บ้านแพะต้นยางงาม หมู่บ้านท่องเที่ยวไตลื้อนวัตวิถี เมืองลำพูน

บ้านแพะต้นยางงาม หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีประชากรเป็นชนเผ่าไตลื้อ กลุ่มไตลื้อที่กระจายตัวกันอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เช่น ที่อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และที่อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน

จุดถ่ายภาพก่อนเข้าหมู่บ้าน
ต้นยางสูงใหญ่ เอกลักษณ์ของบ้านแพะ

คุณเกษม ปัญโญใหญ่ ผู้ใหญ่บ้าน เล่าให้ฟังว่า ชาวไตลื้อได้อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา บางกลุ่มได้หยุดก่อสร้างเป็นหมู่บ้านแต่ละพื้นที่ที่มีความเหมาะสม แต่กลุ่มชาวบ้านแพะได้เดินทางต่อจนถึงเขตพื้นที่อำเภอบ้านธิ เนื่องจากเป็นแหล่งพื้นที่ที่เหมาะสม มีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เป็นพื้นที่ดอนและมีพื้นที่ราบสำหรับปลูกข้าวใช้บริโภคในครัวเรือน

ด้วยความที่เป็นกลุ่มที่รักความสงบ ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย ด้วยวิถีชีวิตพอเพียง จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ในปี 2558 และด้วยการดำรงชีวิตของชาวไตลื้อที่อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี มีสิ่งดีๆ ในหมู่บ้านหลายสิ่งหลายอย่าง จึงได้รับการคัดเลือกจากกรมการพัฒนาชุมชน ให้เป็นหมู่บ้านโอท็อปนวัตวิถี

กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดทำโครงการชุมชนท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถี ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการรณรงค์กลุ่มบุคคลเป้าหมายเดินทางท่องเที่ยวในหมู่บ้านต่างๆ ที่มีความพร้อมให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ภายในหมู่บ้านมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น

พิธีบายศรีสู่ขวัญ…เป็นพิธีต้อนรับนักท่องเที่ยวอันดับแรกที่เข้าสู่หมู่บ้าน ตามประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมานานแล้ว เป็นการให้ขวัญและกำลังใจต่อผู้มาเยือน

บ้านพักแบบโฮมสเตย์…มีบ้านพักทั้งหมด 7 หลัง สภาพที่พักมีหลายรูปแบบ บ้านพักติดกับทุ่งนา บรรยากาศนาดำตามช่วงเวลา หากเป็นช่วงฤดูหนาวจะเห็นต้นข้าวเหลืองอร่ามทั่วท้องทุ่ง บ้านพักที่อยู่ติดกับพื้นที่ที่มีการปลูกพืชผัก นักท่องเที่ยวสามารถเดินไปร่วมเก็บพืชผักกับเจ้าของบ้าน มาปรุงอาหารรับประทานพร้อมกับครอบครัว

นักท่องเที่ยวในชุดไตลื้อ ฝึกหัดปักผ้าทอ
นักท่องเที่ยวฝีกหัดการทำกระสวยดอกไม้

การตัดตุง…เป็นการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมการตัดตุงหรือธง ที่ใช้ในประเพณีต่างๆ เช่น ตุงที่ใช้ในงานวันสงกรานต์ ประกอบการปักตุงที่กองทรายในงานประเพณีสงกรานต์ ตุงใช้ในงานมงคลต่างๆ เป็นการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษสู่รุ่นเยาวชน นักท่องเที่ยวจะได้รับการสอนและปฏิบัติด้วยตนเอง

การทำกระสวยดอกไม้…เป็นกระสวยทำจากใบตองกล้วย วิธีการพับให้เป็นรูปทรงแหลม เรียว โดยใบตองสวยงาม เพื่อใช้ในงานต่างๆ มากมาย ใช้นำไปไหว้พระ การขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นับเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมานาน

เครื่องจักสานจากไม้ไผ่…เพื่อใช้ตักน้ำจากบ่อน้ำ ที่มีมาแต่โบราณนับวันจะหายาก ปัจจุบัน ได้ถูกนำมาใช้ในการตกแต่งสถานที่ บรรจุไม้ดอกไม้ประดับ ทำเป็นโคมไฟฟ้า ฯลฯ ผู้สอนหรือวิทยากรยังมีอยู่ที่บ้านแพะต้นยางงาม

กล่องข้าวจากใบตาล
นักท่องเที่ยวฝึกหัดสานกล่องข้าวจากใบตาล

ทำกล่องข้าวจากใบตาล…ใช้บรรจุข้าวเหนียวที่สุกแล้วไปกินในไร่นา ข้าวจะมีความนุ่ม นิ่ม ไม่มีเชื้อรา รักษาความร้อนของข้าวได้นาน เมื่อใช้แล้วทำความสะอาดด้วยน้ำเท่านั้น ใช้วัสดุจากต้นตาลที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยนำใบตาลมาตากแห้งแล้วใช้ใบมีดตัดเป็นทางยาวรวบรวมไว้เป็นมัด นำแบบวางไว้ก่อนจึงนำใบตาลไปชุบน้ำให้อ่อนตัว นำมาเสียบตามรอยช่องว่างตามแบบนั้น นับเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาจาก คุณยายทวดจันทร์ฟอง ปัญโญใหญ่ นักท่องเที่ยวสามารถฝึกหัดทำได้ด้วยตนเอง

ทำขนมเทียนโบราณ…นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมนี้ได้ เป็นการทำขนมเทียน หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า ขนมจ๊อก ใช้เนื้อนอกจากแป้งพิเศษ เนื้อภายนอกจะเป็นสีใส จึงเรียกว่าขนมจ๊อกแก้ว ไส้ทำจากถั่วเหลือง มีความเอร็ดอร่อยมาก จะทำกันทุกบ้านในงานประเพณี บางรายทำขายเพื่อเป็นอาชีพด้วย

ผลิตภัณฑ์จากกะลา…โดยใช้วัตถุดิบจากกะลามะพร้าว ทำเป็นอุปกรณ์ในครัวเรือน เช่น ตะหลิว ช้อนกะลา ถ้วยกะลา ของฝากที่ระลึก ในหมู่บ้านยังมีผู้รู้ที่สามารถสอนให้นักท่องเที่ยวทำด้วยตนเองได้

น้ำทุ่งตักน้ำจากบ่อ
ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน พร้อมทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ

กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า…กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงานสำหรับแรงงานนอกระบบ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานอาชีพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และเทศบาลตำบลบ้านธิ นักท่องเที่ยวที่เป็นผู้หญิงจะชื่นชอบกิจกรรมนี้ โดยการนั่งปักทอลวดลายต่างๆ ที่ต้องการลงบนผืนผ้า โดยเฉพาะที่นิยมกันมากคือ ย่ามสะพายรูปแบบไตลื้อ

กิจกรรมขี่จักรยานท่องเที่ยว…จักรยาน นับเป็นพาหนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ไม่ต้องสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องมือออกกำลังกายราคาถูก ใช้ได้ตลอดจนถึงลูกหลาน ซ่อมแซมได้ง่าย

ที่บ้านแพะต้นยางงาม มีรถจักรยานแทบทุกบ้าน บ้านละ 1-2 คัน ใช้ปั่นไปซื้อของที่จำเป็นที่ตลาดทุกวัน ปั่นไปแวะเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้าน ช่วยลดมลภาวะในชุมชนอีกด้วย นับเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีไว้ประจำบ้านโฮมสเตย์

อุโบสถบ้านแพะ…เป็นอุโบสถที่สร้างขึ้นก่อนที่ต้นตระกูลของพี่น้องไตลื้อที่ได้อพยพมาจากสิบสองปันนา สถานที่แห่งนี้ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาของคณะสงฆ์และพี่น้องตำบลบ้านธิ ในวันเข้าพรรษาและประเพณีตานก๊วยสลาก ในวันออกพรรษาของทุกปี เพื่อแสดงความรำลึกถึงบรรพบุรุษญาติมิตรผู้ล่วงลับ

มีพื้นที่เป็นธรณีสงฆ์ จำนวน 25 ไร่ เพื่อสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ผู้ใหญ่บ้านแพะได้บริจาคพื้นที่รอบๆ บริเวณอุโบสถ ตกแต่งให้สวยงาม สร้างสะพานไม้ไผ่ยื่นออกไปกลางแปลงนา สร้างศาลาพักผ่อนและจุดถ่ายภาพ “เรารักบ้านธิ” บริเวณใช้เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลต่างๆ รวมถึงการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่สำคัญ

ไข่ป่าม อาหารพื้นบ้านที่เอร็ดอร่อย

อาหารพื้นบ้าน…นักท่องเที่ยวจะได้ชิมอาหารพื้นบ้าน ฝีมือของกลุ่มแม่บ้านบ้านแพะต้นยางงาม เช่น น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู แกงหัวปลี น้ำพริกอ่อง ปลาหลาม ผักนึ่งจิ้มน้ำพริก ไข่ป่าม คือไข่ที่ทอดลงบนใบตอง ไม่ใส่น้ำมัน จะมีกลิ่นหอมของใบตอง

ประธานกลุ่มแม่บ้านเล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจว่า เมื่อครั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมผลงานจังหวัดลำพูน ยังชื่นชมว่าเป็นอาหารพื้นบ้านที่เอร็ดอร่อยดี

การละเล่นพื้นบ้าน…สิ่งที่น่าชื่นชมยิ่ง คือการแสดงพื้นบ้านแบบดั้งเดิมของไตลื้อที่ถ่ายทอดกันมา แสดงได้ทั้งผู้ใหญ่และเยาวชน โดยมีผู้ที่คอยสนับสนุนออกแบบท่ารำ การแต่งกาย คือ คุณชาเด ฮั้น พื้นเดิมเป็นคนจากกรุงเทพฯ และได้ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่อำเภอบ้านธิ มีความชื่นชอบขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเผ่าไตลื้อ จึงอาสาสมัครช่วยงานทุกรูปแบบโดยไม่คิดมูลค่า สำหรับเพลงต้อนรับของชุมชนไตลื้อ ได้รับการสนับสนุนเนื้อร้องและทำนอง โดย อาจารย์ธีรวัฒน์ หมื่นทา

รูปแบบหนึ่งของที่นอนในบ้านพักโฮมสเตย์
สะพานเชื่อมต่อไปยังที่พักกลางทุ่งนา

บ้านแพะต้นยางงาม หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่กรมการพัฒนาชุมชนคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านโอท็อปนวัตวิถี มีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี อยู่ไม่ห่างไกลจากตัวจังหวัดมากนัก ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณเกษม ปัญโญใหญ่ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแพะต้นยางงาม โทร. 094-601-2740 หรือที่ คุณเอกอนงค์ อ่อนเกตุพล หรือ คุณต้อง พนักงานพัฒนาการชำนาญการฯ 089-757-0256

……………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม 2561