ถั่วลิสงผิวดำ คุณค่าทางอาหารสูง ในประเทศไทยก็ปลูกได้

ถั่วลิสง เป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้ พ่อค้าชาวโปรตุเกสได้นำถั่วลิสงเข้ามาในจีน เมื่อศตวรรษที่17 หลังจากนั้นคณะหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันได้นำถั่วลิสงสายพันธุ์ต่างๆ เข้ามาอีกในศตวรรษที่ 19  

ถั่วลิสง ที่ยังไม่กะเทาะเปลือกส่วนใหญ่มีสีเปลือกฝักสีน้ำตาลอ่อน ไม่พบเปลือกฝักถั่วลิสงเป็นสีอื่น เช่น สีแดง สีดำ เป็นต้น สำหรับถั่วลิสงผิวดำแล้ว จึงไม่ใช่ถั่วลิสงที่มีฝักสีดำ ส่วนที่เป็นสีดำอยู่ที่เยื่อหุ้มเมล็ด โดยทั่วไปแล้วเยื่อหุ้มเมล็ดของถั่วลิสงที่พบมักเป็นสีน้ำตาลอ่อน สีแดง สีชมพู หรือสีขาวและเป็นลายแต้ม เช่น พันธุ์ไทนาน 9 มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพู พันธุ์ลำปางเยื่อหุ้มเมล็ดมีสีชมพู พันธุ์ขอนแก่น 60-3 เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพูและส้มอ่อน พันธุ์สุโขทัย 38 เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง เป็นต้น

ทดลองปลูกในไทย

ถั่วลิสงผิวดำ (black peanuts) หรือเรียกอีกชื่อว่า “selenium-rich black peanuts” ถั่วลิสงผิวดำนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นถั่วที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีดำทั้งหมด แต่มีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีม่วงเข้มหรือสีม่วงดำ มองเหมือนสีดำมากกว่า จึงเรียกเป็นถั่วลิสงผิวดำแทนที่จะเรียกถั่วลิสงเยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วง หรือถั่วลิสงสีม่วง

 

ประโยชน์และคุณค่า ทางอาหารของถั่วลิสงผิวดำ

มีรายงานของสถาบันโภชนาการในจีนแห่งหนึ่งรายงานว่า ถั่วลิสงผิวดำ มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนสูงถึง 30.68% สูงกว่าถั่วลิสงสีอื่นทั่วไป 5% โดยมีกรดอะมิโน 18 ชนิด ที่ร่างกายต้องการอยู่ประมาณ 27.57% และมีกรดอะมิโนในปริมาณที่สูงและสูงกว่าข้าวโพดสีดำ 215.69% พบวิตามิน 8 ชนิด เช่น บี1 บี2 และ บี6 มีวิตามินอีสูงกว่าถั่วลิสงทั่วไป ทั้งยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุอีก 26 ชนิด ที่เป็นประโยชน์ เช่น ซีลีเนียม แคลเซียม โพแทสเซียม ทองแดง สังกระสี แมงกานีส เป็นต้น

(ซ้าย) เฮยจินกัง (ขวา) ไถหนาน 16

ต้นกำเนิดสีม่วงดำในเยื่อหุ้มเมล็ดก็เพราะเยื่อหุ้มเมล็ดมีสารแอนโทไซยานินที่ละลายน้ำได้ (water-soluble anthocyanin) อยู่มาก เม็ดสีจะละลายได้ในน้ำเย็นภายใน 1 นาที ถ้าในน้ำร้อนจะแค่ 2-3 วินาที สารสกัดแอนโทไซยานินมีสมบัติเป็นโภชนะเภสัช (nutraceutical) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ(antioxidant) ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ยับยั้งไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อน ชะลอความเสื่อมของดวงตา ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์อีโคไล (Escherichia coli) ในระบบทางเดินอาหาร ช่วยป้องกันผนังหลอดเลือดหรือโรคเส้นเลือด เพิ่มการหมุนเวียนของโลหิต ช่วยชะลอการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) มีเปอร์เซ็นต์การออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Radical Scavenging) 50 เท่า มากกว่าวิตามินอี

นิยมมากในไต้หวัน

ถั่วลิสงผิวดำ ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก เนื่องจากมีประโยชน์ ประกอบด้วยคุณค่าทางอาหารหลายอย่าง โดยเฉพาะมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มาก ดังนั้น ถั่วลิสงผิวดำ จึงถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหารว่าง ขนมขบเคี้ยว และเป็นอาหารอื่นๆ ได้อีกหลายชนิด เมื่อนำเมล็ดถั่วลิสงผิวดำแช่ในน้ำร้อน 3 นาที น้ำในแก้วจะกลายเป็นสีม่วง ดื่มแทนน้ำชาเพื่อบำรุงสุขภาพ กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ เนื่องจากถั่วลิสงผิวดำมีราคาสูงกว่า จึงมีการย้อมสีถั่วลิสงทั่วไปให้เป็นสีดำ ซึ่งสีดำจะซึมเข้าไปในเนื้อถั่ว ทำให้ถั่วมีสีดำไปด้วย ถั่วลิสงเยื่อหุ้มเมล็ดสีดำนั้นจะเกิดเป็นสีม่วงเข้มเฉพาะเยื่อหุ้มเมล็ด เมื่อลอกผิวออกแล้วสีเหมือนถั่วลิสงทั่วไป เนื้อถั่วไม่ได้เป็นสีดำ เปลือกฝักถั่วเหมือนถั่วลิสงทั่วไปเช่นกัน

 

ถั่วลิสงผิวดำไต้หวัน

ถั่วลิสงผิวดำ หรือ ถั่วลิสงเยื่อหุ้มเมล็ดสีดำ (เฮย ฮวา เชิง黑花生) ได้รับการคัดเลือกสายพันธุ์มาจากเมล็ดที่มีผิวหุ้มเมล็ดสีม่วงเข้ม เริ่มมีการเพาะปลูกกันในปี พ.ศ. 2543 มีแหล่งกำเนิดที่เมืองอวิ๋หลิน (Yunlin : มักอ่านว่า  หยุนหลิน) ของไต้หวัน 关于黑花生的由来,众说纷纭,但是一些资料报道,估计是河北省农科院马占元教授引进和培育的,而不是很多人谬传的转基因食品。ถั่วลิสงผิวดำที่เกษตรกรไต้หวันปลูกกันมีสายพันธุ์เฮยจินกัง กับสายพันธุ์ไถหนาน 16

ซ้ายอ่อน กลางระยะพอดี ขวาปล่อยจนแก่เกิน

ถั่วลิสงผิวดำสายพันธุ์เฮยจินกังที่รู้จักในนาม ถั่วลิสงคิงคองดำ, ถั่วลิสงดำ, ถั่วลิสงเพชรดำ เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกกันมาก่อน มีเปลือกขรุขระเป็นร่องลึก ผิวเยื่อหุ้มเมล็ดมีสีดำเหมือนถ่าน ที่เรียกว่า คิงคองดำ ก็เพราะหมายถึง ความแข็งแรงเหมือนคิงคอง เนื่องจากเปลือกของมันมีความแข็ง ถั่วลิสงสายพันธุ์เฮยจินกังมีปริมาณน้ำมันต่ำ แต่รสชาติอร่อยมาก หวานมันกรอบ มีกลิ่นหอม เป็นที่ชื่นชอบจากผู้บริโภคอย่างมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ถั่วอบแห้งทั้งฝัก ราคาแพงกว่าถั่วลิสงสีอื่นทั่วไป

ถั่วลิสงผิวดำสายพันธุ์ไถหนาน 16 ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จากสถานีส่งเสริมและวิจัยการเกษตรไถหนาน (Tainan District Agricultural Research and Extension Station) เมืองไถหนาน เมื่อปี พ.ศ. 2553 มีเยื่อหุ้มสีดำ ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์เฮยจินกังถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ไถหนาน 16 มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ไถหนาน 16 เป็นถั่วValencia type ลำต้นสูงประมาณ 46 เซนติเมตร ลำต้นไม่ล้มง่าย เหมาะกับการใช้รถเกี่ยว ฝักและเมล็ดมีขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์เฮยจินกัง เมล็ดมีระยะพักตัวสั้น

 

แหล่งเพาะปลูกถั่วลิสงดำที่ไต้หวัน

ถั่วลิสงผิวดำ เพาะปลูกกันมากในพื้นที่เมืองอวิ๋หลิน (Yunlin), ที่จังฮว่า (Changhua) และที่เจี่ยยี (Chiayi) พื้นที่ปลูกประมาณ 1,200 เฮกตาร์ ผลผลิตประมาณ 3,600 ตัน เฉพาะที่เมืองอวิ๋หลินมีพื้นที่ปลูก ประมาณ 70เปอร์เซ็นต์ อยู่ทางตอนใต้ของเกาะ

การพิสูจน์เป็นถั่วลิสงผิวดำหรือเป็นถั่วลิสงดำย้อมสี  

การพิสูจน์ว่าจะเป็นถั่วลิสงผิวดำจริงหรือไม่ ให้ลองทำ ดังนี้

  1. ขยี้เมล็ดถั่วแรงๆ ในน้ำ สีจะไม่ติดมือ
  2. ผิวหุ้มที่เป็นสีดำเมื่อลอกผิวหุ้มออก เนื้อสีเป็นปกติ มีสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน และเมื่อผ่าหรือแกะเมล็ดถั่วออก เนื้อจะเป็นสีขาวชัดเจน
  3. นำเมล็ดถั่วละลายในน้ำ บีบมะนาวหรือเยาะน้ำส้มสายชูใส่ในน้ำที่ละลายแอนโทไซยานิน น้ำจะเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีชมพู เมื่อแอนโทไซยานินถูกกรดจะกลายเป็นสีแดง
ส่วนหนึ่งได้คุณภาพดี

หลายคนเกิดความสงสัย จึงมีคำถามตามมาว่า “ถั่วลิสงผิวดำ ใช่พืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือไม่” คำตอบที่ยืนยันก็คือ

  1. ถั่วลิสงผิวดำ ไม่ใช่พืชดัดแปลงพันธุกรรม พืชที่นิยมบริโภคจะไม่ใช่พืชดัดแปลงพันธุกรรมแน่นอน
  2. ผิวสีดำ เกิดจากยีนที่ให้กำเนิดเม็ดสีเอง ไม่ต่างจากสีดำม่วงของข้าวเหนียวดำ

 

พันธุ์ถั่วลิสงไต้หวันที่ปลูกในประเทศไทย

เกษตรกรไทยรู้จักและเพาะปลูกถั่วลิสงจากไต้หวันมานาน เป็นถั่วลิสงพันธุ์ไถหนาน (ไทนาน) 9 ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จากสถานีส่งเสริมและวิจัยการเกษตรไถหนาน (Tainan District Agricultural Research and Extension Station) เมื่อปี พ.ศ. 2509 ใน ปี พ.ศ. 2515 นำเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงพันธุ์ไถหนาน (ไทนาน) 9 เข้ามาในประเทศไทย จากนั้น ปี พ.ศ. 2529 ถั่วลิสงพันธุ์ไถหนาน (ไทนาน) 11 จึงออกสู่แปลงของเกษตรกร ปี พ.ศ. 2541 ถั่วลิสงพันธุ์ไถหนาน (ไทนาน) 13 เริ่มมีมา จนพัฒนามาถึงถั่วลิสงพันธุ์ไถหนาน (ไทนาน) 14 แต่สำหรับถั่วลิสงพันธุ์ไถหนาน 16 หรือถั่วลิสงผิวดำแล้ว ยังพบกันน้อยไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายในบ้านเรา

(ซ้าย) เฮยจินกัง (ขวา) ไถหนาน 16

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของถั่วลิสงผิวดำ   

ลำต้นถั่วลิสง มีลำต้นแบบ Valencia type ปกติมีลำต้นสูง ตั้งแต่ 15-70 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-0.8 เซนติเมตร จากการสังเกต (ผู้เขียน) เมื่อปล่อยให้ลำต้นทอดเลื้อยยาวไปตามผิวดิน วัดความยาวของลำต้นได้ 120  เซนติเมตร มีขนเกิดขึ้นตามลำต้น กิ่งก้านใบ หูใบ ใบประดับ ริ้วประดับ และกลีบรองดอก มีทั้งกิ่งที่ตั้งขึ้นและที่ทอดยาวปลายยอดตั้งขึ้น จะเจริญเติบโตตามแนวนอนทอดไปตามพื้นผิวดิน มีลักษณะเป็นพุ่มเลื้อยเตี้ย ลำต้นเมื่อเริ่มแก่ส่วนที่โดนแดดมีสีม่วงอ่อน

ต้นยาว

ใบถั่วลิสง เมื่อเริ่มงอก ใต้ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลจางๆ มีใบเป็นใบรวม ใบเกิดสลับกันอยู่บนข้อลำต้นหลัก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก แต่ละชุดใบมีใบย่อย 2 คู่ แบบ pinnate ออกตามข้อ ข้อละก้านใบอยู่ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปยาวรี ใบปลายใบมน มีขนาดกว้างประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร ขอบใบมีขนอยู่โดยรอบ ก้านใบรวมยาว 4-9 เซนติเมตร ที่โคนก้านใบรวมมีหูใบอยู่ 2 อัน มีขนาดใหญ่ ปลายแหลมคล้ายใบธง ยาวประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยจะสั้นมาก ที่โคนไม่มีหูใบ

ดอกถั่วลิสง ดอกจะเกิดจากมุมใบของลำต้นหรือกิ่ง บริเวณส่วนโคนของลำต้น ออกเป็นช่อ แต่ละช่อดอกจะทยอยบานทีละดอก ดอกมีขนาดเล็ก ดอกมีสีเหลืองส้ม เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกเป็นแบบผีเสื้อ กลีบดอกมี 5 กลีบ ประกอบด้วยกลีบดอกชั้นนอก 1 กลีบ ชั้นกลาง 2 กลีบ และชั้นในสุด 2 กลีบ ภายในกลีบดอกชั้นในสุด โคนกลีบดอกมีสีส้ม ส่วนก้านดอกจะสั้นมาก หลังจากดอกได้รับการผสมแล้ว จะพัฒนาเป็นรูปร่างยาวเป็นก้านยาวนี้มีปลายแข็ง เรียกว่า เข็ม (peg) แทงลงในดินเจริญเป็นฝักต่อไป

รากถั่วลิสง มีรากเป็นแบบระบบรากแก้ว มีราก 3 ชนิด เรียกรากแรกว่า รากแก้ว ส่วนรากที่แตกออกมาจากรากแก้วเรียกว่ารากแขนงและรากที่แตกออกมาจากรากแขนงคือ รากฝอย หรือรากขนอ่อน แต่มีน้อยมาก บางสายพันธุ์อาจจะไม่มีเลย มีปมเกิดขึ้นบนรากแก้วและรากแขนง ปมมีสีน้ำตาล ปมเหล่านี้เกิดจากแบคทีเรียพวกไรโซเบียม เข้าไปอาศัยอยู่ภายใน

 ฝักถั่วลิสง ฝักของถั่วลิสงเกิดอยู่ใต้ดิน ลักษณะการเกิดอาจจะแพร่กระจายตามข้อลำต้น เปลือกฝักมีลักษณะแข็งและเปราะ ฝักมีสีขาวนวลหรือสีน้ำตาลอ่อน เปลือกค่อนข้างหนาและขรุขระ เป็นร่องลายเส้นเด่นชัด เส้นปลายฝักจะงอยปากงุ้ม ฝักยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ถั่วลิสงต้นหนึ่งเมื่อถอนออกมามีฝักที่สมบูรณ์อยู่จำนวน 8-20 ฝัก

สีสวย

เมล็ดถั่วลิสง ฝักค่อนข้างเล็ก เมล็ดถั่วอยู่ในฝักหนึ่งมีประมาณ 1-4 เมล็ด ส่วนใหญ่มี 2-3 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างยาว เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีม่วงเข้มจัดเกือบดำ ฝักแก่เมล็ดมีสีม่วงเข้ม ฝักที่ยังอ่อนเมล็ดเป็นสีม่วงอ่อน ถัดจากเยื่อหุ้มเมล็ดจะพบใบเลี้ยงขนาดใหญ่และหนาประกบกัน 1 คู่ เปลือกบาง มี 2 เมล็ด ต่อฝัก เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 110-120 วัน  หากปล่อยฝักจนเลยระยะเวลาเก็บเกี่ยวเกิน 4 เดือน เมล็ดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จากนั้นเมล็ดจะงอกเอง

ผลผลิตปลูกในไทย