ไปดู สวนทุเรียนอินทรีย์ ปลอดสาร ที่ทองผาภูมิ

เมื่อเอ่ยถึงแหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพดี  มักจะคิดถึงทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด  เป็นหลัก  จนกระทั่ง ทีมงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรอำเภอทองผาภูมิ ได้นำทางเราไปสำรวจแหล่งปลูกทุเรียนคุณภาพดีในท้องถิ่น คือ  สวนทุเรียนน้าอำไพ ต.หินดาด  อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี  ผู้เขียนจึงขอขอบคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้

 สวนทุเรียนปลอดสารพิษ

คุณอำไพ สุขไกรรัตน์  เจ้าของ “สวนทุเรียนน้าอำไพ” บ้านเลขที่  22 / 12 หมู่ที่ 3 ตำบลหินดาด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี  เบอร์โทรศัพท์  089-9802931  น้าไพมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดอ่างทอง เคยทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาล อยู่ที่โรงพยาบาลเลิดสิน กทม.  ต่อมาน้าไพ ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง จึงได้ได้ลาออกจากงานเพื่อรักษาร่างกาย เมื่ออาการป่วยดีขึ้น น้าไพมีความคิดว่าอยากออกมาอยู่กับธรรมชาติ จึงย้ายมาพักอาศัยอยู่ที่สวนแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2550

สวนของน้าไพมีเนื้อที่ทั้งหมด  32 ไร่ ปลูกไม้ผลหลากหลายชนิดเช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ลิ้นจี่ อินทผาลัม มะกรูด มะนาว ส้มโอ ส้มเขียวหวาน กล้วย  โดยปลูกทุเรียนมากที่สุด  ไม้ผลส่วนใหญ่มีผลผลิตออกเพียงปีละครั้ง น้าไพจึงพืชทางเลือกอื่น ๆ  เช่นมะกรูดและกล้วย เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียน เพราะสามารถเก็บผลมะกรูดออกขายได้ทุกๆ  สามเดือน  ส่วนกล้วยก็มีผลผลิตออกขายได้เรื่อยๆ

แต่ละวัน น้าไพ จะตื่นแต่เช้าและเดินดูการเติบโตของต้นไม้ภายในสวน  ตรวจดูต้นทุเรียนว่าออกดอกเป็นยังไง ต้นไหนมีแมลงศัตรูพืชรบกวนบ้าง  ต้นไหนออกผลแล้วบ้าง  หากเจอต้นทุเรียนแตกใบอ่อน ก็จะตัดใบตัดยอดออกโดยใช้กรรไกรตัดกิ่งทันที  เพราะหากปล่อยให้ต้นทุเรียนแตกใบอ่อน ต้นทุเรียนจะไม่ออกดอก น้าไพจึงต้องคอยตัดแต่งกิ่งต้นทุเรียน  เพื่อให้ต้นทุเรียนมีตาดอกแทน

ทุเรียนในสวนแห่งนี้มีหลายพันธุ์ เช่น หมอนทอง ชะนี ก้านยาว พวงมณีและหลงลับแล น้าไพยืนยันว่า  ทุเรียนหมอนทองของที่นี่มีคุณภาพดีที่สุด  ส่วนใหญ่ จะมีผลผลิตในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงสิงหาคม พอทุเรียนเริ่มออกผลผลิตหมด ลองกอง มังคุดและเงาะก็เริ่มออกผลผลิตตามมา

 

ที่ผ่านมา  สวนทุเรียนน้าไพเคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดทุเรียนของอำเภอทองผาภูมิมาแล้ว  เมื่อถามถึงเคล็ดลับการปลูกและดูแลทุเรียนให้ได้ผลผลิตดี  น้าไพเล่าว่า  ต้องคอยดูแลต้นทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ ดูแลบำรุงรักษาและควรผลิตปุ๋ยชีวภาพขึ้นใช้เอง เพื่อลดต้นทุนและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีภายในสวน

น้าไพจะดูแลใส่ปุ๋ย ในช่วงหลังเก็บเกี่ยว หลังจากต้นทุเรียนเริ่มติดผล น้าไพก็จะใส่ปุ๋ยอีกรอบหนึ่ง เมื่อใส่ปุ๋ยช่วงหลังเก็บเกี่ยวแล้ว น้าไพก็จะตัดแต่งกิ่ง คอยดูว่ามี ใบเพสลาด ออกมาไหม ถ้ามีก็จะตัดออก ให้ชิดกิ่งเพื่อให้บริเวณที่ถูกตัด เติบโตเป็นตาดอกขึ้นมา

น้าไพยังบอกอีกว่า  ที่นี่ใส่ใจดูแลต้นทุเรียน เหมือนเป็นลูก เพราะต้นทุเรียนจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศ  โดยทั่วไปต้นทุเรียนจะออกดอกในช่วงอากาศเย็น หากอากาศไม่เย็นทุเรียนจะออกดอกไม่สม่ำเสมอ ปีนี้อากาศเย็นสลับฝน แถมฝนตกมาก ทำให้ดอกทุเรียนร่วงหมด แถมติดลูกไม่สม่ำเสมอ ผลผลิตหายไปเยอะ

สำหรับการดูแลสวน หากตรวจพบว่า ทุเรียนต้นไหนมีลูกดกมากถือว่าไม่ดี น้าไพจะคอยตัดผลออกเพื่อให้มีผลผลิตในอัตราที่เหมาะสม หากเป็นกิ่งขนาดเล็กก็จะไว้ผลสัก 3-4 ลูก ส่วนกิ่งใหญ่ไว้ผลประมาณสิบลูกขึ้นไป

น้าไพใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณในการกำจัดโรคและแมลง เช่น ข่า ตะไคร้ และพริกขี้หนูป่นหมักรวมกันแล้วก็ผสมมาฉีดขับไล่แมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะ แมลงเพลี้ยไก่แจ้ ที่มีจำนวนค่อนข้างเยอะ หากเจอหนอนเจาะลำต้น น้าไพจะใช้วิธีแคะหนอนออกจากลำต้น หากช่วงไหนทำงานไม่ทัน  หนอนก็จะเจาะลำต้นทุเรียนจนใบเหลืองหมด ทำให้ต้นทุเรียนยืนต้นตายในที่สุด ดังนั้นน้าไพต้องคอยตรวจสอบต้นทุเรียนอยู่เสมอ

นอกจากนี้ น้าไพต้องคอยระวังเรื่องปัญหาโรคโค่นเน่า  โดยเฉพาะช่วงที่มีฝนตกชุก เพราะต้นทุเรียนจะเสี่ยงเจอปัญหาโค่นเน่าได้ง่าย สำหรับช่วงหน้าแล้ง  น้าไพต้องคอยขึ้นน้ำให้ต้นทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ โดยสูบน้ำจากแม่น้ำขึ้นมารดต้นทุเรียนครั้งละประมาณ  30 นาที พอเมษายนฝนมา น้าไพจะหยุดขึ้นน้ำ  ซึ่งตรงกับจังหวะเก็บเกี่ยวผลทุเรียนได้พอดี

หากมีเพื่อนบ้านสนใจเข้ามาซื้อทุเรียนถึงสวนเพื่อนำไปบริโภค น้าไพจะเลือกตัดผลทุเรียนที่มีความสุก 100% ให้แก่ลูกค้า  ทำให้ลูกค้ามีโอกาสรับประทานทุเรียนที่มีคุณภาพดี  รสชาติหวาน มัน กรอบและพูหนา เมล็ดลีบ

ผลผลิตส่วนใหญ่ น้าไพจะขายทุเรียนเหมาสวนให้แก่พ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่น ในราคาก.ก.ละ  40 บาท โดยแม่ค้ามักตัดผลทุเรียนที่มีความสุกประมาณ  80%  นำไปป้ายยาก่อนส่งขาย  ที่อำเภอท่าม่วง บางครั้ง แม่ค้าก็คัดทุเรียนคุณภาพดีใส่กล่อง เพื่อส่งออกไปขายจีนและเกาหลี

น้าไพเล่าว่า  โดยทั่วไป ทุเรียนทองผาภูมิจะมีฤดูเก็บเกี่ยวไม่ตรงกับแหล่งอื่น  ทุเรียนจันทบุรีวายตลาดหมดแล้ว ทุเรียนทองผาภูมิจึงเริ่มมีผลผลิตเข้าสู่ตลาด  เมื่อหมดฤดูทุเรียนทองผาภูมิ  จึงมีทุเรียนใต้เข้าสู่ตลาด   เนื่องจากทุเรียนทองผาภูมิมีฤดูการขายไม่ตรงกันใคร  ทำให้เจ้าของสวนสามารถขายทุเรียนได้ในราคาที่ดี  น้าไพเล่าว่า ปีที่แล้ว ฝนฟ้าไม่เป็นใจ ทำให้ทุเรียนทองผาภูมิมีผลผลิตออกมาชนกับทุเรียนจันท์พอดี จึงโดนแม่ค้ากดราคารับซื้อผลผลิตในราคาถูก เหลือแค่  ก.ก.ละ38 บาทเท่านั้น

ปลูกมะกรูด  โกยรายได้เพลิน  

สวนแห่งนี้ นอกจากจะมีทุเรียนเป็นสินค้าเด่นที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่น้าไพแล้ว ยังมีสินค้าเด่นอีกชนิดหนึ่ง คือ  มะกรูด  ทุกวันนี้ น้าไพปลูกมะกรูดส่งขายให้กับโรงงานน้ำพริกนิตยา เนื่องจากหลานชายน้าไพทำงานส่งของให้กับบริษัทอยู่แล้ว ทำให้น้าไพมีฐานลูกค้าประจำในการรับซื้อมะกรูดอย่างสม่ำเสมอ

น้าไพ เล่าเคล็ดลับการปลูกมะกรูดให้ฟังว่า   การเตรียมแปลงปลูกมะกรูดเริ่มจากขุดหลุมผึ่งดินไว้ล่วงหน้า พอถึงช่วงฤดูฝน ก็เริ่มปลูกได้โดยใช้เปลือกถั่วเขียวมารองก้นหลุม สาเหตุที่เลือกใช้ถั่วเขียว เพราะมีธาตุอาหารเยอะเหมือนปุ๋ย ช่วยทำให้ดินร่วนซุย แถมได้ฟรีเพราะไปขอเปลือกถั่วเขียวมาจากโรงสีที่อยู่ใกล้บ้าน

ต้นมะกรูดไม่ต้องการดูแลมากนัก แค่ตัดแต่งกิ่งนิดหน่อย เพื่อไม่ให้ลำต้นสูงมากจนเกินไป มะกรูดไม่ต้องให้น้ำเลย ปล่อยให้เติบโตโดยใช้น้ำฝนก็เพียงพอแล้ว ส่วนปุ๋ย ให้เพียงปีละครั้ง โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพที่หมักใช้เองภายในสวน โดยใส่ปุ๋ยต้นละ 3 กิโลกรัม

น้าไพมีเทคนิคใส่ปุ๋ยที่น่าสนใจ เพราะไม่ใส่ปุ๋ยที่โคนต้น   แต่น้าไพจะคอยสังเกตว่า  ร่มเงาใบต้นมะกรูดเติบโตใหญ่กินวงกว้างแค่ไหนก่อนจึงค่อยหว่านปุ๋ยลงไป โดยน้าไพให้เหตุผลว่า   ใบไม้และรากมีระยะการเติบโตที่สัมพันธ์กัน เรียกว่าร่มเงาของใบไม้กว้างแค่ไหน  รากก็ถึงแค่นั้น  จึงต้องให้ปุ๋ยในระยะที่รากเติบโต ต้นไม้จึงจะได้รับธาตุอาหารอย่างครบถ้วน

โดยทั่วไป ราคามะกรูดจะขึ้นลงตามภาวะตลาด  หากเก็บผลผลิตออกขายในช่วงฤดูฝน ก็จะขายได้ในราคาถูกเพราะเป็นช่วงที่มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก  จะขายมะกรูดได้ในราคาเฉลี่ยก.ก.ละ ยี่สิบกว่าบาทเท่านั้นเอง

ส่วนช่วงฤดูแล้ง ผลผลิตเข้าตลาดน้อย ราคาขายก็ขยับขึ้นมาหน่อยอยู่ที่ก.ก.ละ สามสิบกว่าบาท น้าไพก็จะมีผลกำไรเหลือเยอะหน่อย น้าไพพอใจกับรายได้จากการปลูกมะกรูดขายโรงงานเพราะถือว่าไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เก็บผลผลิตออกขายได้ทุกๆ สามเดือน ปีหนึ่งจะมีรายได้จากการขายมะกรูดได้ทะลุหลักแสนบาททีเดียว

กล้วยน้ำว้า ก็เป็นไม้ผลอีกชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้หมุนเวียนให้แก่น้าไพได้เป็นอย่างดี กล้วยน้ำว้า  ไม่ต้องการการดูแลมากนัก  และมีแม่ค้าเข้ามารับซื้อผลผลิตถึงสวนทุกๆ  สามสัปดาห์ โดยขนคนงานเข้ามาตัดเครือกล้วยเอง  น้าไพก็นั่งรอนับเงินอย่างเดียว โดยขายส่งในราคาหวีละ 6 บาท แต่ละครั้งน้าไพจะมีกล้วยน้ำว้าออกขายประมาณ 300-400 หวี

น้าไพบอกว่า รายได้จากการขายกล้วยน้ำว้า เพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน  ปัจจุบันสวนผลไม้ผสมผสานแห่งนี้  สร้างรายได้หมุนเวียนเข้ากระเป๋าอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี แถมยังเงินให้เหลือเก็บอีกด้วย

“อาชีพเกษตรกรได้อยู่กับต้นไม้อากาศดีคนก็ดีด้วย ห่างจากโรคภัยไข้เจ็บ  ใครจะเชื่อว่าเป็นมะเร็งแล้ว กลับมาปลูกต้นไม้อยู่กับธรรมชาติ   โรคมะเร็งจะหายได้จากธรรมชาติบำบัดภายใน 5 ปี หลังจากเราเข้ามาพักอาศัยอยู่ที่นี่ เพราะการใช้ชีวิตอยู่ภายในสวนผลไม้ ทำให้เราไม่เครียดและอากาศดีด้วย ช่วยให้เราหายจากอาการโรคมะเร็งได้โดยไม่ต้องพึ่งยา ทุกวันนี้ น้าไพมีสุขภาพแข็งแรงดี  หน้าตาสดใส ทำงานอย่างมีความสุขท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามอย่างน่าอิจฉาทีเดียว ใครอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการปลูกทุเรียนหรือไม้ผลอื่นๆกับน้าไพ สามารถติดต่อกับน้าไพได้ตามที่อยู่ข้างต้น  น้าไพยินดีแบ่งปันข้อมูลให้แก่ผู้สนใจทุกท่าน