนำไปผลิตเป็นชิ้นไม้สับ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลมีค่าความร้อนสูงและความชื้นต่ำ ขนส่งสะดวก และลดมลพิษในอากาศ จำหน่ายให้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลเป็นหลัก
“ปัจจุบัน ชิ้นไม้สับ เป็นสินค้าขายดี ตลาดมีความต้องการสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล ผมวางแผนก่อสร้างโรงงานมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท เมื่อโรงงานเสร็จสมบูรณ์ ก็จะเร่งผลิตชิ้นไม้สับป้อนเข้าสู่ตลาดให้ได้ไวที่สุด” คุณพินิจ กล่าว
“งานวันยางพาราบึงกาฬ” เชื่อมโยงผู้ซื้อ
ขยายตลาดส่งออกยางไทยให้เข้มแข็ง
ที่ผ่านมา คุณพินิจ เป็นแกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬ จัดงานวันยางพาราบึงกาฬเป็นเวทีกลางในเจรจาเชื่อมสัมพันธ์ความร่วมมือทางการค้า แลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งด้านการผลิต การตลาด กับพันธมิตรหลายประเทศ เช่น จีน เวียดนาม รัสเซีย อินเดีย ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ เชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนเข้ามาลงทุนในไทย โดยเสนอผลประโยชน์ และสร้างอนาคตร่วมกัน หวังเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศให้ได้ในลักษณะก้าวกระโดด
คุณพินิจ กล่าวว่า ผู้ค้ายางของจีน สนใจมาตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราในภาคตะวันออกของไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนอินเดีย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของอินเดียเติบโตดี ประชาชนมีกำลังซื้อรถยนต์มากขึ้น บริษัทผู้นำเข้าของอินเดียจึงหันมาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ยางจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เวียดนาม ก็สนใจสั่งซื้อหมอนยางพาราจากไทยมากขึ้น เพราะหมอนยางพาราของไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในตลาดเวียดนามอย่างแพร่หลาย เพราะหมอนยางพาราของไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน ราคาไม่แพง นอกจากนี้ ไทยจะมีโอกาสขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ในหลายประเทศของทวีปแอฟริกา เนื่องจากมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ทำให้ประชาชนมีความต้องการใช้รถยนต์มากขึ้น” คุณพินิจ กล่าว
กิจกรรมไฮไลต์ “งานวันยางพาราบึงกาฬ”
จังหวัดบึงกาฬ เตรียมจัดงาน “วันยางพาราบึงกาฬ” อย่างยิ่งใหญ่ ส่งท้ายปลายปีนี้ ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทั้งกิจกรรมประกวดแข่งขันการกรีดยาง เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการปลูกดูแลสวนยางพาราอย่างยั่งยืน การแปรรูป และด้านการตลาด ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพาราให้ได้คุณภาพดีและมีต้นทุนต่ำ
คุณพินิจ มีความภาคภูมิใจที่มีความร่วมมือในการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬมาอย่างต่อเนื่อง เพราะงานวันยางพาราบึงกาฬ มีคุณูปการต่อวงการยางพาราของไทยในหลายด้าน ประการแรก ช่วยเผยแพร่องค์ความรู้ให้พี่น้องเกษตรกรเกิดความเข้าใจเรื่องการผลิตและแปรรูปยางพาราแบบครบวงจร ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ช่วยยกระดับการผลิตยางพาราของไทยให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ พร้อมที่จะแข่งขันในเวทีตลาดโลก
ประการที่สอง ช่วยยกระดับการผลิตยางพาราของไทยให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เป็นเกษตรกรเป็นผู้ผลิตที่เรียกว่า “ต้นน้ำ” ก็พัฒนาเป็นผู้ประกอบการ “กลางน้ำ” มากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด ที่เจาะตลาดส่งออกยางแท่งไปจีนได้สำเร็จ
ก็มีจุดเริ่มต้นจาก ผู้ใหญ่ประชา ทรัพย์พิพัฒนา ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด ใช้งานวันยางพาราบึงกาฬเป็นเวทีเจรจาขายยางแท่งกับกลุ่มรับเบอร์ วัลเล่ย์ จากเมืองชิงเต่า ประเทศจีน
ประการต่อมา การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ ได้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการยางพาราของไทย เช่น โชว์นวัตกรรมสนามเด็กเล่นจากยางพารา นวัตกรรมการสร้างถนนยางพารา ที่มีความทนทานสูง แต่ใช้ต้นทุนต่ำ ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหันมาสนใจลงทุนแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่ายางพาราเพิ่มมากขึ้น
สำหรับกิจกรรมไฮไลต์ของการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬในช่วงปลายปีนี้ เตรียมโชว์นวัตกรรมการก่อสร้างสนามฟุตซอลจากยางพารา และผู้ค้ายางจากเมืองยูนนาน นครคุนหมิง เตรียมนำเสนอนวัตกรรมเครื่องกรีดยางรุ่นใหม่ ทำงานด้วยระบบมอเตอร์ โดยอาศัยแรงคนกรีดยางตามปกติ แต่กรีดยางได้เร็วกว่าเดิม แถมได้หน้ายางเรียบ ช่วยยืดอายุการกรีดต้นยางได้ยาวนานขึ้น โดยทั่วไปแรงงานที่ใช้มีดกรีดยางทั่วไป จะกรีดยางได้ 700-800 ต้น/คน/วัน แต่นวัตกรรมชิ้นนี้จะทำให้กรีดยางได้มากกว่าเดิม เฉลี่ย 1,000 ต้น/คน/วัน
ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้ คงมีพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราหลายคนรู้สึกอึดอัด เพราะตัวเลขรายได้จากการขายยางหายไปเยอะ จนน่าใจหาย จะนั่งรอเวลาให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออยู่ไม่ได้ ต้องรู้จักพึ่งพาตัวเอง ต้องพยายามดิ้นรนไปสู่การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่ายางพาราในท้องถิ่นให้ได้ จะเป็นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดไหนก็ได้ ขอให้มีตลาดรองรับและขายได้ อยากเป็นกำลังใจให้เพื่อนเกษตรกรก้าวไปถึงจุดเป้าหมายดังกล่าว แม้แต่ตัวคุณพินิจเองยังดิ้นรนลงทุนสร้างโรงงานผลิตน้ำยางข้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการขายยางเช่นเดียวกัน
“ผมขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรชาวยางทั่วประเทศ ให้เข้าร่วมชมงานวันยางพาราบึงกาฬในช่วงปลายปีนี้ เพราะทุกวันนี้ งานวันยางพาราบึงกาฬ กลายเป็น “ฮับยางพารา” เป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการยางพาราแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ เป็นเวทีเจรจาการค้ายางพาราในระดับนานาชาติไปแล้ว ภายในงานเกษตรกรจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและแปรรูปยางพารา เพื่อสร้างรายได้เพิ่มในอนาคต ที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราหลายแห่งประสบความสำเร็จทางตลาด เพราะใช้งานวันยางพาราบึงกาฬเป็นเวทีเปิดการเจรจาส่งออกยางพาราไปขายจีน อินเดีย จนมีก้อนโตก็มาจากการเข้าร่วมกิจกรรมวันยางพาราบึงกาฬนั่นเอง” คุณพินิจ กล่าวในที่สุด
งานวันยางพาราบึงกาฬที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับว่ามีบทบาทสำคัญให้ทุกภาคส่วนเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ ที่ช่วยสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นลำดับต้นๆ และช่วยส่งเสริมอาชีพการทำสวนยางพารา ช่วยพลิกฟื้นกิจการสวนยางพาราของจังหวัดบึงกาฬและอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน