เทคนิคการผลิต “กล้วยไข่คุณภาพ” เพื่อการส่งออก

กล้วยไข่นับเป็นผลไม้ที่มีศักยภาพทางการตลาดสูงทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน กล้วยไข่ของไทยกำลังได้รับความนิยมสูงในจีน ไม่ว่าจะเป็นมณฑลเสฉวน มหานครฉงชิ่ง นครเซี่ยงไฮ้  ปักกิ่ง กวางโจว มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู  และมณฑลอันฮุย ซึ่งความต้องการของผู้บริโภคมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์จากกล้วยไข่และกล้วยชนิดต่างๆ อาทิ กล้วยฉาบ กล้วยตาก และกล้วยอบน้ำผึ้ง ก็เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวจีนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย คาดว่า โอกาสทางการตลาดจะขยายตัวสูงขึ้นเช่นกัน

กล้วยไข่ไทยมีจุดแข็ง คือ มีรสชาติดี หวานนุ่มลิ้น และมีกลิ่นหอม ทั้งยังมีคุณค่าทางอาหารสูง โดยในกล้วยไข่ 100 กรัม มีสารเบต้าเเคโรทีน จำนวน 492 มิลลิกรัม  ซึ่งสารชนิดดังกล่าวเป็นสารต้านอนุมูลอิสระหรือแอนตี้ออกซิแดนซ์ (Antioxidants) ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และชะลอความความแก่ด้วย ทำให้กล้วยไข่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ แต่กล้วยไข่ก็มีจุดอ่อน คือ มีเปลือกบาง เกิดตำหนิได้ง่าย ทำให้ผลผลิตสูญเสียค่อนข้างสูง ถือเป็นปัญหาสำคัญของการส่งออก

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ ประมาณ 74,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออก ได้ผลผลิตรวมปีละกว่า 170,000 ตัน โดยมีผลผลิตที่ได้มาตรฐานส่งออก 60-70 % ส่วนที่เหลือเป็นผลผลิตตกเกรด ซึ่งเกษตรกรจะขายได้ราคาต่ำกว่าผลผลิตที่ได้มาตรฐาน 8-10 เท่า สาเหตุที่ทำให้ผลผลิตตกเกรดมีหลายอย่าง อาทิ ผิวผลมีตำหนิ 15-30 % โรคและแมลงศัตรูพืช 5-20 % ขนาดหวีเล็ก 5-10 % อายุเก็บเกี่ยวแก่หรืออ่อนเกินไป 5-10 % นอกจากนี้ ขั้นตอนการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการจัดการของโรงคัดบรรจุยังไม่เหมาะสมด้วย

เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกต้องให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพสินค้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงขั้นตอนกรรมวิธีผลิตที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน ทั้งยังต้องพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเพื่อการส่งออกให้มีความสวยงามทันสมัย เพื่อดึงดูดใจลูกค้า ที่สำคัญต้องมีชื่อสินค้า ตลอดจนคำอธิบายคุณค่าทางโภชนาการและวิธีบริโภคเป็นภาษาจีน และต้องระบุวันเดือนปีที่ผลิตกำกับไว้ด้วย จะช่วยให้สินค้ากล้วยไข่และผลิตภัณฑ์จากกล้วยของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดจีน และสามารถรุกเข้าสู่ตลาดใหญ่อย่างจีนที่มีกำลังซื้อได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

นายทวีศักดิ์ แสงอุดม สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การผลิตกล้วยไข่ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น เกษตรกรควรจัดการการผลิตตามมาตรฐานจีเอพี (GAP) โดยก่อนปลูกควรเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจวิเคราะห์และปรับปรุงดินให้เหมาะสม กรณีปลูกกล้วยไข่เป็นพืชเดี่ยว ควรปลูกในอัตรา 400 ต้น/ไร่ หากปลูกเป็นพืชแซมในสวนผลไม้ไม่ควรต่ำกว่า 250 ต้น/ไร่ นอกจากนี้ ควรเลือกหน่อกล้วยที่สมบูรณ์และขนาดหน่อสม่ำเสมอ สำหรับการให้ปุ๋ย เกษตรกรควรให้ปุ๋ยพร้อมระบบน้ำซึ่งจะมีความสม่ำเสมอและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปุ๋ยของพืชมากกว่าการให้ปุ๋ยทางดินถึง 10-50 % ทั้งยังช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพปริมาณมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

กรณีใส่ปุ๋ยเม็ดแนะนำให้ใส่ปุ๋ยเพื่อการเจริญทางลำต้น 3 ส่วน คือ ใส่ปุ๋ยครั้งแรกหลังปลูก 1-2 เดือน ครั้งที่ 2 หลังปลูก 3-4 เดือน ครั้งที่ 3 หลังปลูก 5-6 เดือน และครั้งสุดท้าย คือ ระยะการให้ผลผลิต ประมาณ 7 เดือนหลังปลูก โดยให้ปุ๋ยไนโตรเจน 85 กรัม/ต้น ฟอสฟอรัส 50 กรัม/ต้น และโพแทสเซียม 270 กรัม/ต้น

หลังปลูก 3-4 เดือน กล้วยจะแตกหน่อขึ้นมา เกษตรกรต้องตัดหน่อที่ขึ้นใหม่ออกเหลือไว้เฉพาะต้นแม่จนกระทั่งกล้วยเริ่มแทงปลีให้ไว้หน่อ 1 หน่อโดยเลือกหน่อที่สมบูรณ์ที่สุด นอกจากนั้น เกษตรกรต้องหมั่นตรวจแปลงเพื่อสำรวจโรคในระยะการเจริญเติบโตของกล้วย ได้แก่ โรคใบจุดซิกาโตก้าสีเหลือง ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Pseudocerospora musae สามารถป้องกันได้โดยตัดใบที่เป็นโรคออกแล้วนำไปเผาทำลาย และพ่นด้วยสารคมีป้องกันเชื้อรา เช่น สารคาร์เบนดาซิม เป็นต้น

ขณะเดียวกันควรมีการควบคุมเพลี้ยไฟที่เข้าทำลายผิวผลตั้งแต่ระยะออกปลี ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณกาบปลีทำให้เกิดอาการด่างลาย และดูดกินน้ำเลี้ยงผลอ่อน ทำให้ผิวผลเสียหายโดยอาการจะปรากฏชัดเมื่อผลโตขึ้นมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล ทำให้ผลตกเกรด เกษตรกรสามารถป้องกันได้โดยพ่นด้วยสารอิมิดาคลอพริด 3 ครั้ง ตั้งแต่ระยะกาบปลีเริ่มบานและห่างกันทุก 7 วัน

หลังปลีบานสุดให้ทำการตัดปลีและควรตัดผลของหวีตีนเต่า (หวีที่อยู่ล่างสุดของเครือ) เหลือไว้ 1 ผลเพื่อช่วยเพิ่มขนาดผลของหวีที่เหลือ และป้องกันก้านเครือแห้งและเน่า จากนั้นควรห่อเครือกล้วยเพื่อให้ผิวผลสวยและป้องกันแมลงเข้าทำลาย เกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการเก็บเกี่ยวผลผลิต

โดยกล้วยไข่ที่จะส่งออกควรเก็บเกี่ยวที่ความสุกแก่ ประมาณ 70-80 % หรือหลังตัดปลี ประมาณ 33-45 วันขึ้นกับฤดูกาล โดยช่วงฤดูฝนเก็บเกี่ยวประมาณ 33-37 วัน ฤดูร้อน 37-40 วัน และฤดูหนาว 40-45 วัน ทั้งนี้ ควรสังเกตเหลี่ยมของผลร่วมด้วย และการขนส่งกล้วยไปยังโรงคัดบรรจุต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันการเสียดสีและทำให้ผิวผลช้ำระหว่างการขนส่ง

การจัดการที่ไม่เหมาะสมบางประการ ณ ล้งรับซื้อหรือจุดรวบรวมผลผลิต เช่น ภาชนะที่ใช้ล้างกล้วยมีขนาดเล็ก จะทำให้ผิวผลเกิดการช้ำได้ ขณะเดียวกันการใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราสำหรับจุ่มหวีกล้วยในอัตราที่ไม่เหมาะสม อาทิ สารคาร์เบนดาซิม อาจทำให้เกิดปัญหาสารตกค้างปนเปื้อนในกล้วยไข่ได้

ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นใช้สารเคมีอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เป็นแนวทางที่จะทำให้ได้ผลผลิตกล้วยไข่คุณภาพปริมาณมากขึ้น ซึ่งจะไม่เกิดปัญหาการกักกันสินค้าที่ประเทศนำเข้าปลายทาง จะทำให้การค้าและส่งออกกล้วยไข่เป็นไปอย่างคล่องตัว และกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคในต่างประเทศได้รวดเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากสนใจเทคนิคการผลิตกล้วยไข่คุณภาพเพื่อการส่งออก สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-0583, 0-2579-9545 หรือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8