วอนเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยา-แม่กลอง เพาะปลูกพืชตามแผน ลดขาดแคลนน้ำ

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานในการประชุม ร่วมกับบุคลากรสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 , 4 , 10 , 11 , 12 , 13 และผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ลุ่มน้ำแม่กลอง (ครั้งที่ 1) ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ต่อเนื่องไปยังการเตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำต้นฤดูฝนหน้า ช่วงเดือน พ.ค. 62 สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,815 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 76 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 12,119 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำรวมกันประมาณ 47.70 ล้าน ลบ.ม./วัน เฉพาะเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำใช้การได้รวมกัน 10,799 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯ ระบายน้ำรวมกัน ประมาณ 42.92 ล้าน ลบ.ม./วัน

เนื่องจากประเทศไทยในปีนี้เข้าสู่ฤดูแล้งเร็ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ลดลงเร็วตามไปด้วย ประกอบกับช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่ไม่มากนัก ปริมาณน้ำต้นทุนสะสมจึงมีอยู่อย่างจำกัด กรมชลประทาน จึงดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสม โดยมีแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยารวม 8,000 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา 7,300 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง 700 ล้าน ลบ.ม. เข้ามาช่วยสนับสนุน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึง ปัจจุบัน (7 ธ.ค. 61) จัดสรรน้ำไปแล้ว 1,410 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 18 ของแผนฯ ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนมีเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตรต่อเนื่อง และสนับสนุนการปลูกข้าวนาปีตามแผนที่ได้วางไว้

การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ลุ่มน้ำแม่กลอง กรมชลประทาน ได้วางแผนการระบายน้ำลงสู่เจ้าพระยาตอนล่าง โดยใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ เพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปีและพืชที่ใช้น้ำน้อยอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งรณรงค์การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แทนการปลูกข้าวนาปรัง ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด การบริหารจัดการน้ำเพื่อควบคุมคุณภาพค่าความเค็มและการผลิตน้ำประปาที่สถานีวัดน้ำสำแลให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมจัดรอบเวรการสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและการใช้น้ำของอาคารเชื่อมต่อแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามข้อตกลงและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ลุ่มน้ำแม่กลอง ต่อเนื่องไปยังฤดูฝนหน้าได้อย่างยั่งยืน และไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต

ที่มา : มติชนออนไลน์