ที่มา | คนเกษตรระดับตำนาน |
---|---|
ผู้เขียน | บัว สีลม |
เผยแพร่ |
อดีตอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทยมีมาช้านานแล้ว เกินกว่า 6 ทศวรรษ โดยคนไทยจะเลี้ยงกันกระจายไปตามหัวเมืองและในเมือง หัวเมืองที่เลี้ยงกันอยู่ในเวลานั้น คือนครปฐม ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ
ในเมืองหลวง กรุงเทพมหานคร ในย่านบางแค บางเขน บางบัว ที่เลี้ยงริมถนนพหลโยธิน ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นคือ ท่านอาจารย์หลวงสุวรรณ วาจกกสิกิจ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยุคที่มีคำพังเพยออกมาฮิตที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ว่า “กินไข่วันละฟอง ไม่ต้องไปหาหมอ”
สมัยนั้นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงเป็นไก่ไข่นั้น มีตั้งแต่พันธุ์ขนสีขาว ที่เรียกว่า พันธุ์เล็กฮอร์น พันธุ์ขนสีลายเทา เรียกว่า พันธุ์ไก่บาร์พลีมัทร็อค และพันธุ์ขนสีน้ำตาล เรียกว่า ไก่พันธุ์โร้ดไอร์แลนด์เรด ฟองไข่สีน้ำตาล แต่คนไทยนิยมไข่ฟองสีขาว ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นฟองสีน้ำตาลครองตลาดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนโรงเรือน เลี้ยงในกรงตับช่องตัว ฟาร์มขนาดใหญ่มีไม่ถึงหมื่นตัว เล็กสุด 200-500 ตัว เท่านั้น
มาถึงปัจจุบัน การเลี้ยงไก่ไข่กลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่โต มีการเลี้ยงกันมาก ฟาร์มละเป็นล้านๆ ตัว ที่ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา และนครนายก ถึงแปดริ้ว ฟาร์มขนาดหมื่นตัว เห็นจะหาดูยากหน่อย
เหตุที่ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ในไทยเจริญก้าวหน้า ควบคู่กับอาหารสัตว์ พันธุ์สัตว์ และอุปกรณ์เลี้ยงไก่ มีการพัฒนากันอย่างรวดเร็วมากว่า 3 ทศวรรษ มิใช่ระบบราชการส่งเสริม แต่กลายเป็นนักธุรกิจจากบริษัทเอกชนที่มองการณ์ไกล ที่เห็นว่าประเทศไทยน่าจะมีศักยภาพเลี้ยงไก่ได้ดี และตามด้วยสุกร เป็ด หรือโคนม โคเนื้อ ที่คนไทยมีงาน มีอาชีพ และมีเทคโนโลยีก้าวไกล มาถึงวันนี้มิใช่มาผูกขาดอาชีพกัน บางคนเข้าใจผิด หามิได้เลย ควรจะปรบมือให้บริษัทเอกชนที่มีการนำเข้าพันธุ์สัตว์ให้คนที่สนใจมาลงทุนเลี้ยง จนกลายเป็นอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทย ในฐานะผู้ส่งออกไก่เนื้อไปตลาดต่างประเทศ ปีละเป็นแสนล้านบาท ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยมีรายได้ มีงานทำ และเป็นอาชีพส่งเสริมได้ สร้างฐานะให้กับครอบครัวส่งลูกหลานเรียนได้สูงขึ้น
ทำไมต้องกล่าวเช่นนี้ เจตนาก็ต้องการให้คนที่รักอาชีพนี้ที่ได้ภาคภูมิใจในการทำธุรกิจเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับต่างประเทศ
อยากจะยกตัวอย่างอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ที่เลี้ยงมานานกว่า 4 ทศวรรษ เพราะอาชีพนี้ทำให้เขาขยายอาณาเขตจากอำเภอบางปะอินถึงบางปะหัน มีอาณาจักรการเลี้ยงสุกรเพิ่มขึ้น มีทายาทมาสืบทอดแทนบิดาได้อย่างลงตัวและต่อเนื่อง
จะกล่าวถึงฟาร์มตัวอย่างที่มีอุดมการณ์เลี้ยงไก่ไข่ ถ้ามีกำไร ต้องอดออมเก็บไว้ สำรองเวลาไข่ไก่มีราคาถูกลง อย่าใช้จ่ายเกินตัว เขาเตือนสติอาชีพคนเลี้ยงไก่ไข่ให้ระวังไว้ ลามไปเข้าหูคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คำเตือนดลใจมาก เพราะอาชีพเลี้ยงไก่ไข่กำไรน้อย ในฟาร์มนี้ชื่อที่คนรู้จักดี “ฟาร์มกรรณสูตร”
เจ้าของฟาร์มนามว่า เสน่ห์ หรือ เสี่ยแอ๊ด กรรณสูตร อดีตมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสัตวบาล ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มอบให้เมื่อสิบปีที่ผ่านมา เหมือนคนดีแห่งกรุงศรีอยุธยา
คุณเสน่ห์ หรือ เสี่ยแอ๊ด บางคนก็เรียก ป๋าเหน่ห์ ที่มีใจกว้างกว่าแม่น้ำ 5 สาย มารวมกันเสียอีกแน่ะ
ป๋าเหน่ห์ เล่าถึงความหลังเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ว่า
“ผมเกิดที่บางปะอิน พ่อแม่มีอาชีพขายข้าว และมีอาหารสัตว์คือ รำ ปลายข้าว และข้าวสาร สมัยผมเด็กๆ ไปกับพ่อช่วยกัน นั่งเรือไปเร่ขายของตามลำคลองมาตั้งแต่จำความได้ คนแถวนี้มีการเลี้ยงไก่ไข่กันไม่มากนัก ผมปลูกฝังกับการเห็นคนเลี้ยงไก่ ผมเติบโตก็ขอทุนพ่อแม่เลี้ยงไก่ไข่ และใต้ถุนกรงไก่มีบ่อเลี้ยงปลาเอาไว้เอามูลไก่หล่นมาให้ปลาดุกกินที่ไก่ไข่ถ่ายมูลออกมา พอได้เวลาจับปลาดุกขายได้ มันคือกำไร ส่วนไข่ไก่นั้นเกือบไม่มีกำไร เลยต้องอาศัยรายได้จากปลาดุกที่ประหยัดอาหารไปมาก แต่ก็ได้เศษอาหารไก่ไข่ร่วงลงน้ำปลาดุก ซึ่งเจริญเติบโตได้ดี” ป๋าเหน่ห์ ย้อนอดีตสมัยก่อนให้ฟัง
ผู้เขียนถามถึงทำไมราคาไข่ไก่มันสั่นคลอนอยู่เสมอ
“คืออย่างนี้ครับ อาชีพเลี้ยงไก่ไข่มันแกว่งอยู่เสมอในรอบหนึ่งปีจะมีกำไรไม่กี่เดือน อย่างในฤดูฝนที่มีปัญหาไข่ไก่ขายไม่ดี มีปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ฝนตก ไข่ก็ลดลง ชาวบ้านต่างไปหาปลาและอาหารธรรมชาติในป่า ในช่วงฝนเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน อาหารจากธรรมชาติมีมาก เห็ด หน่อไม้ ของป่า เยอะมาก ปลาก็ชุกชุม กบ เขียด อึ่งอ่าง จนชาวบ้านลืมบริโภคไข่ ว่างั้นเถอะ พอเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศเย็นไก่ก็กินอาหารมากขึ้น ไข่มากขึ้น จนมีปริมาณมากขึ้น ราคาก็จะถูกลง ถ้าบริหารจัดการไม่ดี”
ป๋าเหน่ห์หยุดไปพักหนึ่ง มาลำดับตลาดไข่ต่อ มาถึงฤดูปิดภาคเรียน ตอนนี้คนเลี้ยงไก่ไข่จะโดนสองเด้ง กล่าวคือ
“เด้งแรกก็คือ เดือนมีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม อากาศเริ่มร้อน ในอดีตไก่ตายมาก เพราะทนอากาศร้อนไม่ไหว เสียหาย แต่ปัจจุบันเราแก้ไขได้ มี เล้า “อีแว้ป” มาช่วยให้ผ่อนคลายร้อนได้ ไก่ก็จะลดการเสียหาย เปอร์เซ็นต์ไข่ไม่ลด แต่ค่าก่อสร้างแล้วอีแว้ปแพงมาก ถ้าราคาไข่ตกลงก็ขาดทุน…มาถึงเด้งที่สอง ช่วงโรงเรียนปิดเทอม เด็กหยุดเรียน โรงเรียนและร้านอาหารขายปรุงด้วยไข่ไก่ ปริมาณไข่ขายลดลง แม่ค้าหยุดขายตามโรงเรียนที่หยุดปิดเทอม แม่ค้าอาหารถือโอกาสหยุดยาว เด็กกลับบ้าน ไม่บริโภคไข่ หรือบริโภคก็น้อยลง คนขายไข่ลดปริมาณ มากระทบที่ฟาร์มไก่ไข่ที่ผลิตไข่ทุกวัน คนเลี้ยงไก่ไข่จะขายไข่ไม่ดี ช่วงมีเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ วันหยุดยาว หรือมีงานใหญ่ๆ คนบริโภคไข่จะมากขึ้น” อดีตมหาบัณฑิตสัตวบาลสาธยายให้ฟังถึงวาระตลาดไข่ผันผวน
มูลเหตุแห่งความห่วงใยของป๋าเหน่ห์ ที่มีต่อคนเลี้ยงไก่ไข่ไว้ว่า เพื่อนๆ ทั้งหลาย เวลาช่วงราคาไข่ไก่ขึ้นราคา อย่าประมาท กำไรไข่แล้วควรเก็บออมเอาไว้ อย่าไปซื้อของเฟอร์นิเจอร์ที่มีทั้งรถยนต์รุ่นใหม่ ปลูกบ้านใหม่ หาของมาประดับตัว และบ้าน อย่างลืมตัว มันจะเป็นหายนะตามมาเวลาไข่ไก่ล้นตลาด
ในเวลาต่อมาเมื่อเขามีกำไร และมีเครดิตจากธนาคารมาลงทุนขยายฟาร์มหมู หรือเรียกว่าฟาร์มสุกร ที่ขยายอาณาเขตออกไปที่อำเภอบางปะหัน ออกไปอีกเป็นร้อยๆ ไร่
สิ่งที่ทำไม่ต้องเลี้ยงไก่ไข่เป็นล้านตัวแล้ว มาขยายฟาร์มสุกรเพิ่มอีก ป๋าเหน่ห์ มีเหตุผลไว้ว่า
“การเลี้ยงสุกร มันเป็นอาชีพเสี่ยงกว่าไก่ไข่มาก ไข่กำไรน้อยแต่สุกรกำไรมาก แต่เราคิดรอบคอบ เราต้องพึ่งบริษัทใหญ่ไว้เป็นโล่กำบังไว้ ไม่เสี่ยงขาดทุน บังเอิญผมมีลูกชาย 4 คน จบจากเมืองนอกปริญญาโททุกคน มารองรับงานขยายฟาร์มเพิ่มอีก…เพราะการเลี้ยงสุกร มันเสี่ยงมากเกินไป มีตัวอย่างให้เห็นบ่อยๆ เพราะหมูล้นตลาด ขืนกักไว้ยิ่งขาดทุน ผมหันมาพึ่งบริษัทใหญ่ที่ทำการเกษตร เอามารับซื้อโดยประกันราคาเหมือนไก่เนื้อ ผมคิดเอาไว้เปรียบเหมือนนักมวยฟิลิปปินส์ ชื่อ ปาเกียว ที่มีชื่อเสียงทั่วโลกในขณะนี้ เป็นเพราะว่าเขาพึ่งโปรโมเตอร์ของสหรัฐอเมริกา ช่วยโปรโมตเขาให้ชกมวยในอเมริกา มีรายได้กับชื่อเสียงจนฐานะร่ำรวยถึงวันนี้” ป๋าเหน่ห์ เสริมต่อไป
“ผิดกับนักมวยไทย ต่อยมวยไทย มวยสากลไปไม่ไกล ขาดเวทีต่างประเทศ ทำให้นักมวยหมดอนาคต ทั้งที่ชกเก่ง เคยชนะปาเกียวก็เคยมี”
สุดท้าย เสี่ยแอ๊ด หรือ ป่าเหน่ห์ เล่าอดีตความหลัง ในปี 2554 น้ำท่วมใหญ่ ทั้งพระนครศรีอยุธยา ถึงกรุงเทพฯ ทำให้ฟาร์มกรรณสูตรถูกน้ำท่วมขังจนไก่ตายไปล้านตัวเศษ เป็นข่าวใหญ่หน้าแรกในหนังสือพิมพ์รายวัน ทุกฉบับประโคมข่าวพร้อมๆ กัน
เพียงปีเศษเท่านั้น ฟาร์มกรรณสูตรกลับมายิ่งใหญ่ ทั้งฟาร์มไก่ไข่ และฟาร์มสุกร ที่กลับมาคราวนี้เพราะบริษัทเอกชนรายใหญ่เห็นน้ำใจป๋าเหน่ห์แล้วเป็นคนตรง คนจริง และใจกว้างเหมือนกับแม่น้ำหลายสายมารวมกันเสียอีก
โชคดีเถอะครับ ป๋าแอ๊ด ผู้มิเคยยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น สมกับเป็นมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากรั้วบางเขน