วว. จับมือ TCELS จัดสัมมนาวิชาการ “การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ตามหลักเกณฑ์ OECD GLP ในประเทศไทย”

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมสมุนไพร  (สนส.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ร่วมกันพัฒนางานทางวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาประเทศสนองนโยบายรัฐ ยกระดับมาตรฐานการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นระบบการทดสอบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย  รองรับผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ออกสู่ตลาดโลกอย่างมั่นใจ เป็นที่ยอมรับด้านความปลอดภัยระดับโลก

จากความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานการทดสอบความปลอดภัยในการรับรองผลิตภัณฑ์ตามหลักเกณฑ์ OECD GLP ในประเทศไทย เนื่องจากทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานความปลอดภัยในการรับรองผลิตภัณฑ์สุขภาพในยุคการค้าเสรีที่มาตรฐานต้องเป็นไปตามหลักสากลที่ยอมรับร่วมกัน อีกทั้งเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภคและขจัดปัญหาการกีดกันทางการค้า (Non-Tariffs Barrier) ต่อสินค้าไทยที่ต้องการส่งไปขึ้นทะเบียนกับ อย. ในประเทศคู่ค้า รวมถึงคนไทยเองก็จะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีข้อมูลความปลอดภัยที่ผ่านการรับรองและการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ด้วย

ดังนั้น วว. และ TCELS จึงได้ร่วมกันดำเนินการจัดการอบรมทางวิชาการให้แก่ผู้ปฏิบัติการศึกษาวิจัยระดับก่อนคลินิก เภสัชกร นักพิษวิทยา นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ดูแลเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลอง นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปจากทั่วประเทศ ในหัวข้อ “OECD GLP Principles ; Toxicological Pathology in Nonclinical Safety Assessment in Compliance with GLP” เพื่อยกระดับความสามารถการปฏิบัติงานด้านจุลพยาธิวิทยา (Histology)  และพยาธิวิทยา (Pathology) โดยวิทยากรจากเกาหลีใต้ Dr. Boo Hyon Kang จากบริษัท Chemon Inc. ซึ่งเป็นบริษัทรับทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ระดับโลก ในการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ มาให้ความรู้และพัฒนาบุคลากร ต่องานศึกษาวิจัยระดับก่อนคลินิก (Nonclinical Safety Assessment) สร้างความสามารถหน่วยทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์และห้องปฏิบัติการตามหลักเกณฑ์ OECD GLP และพัฒนาศักยภาพ National OECD GLP Compliance Monitoring Authority (CMA) ของประเทศไทยอีกด้วย ระหว่างวันที่ 6-7 ธันวาคม 2561 ณ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี

นางสาวทวีพร เกตุอร่าม ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารเภสัชภัณฑ์และเซลล์บำบัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างหลากหลาย บนพื้นฐานการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำประเทศไทยหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และออกจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางให้ได้อนาคต อาศัยการนำงานด้านชีววิทยาศาสตร์มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบาย 1.เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 2. ลดความเหลื่อมล้ำ และ 3. ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้มั่นใจว่าโครงการยกระดับมาตรฐานการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ตามหลักเกณฑ์ OECD GLP ในประเทศไทย นั้น จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพในขั้นตอนการวิจัย ก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มาตรฐานออกสู่ตลาดได้จริง โดยมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รับรองความปลอดภัยของทุกผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระดับสากล

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ในฐานะประธานในพิธีเปิดการอบรมฯ กล่าวว่า ในนามของ วว. ขอขอบคุณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพงานวิจัยและงานทดสอบด้านพิษวิทยาในสัตว์ทดลองเพื่อมุ่งสู่หลักการของ OECD GLP โดยการอบรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินภายใต้โครงการดังกล่าว ทั้งนี้ วว. และ TCELS ต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในด้านพิษวิทยา/พยาธิวิทยา (Toxicological Pathology) ให้มีความรู้และความเข้าใจในหลักการที่เป็นระบบคุณภาพในระดับสากล ควบคู่ไปกับการยกระดับห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยาในประเทศไทย ให้มีศักยภาพทั้งการวิจัยและการทดสอบด้านพิษวิทยาในสัตว์ทดลองให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล คาดว่าความร่วมมือระหว่างทั้งสองหน่วยงาน จะสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานพิษวิทยา/พยาธิวิทยา รวมถึงเกิดห้องปฏิบัติพิษวิทยา/พยาธิวิทยาที่ได้มาตรฐานสากล รองรับความต้องการของผู้ประกอบการในประเทศได้ในอนาคตอันใกล้

นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมสมุนไพร (ศนส.) วว. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ศนส. ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่ผู้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ทั้งผลิตภัณฑ์     ยา เครื่องสำอาง และวัสดุทางการแพทย์ ขณะนี้จึงได้ดำเนินการยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยที่ไม่ได้ทำในมนุษย์ (non-clinical study) ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้ได้รับการรับรองตามหลักการ OECD GLP คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ ปี 2562 นับเป็นการเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยมาตรฐานการทดสอบที่มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการขึ้นทะเบียน ทั้งนี้หากประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยที่ได้รับการรับรองตามหลัก OECD GLP นั้นจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและลดค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังต่างประเทศ ตลอดจนช่วยให้เกิดขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน