“เพาะกล้าไม้” ขายราคาหลักสิบ อาชีพที่น่าสนใจ ได้ทำงานที่บ้าน ไม่ต้องตระเวนขายเอง มีลูกค้ามาซื้อถึงสวน

อาชีพน่าสนใจอีกอย่างที่ชาวบ้านเหล่าโพนค้อ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร นิยมกันคือการทำสวนเพาะกล้าไม้ขาย โดยมีการทำกันเป็นจำนวนหลายครอบครัวทั่วทั้งหมู่บ้าน ส่งขายทั้งพื้นที่บริเวณจังหวัดใกล้เคียงและทั่วประเทศ ซึ่งว่ากันว่าที่นี่นับเป็นแหล่งเพาะ-ขายกล้าไม้ขนาดใหญ่อีกแห่งของประเทศ

คุณวีระชัย แสนธิจักร เป็นเจ้าของร้านเพาะ-ขายกล้าไม้ชื่อ “สวนแม่แตงพันธุ์ไม้” อยู่บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 6 ตำบลเหล่าโพนค้อ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร โดยสวนของเขาเพาะ-ขายกล้าไม้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผักหวาน ลิ้นฟ้า ไม้ป่า มะกรูด มะนาว พืชผักสวนครัวต่างๆ รวมถึงไม้ประดับบางชนิด

คุณวีระชัย แสนธิจักร
คุณวีระชัย แสนธิจักร

การออกหางานรับจ้างทั่วไปในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้คุณวีระชัยรู้สึกว่าไม่มั่นคง ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปราะบางเช่นนี้ดูเป็นเรื่องเสี่ยงต่อการหารายได้เลี้ยงปากท้องและครอบครัวเป็นอย่างมาก

การเพาะต้นกล้าไม้เป็นอาชีพที่ชาวบ้านตำบลเหล่าโพนค้อ หลายครอบครัวทำกันจนมีรายได้ดี อีกทั้งตลาดกล้าไม้กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น แล้วอาชีพนี้ยังไม่ต้องออกไปตระเวนขาย เพราะมีคนมารับซื้อเองที่สวน ขณะเดียวกัน ภรรยาเคยไปทำงานคลุกคลีกับสวนพันธุ์ไม้ จึงพอมีความรู้ความชำนาญด้านการเพาะพันธุ์ไม้

ด้วยเหตุผลทั้งหมดจึงทำให้ชายผู้นี้ตัดสินใจกลับถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อมาเริ่มต้นอาชีพใหม่กับภรรยา พร้อมกับตั้งใจว่าจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว

ภายในสวนแม่แตงพันธุ์ไม้ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 4 ไร่ จัดแบ่งต้นกล้าไม้ออกเป็นกลุ่ม แบ่งแยกเป็นโซน ไม่ว่าจะเป็นโซนผักหวาน พืชสวนครัว ไม้ป่า และไม้ประดับที่มีบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ มีต้นกล้าผักหวานหลายขนาดรวมกันกว่า 30,000 ต้น นอกจากนั้น เป็นพืชผักสวนครัวหลายชนิดรวมกันกว่าหมื่นต้น

คุณวีระชัย ย้อนอดีตถึงเมื่อคราวที่เริ่มตัดสินใจจากเงินกู้เพียงหมื่นบาทเพื่อลงทุนทำอาชีพนี้ แล้วนำไปซื้อวัสดุเพาะ ได้แก่ แกลบ ถุงเพาะสีดำ ปุ๋ย รวมถึงซื้อต้นกล้าพันธุ์ไม้ต่างๆ มาปลูก แล้วบางส่วนซื้อเมล็ดมาเพาะเอง

Advertisement
ต้นผักชี
ต้นผักชี
ต้นผักหวานขนาดกลาง
ต้นผักหวานขนาดกลาง
ต้นลิ้นฟ้า มีฝักขาย 10 บาท
ต้นลิ้นฟ้า มีฝักขาย 10 บาท

“ช่วงเริ่มต้นเพาะต้นมะกรูด มะนาว ตามด้วยพริก มะเขือ และผักสวนครัวอีกหลายชนิด ต่อมาได้นำเมล็ดพันธุ์ผักหวานพันธุ์สีทองและผักหวานเขียวมาเพาะขายด้วย นอกจากนั้น ยังมีไม้ป่า อย่างประดู่ ไม้แดง ยางนา พะยูง”

วัสดุปลูกที่ใช้ประกอบด้วยแกลบดำ ดิน โดโลไมท์ ปูนขาว และปุ๋ยคอก ทั้งนี้ การผสมวัสดุเพื่อใช้ปลูกพืชแต่ละชนิดมีอัตราและส่วนประกอบต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของพืชชนิดนั้น พืชบางชนิดชอบดินโปร่ง แต่บางชนิดชอบดินทึบ ยกตัวอย่าง มะกรูดหรือมะนาว ถ้าใส่ดินน้อยและร่วนเกินไปก็ไม่ดี เพราะทำให้ความชื้นน้อย อีกทั้งยังเปลืองน้ำด้วย

Advertisement

คุณวีระชัย เล่าว่า ในช่วงแรกต้องลองผิด-ถูกอยู่นานกว่าจะลงตัว ก็เสียหายไปมาก อย่างตอนแรกที่ทำมะกรูดไว้จำนวน 60,000 ต้น ปลูกยังไม่คล่อง คงจะใส่ปุ๋ยมากเลยตายไปถึง 50,000 ต้น เหลือรอดเพียงหมื่นกว่าต้นเท่านั้น ดังนั้น ต้องหาความรู้และหมั่นสังเกตด้วยว่าพืชแต่ละอย่างชอบการปรุงดินแบบใดจึงจะทำให้เจริญเติบโตงอกงามดีแล้วมีคุณภาพสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้แนวทางการเพาะต้นกล้าของคุณวีระชัย อาจมีการยึดแนวทางตามหลักวิชาการอยู่บ้าง ทั้งนี้ เขาชี้ว่าการปลูกพืชในแต่ละพื้นที่ท้องถิ่นมีความละเอียดอ่อนต่างกัน จึงต้องมีการปรับสูตรปุ๋ยยาและการให้น้ำตามสภาพพื้นที่ปลูก แล้วใช้เวลานาน กว่าทุกอย่างจะลงตัว อย่างแกลบที่ใช้มีทั้งละเอียดและหยาบ ก็ต้องพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะกับพืช อย่างผักหวานชอบแกลบละเอียด

คุณวีระชัย เผยถึงเงินลงทุนที่ใช้มากที่สุดคือ ค่าเมล็ดพันธุ์และค่าปุ๋ยยา ซึ่งแต่ละครั้งจะลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ผักหวานคราวละ 1 ตัน ใช้เงินซื้อแสนบาท (1 กิโลกรัม ราคา 100 บาท) อันนี้ยังไม่รวมค่าถุง ค่าแรงในการกรอกอีก โดยค่าแรงในการกรอกถ้าเป็นถุงขนาดใหญ่ถุงละ 3 บาท ถ้าเป็นถุงเล็กคิดค่ากรอกร้อยละ 20 บาท

ปุ๋ยคอก
ปุ๋ยคอก

ส่วนปัญหาที่พบเขาชี้ว่า แมลงศัตรูสร้างปัญหามากที่สุดแล้วที่พบจะเป็นพวกปากกัดและปากดูด โดยแมลงปากกัดจะกำจัดง่าย แต่แมลงปากดูดกำจัดยาก ทั้งนี้ แมลงแต่ละชนิดจะเข้ามาทำลายพืชตลอดทั้งปี ในแต่ละช่วงฤดูกาล อย่างถ้าเป็นช่วงฝนมักพบแมลงปากกัดมาก ส่วนในหน้าหนาวมักเจอเพลี้ยไฟ โดยวิธีป้องกันใช้แบบธรรมชาติด้วยสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นใบยาสูบ ใบยูคาลิปตัส บอระเพ็ด นำมาผสมกันแล้วฉีดพ่นในทุกสัปดาห์

ในบรรดาพันธุ์ไม้ที่เพาะ เจ้าของสวนบอกว่าผักหวานเป็นไม้ที่ขายดีกว่าพืชตัวอื่น เนื่องจากได้รับความนิยมด้านการบริโภค ทั้งนี้ ได้มีการเพาะต้นกล้าผักหวานไว้หลายขนาดตามความต้องการของตลาด โดยกำหนดราคาตามขนาดถุงที่ใช้เพาะ ซึ่งเริ่มต้นเล็กที่มีราคา 5 บาท ไปจนถึงต้นขนาดกลางที่มีราคาขายหลักร้อย

ผักหวานต้นเล็ก
ผักหวานต้นเล็ก

กระทั่งเมื่อมีความชำนาญมากขึ้นจึงต่อยอดด้วยการเพิ่มขนาดต้นกล้าที่ขายให้มีขนาดใหญ่มีราคาหลักพันบาทเพื่อเป็นไปตามความต้องการของตลาด รวมถึงยังเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้นด้วย

“อย่างผักหวาน กลุ่มลูกค้าที่มาซื้อถ้าเป็นหมู่คณะที่นำไปใช้ในกิจกรรมมักเลือกซื้อราคาถุง 5 บาท หรือเป็นพ่อค้าที่มาไกลมักซื้อในราคาถุงละ 5 บาท เพราะเป็นขนาดเล็กที่สามารถบรรทุกใส่รถได้จำนวนต้นมาก แล้วไปเปลี่ยนเป็นถุงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มราคาขาย ส่วนถ้าเป็นกลุ่มชาวบ้านทั่วไปจะเลือกขนาดราคา 20-100 บาท”

a-8-%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%96%e0%b8%b8%e0%b8%87%e0%b8%a5%e0%b8%b0-5-%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%97-%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b8%a1 a-9-%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b9%81%e0%b8%9b%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b8%b4%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b9%81%e0%b8%9b%e0%b9%89 a-10-%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%9f%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%81%e0%b8%b2รูปแบบการขายจะอยู่ในสวนแล้วมีลูกค้ามาติดต่อซื้อ ทั้งนี้ ประเภทลูกค้ามีทั้งที่ซื้อแล้วนำไปขายต่อตามตลาดนัดหรือริมข้างทาง กับกลุ่มที่มาเลือกซื้อพันธุ์ไม้เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ

เจ้าของสวนชี้ว่าอย่างรถปิกอัพที่เข้ามาซื้อในแต่ละคราวถ้าเต็มรถ ประมาณหมื่นบาท ทั้งนี้ ถ้าวันไหนเข้ามาซื้อหลายคันก็โชคดี แต่ทั้งนี้อยู่ที่คุณภาพของต้นกล้าที่เพาะ ซึ่งถ้าเพาะได้ดีมีคุณภาพแล้วลูกค้าพอใจก็จะกลับมาซื้อกันอีก หรือกล้าไม้บางชนิดที่หายากแล้วลูกค้ามาเจอที่สวนก็มักจะกลับมาซื้อรวมถึงซื้อไม้อื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย

“ดังนั้น ในรอบปีช่วงเข้าพรรษาถือว่าการขายซบเซา ขายได้น้อย ยอดลดลง พอมาถึงช่วงออกพรรษาแล้วเข้าหน้าเทศกาลปลายปีจะคึกคัก เนื่องจากลูกค้าทุกกลุ่มมักซื้อต้นไม้ไปทำกิจกรรมต่างๆ กัน” คุณวีระชัย กล่าว

สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณวีระชัย โทรศัพท์ (083) 356-4737

……………………….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่