ที่มา | เทคโนโลยีการประมง |
---|---|
ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
เผยแพร่ |
การเลี้ยงปลาในกระชังเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่ให้ผลผลิตสูง ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงเศรษฐศาสตร์ ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำทั่วไปตามธรรมชาติ อีกทั้งเป็นการช่วยให้ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินสามารถสร้างอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้
บริเวณริมเขื่อนวชิราลงกรณหรือชื่อเดิมคือเขื่อนเขาแหลม ตั้งอยู่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีมีชาวบ้านตั้งรกรากเพื่อทำมาหากินด้วยการจับสัตว์น้ำ บางรายมีที่ดินก็ปลูกบ้าน บางรายไม่มีที่ดินก็สร้างแพ
คุณสมชาย ศาลาคำ เป็นอีกคนที่มีชีวิตครอบครัวพักอาศัยในแพและยึดอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังบริเวณริมเขื่อนเขาแหลมมากว่า 13 ปี ด้วยการซื้อพันธุ์ปลาแล้วมาเลี้ยงส่งขายเองตามร้านอาหารเรียกว่าเป็นทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายขายตรงในเวลาเดียว ถือว่าทำงานแบบครบวงจรเลย และด้วยความเพียร ความอดทน การเป็นผู้เรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง จนกระทั่งเขาสามารถสร้างฐานลูกค้าได้อย่างมั่นคง สร้างรายได้นับหลายแสนในแต่ละเดือน สามารถส่งบุตรสาวเรียนได้ถึงระดับปริญญาโท จนทุกวันนี้เขามีความสุขกับครอบครัวแล้วยังมีแผนที่จะต่อยอดอาชีพนี้อีก
ทว่า…กว่าจะมาถึงจุดสำเร็จแห่งอาชีพนี้ คุณสมชายต้องฝ่าฟันปัญหานานับปการ ถูกมองจากชาวบ้านด้วยความคิดแปลกๆ แต่ด้วยความมุ่งมั่น อดทน ประหยัด รู้จักคิด จึงทำให้เขาเดินฝ่าปัญหาเหล่านั้นจนมายืนในแถวหน้าในฐานะผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลากระชังในทองผาภูมิได้อย่างภาคภูมิใจ
ทำอะไร ไม่ประสบความสำเร็จ
ประมงแนะ…เลี้ยงปลากระชัง
คุณสมชาย ย้อนอดีตว่าด้วยความที่พ่อ-แม่ทำงานเป็นพนักงานอยู่ที่เขื่อนวชิราลงกรณ จึงทำให้ตัวเขาต้องย้ายตามมาด้วยวัยเพียงสิบกว่าขวบ พอจบม. 6 ที่กาญจนบุรี ย้ายกลับไปที่ระยองไปประกอบอาชีพที่ต้องหาเงินเองด้วยการค้าขาย และขายของทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ ผลไม้ แต่แล้วไม่ประสบความสำเร็จจึงกลับมาทองผาภูมิอีกครั้งเมื่ออายุเกือบ 30 ปี แล้วมาแต่งงานมีครอบครัวที่นี่
เจ้าของกระชังปลา บอกอีกว่า ตอนมาอยู่ใหม่ๆ ยังคงยึดอาชีพค้าขายต่อไปอีก พอมาเมื่อปี 2540 เศรษฐกิจไม่ดีจึงต้องเลิก ประจวบกับจังหวะนั้นทางหัวหน้าประมงอำเภอทองผาภูมิคนเดิมแนะให้ทำอาชีพยกยอและเลี้ยงปลาในกระชัง จึงเกิดความสนใจและเริ่มทดลองทำดู
“จากจุดเริ่มต้นที่ไม่เป็นอะไรสักอย่าง ลูกปลายังไม่รู้จัก แม้กระทั่งว่ายน้ำยังไม่เป็น พายเรือก็ไม่เป็น จึงขอให้คนที่มีความสามารถมาช่วยสอนให้ยกยอ สำหรับการยกยอในช่วงนั้นมีพวกปลาซิวแก้ว ปลาแป้น แล้วนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงปลาคัง ปลากด ปลาช่อน และปลาชะโดที่มีอยู่ในกระชังที่มีอยู่ ทั้งนี้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้ออาหารให้ปลา”
ต่อมาอีก 3-4 ปี ปลาที่ยกยอเพื่อนำมาเป็นอาหารปลาในกระชัง เริ่มน้อยลงทำให้ต้องเลิกยกยอเพราะไม่คุ้ม จึงทำให้ต้องหาซื้ออาหารเป็นปลานิลจากทางบางเลน จากนั้นไม่นานปลาจากแหล่งที่เคยซื้อกลับมีราคาแพงและน้อยลง จึงจำเป็นต้องหันมาใช้ไส้ไก่จากสุพรรณบุรีแทนในราคากิโลกรัมละ 10 บาท ส่วนปลาหาได้บ้างในบางช่วงถ้ามีราคาถูกและต้องไม่เกิน 9-10 บาทต่อกิโลกรัม
คุณสมชาย บอกว่า ครั้งแรกปลากระชังที่เลี้ยงไว้ได้แก่ปลาช่อน และปลาชะโด เพราะสามารถหาอาหารในเขื่อนเลี้ยงได้ง่าย จะได้ทุ่นค่าใช้จ่าย ช่วงนั้นมีอย่างละ 2 กระชัง แต่ประสบปัญหาการตักปลาที่ไม่ชำนาญจนทำให้ล่าช้ากว่ารายอื่น จึงต้องหยุดเลี้ยง แล้วเปลี่ยนมาเป็นการลองไปซื้อลูกปลาคังมาเลี้ยง เพราะเมื่อประเมินรายรับแล้วน่าจะดีกว่า ตอนนั้นปลาช่อนขายได้กิโลกรัมละ 60-70 บาท แต่หากเป็นปลาคังต้องมีราคาร้อยกว่าบาทขึ้นไป แต่ติดปัญหาตรงที่ลูกปลาคังหาค่อนข้างยาก ซึ่งคนละแวกนี้เขาหาโดยใช้วิธีดักลอบ หรือดำน้ำไปตามหน้าผาหรือรูหิน แต่เราทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะว่ายน้ำไม่เป็นจึงต้องไปหาซื้อ
“ลองเปิดหนังสือหาแหล่งที่เพาะลูกปลาเพื่อซื้อมาเลี้ยง แต่กลับมีชาวบ้านดูแคลนว่าปลาที่เพาะเลี้ยงมีอายุสั้น เดี๋ยวก็ตาย แต่เราไม่เชื่อและต้องลองเลี้ยงดู สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ถึง 2 ปี ก็สามารถทำในสิ่งที่หลายคนคิดว่าไม่ แต่ผมกลับทำได้สำเร็จ เมื่อเลี้ยงปลาเพาะได้น้ำหนักขนาดถึงเกือบ 4 กิโลกรัมต่อตัว หลังจากนั้นชาวบ้านก็ได้ลองทำแบบเดียวกับผม ทั้งนี้เพราะปลาตามธรรมชาติหาไม่ได้แล้วหากต้องการจำนวนมากขนาดนั้น มัวแต่ไปจับคงไม่ทันขายแน่”
ปลาคังขายดี ลูกค้านิยม
เปิดขายตรง กับร้านอาหาร
คุณสมชาย บอกว่า ปลาที่นิยมเลี้ยงมากคือปลากดคัง เพราะตลาดรับซื้อมีรองรับมากกว่า รองลงมาคือปลากลดเหลือง ส่วนปลาทับทิมและปลานิลเลี้ยงกันน้อย เพราะความต้องการมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น อีกประการคือต้นทุนสูง ไม่คุ้มกับการเลี้ยง
เจ้าของกระชัง เผยถึงตัวเลขการขาย พร้อมกับอธิบายถึงการตลาดว่า ส่งปลาคังขายสัปดาห์ละ 500-600 กิโลกรัม ส่วนปลาทับทิมและปลานิลประมาณ 100 กิโลกรัม ลักษณะการขายแบบชนิดตรงตัวลูกค้าตามเจ้าของร้านอาหาร ซึ่งบางเจ้าจำเป็นต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการทำปลาให้ลูกค้าด้วย ดังนั้นการบริหารจัดการด้วยตัวเองจึงทำให้มีต้นทุนถูกกว่า เมื่อนำไปส่งจึงปรับราคาที่ถูกใจลูกค้า ขณะเดียวลูกค้าเองก็ได้ราคาที่พอใจเช่นกัน คนซื้อได้ราคาดี ปลาสด
“ส่งเฉพาะตามร้านอาหารเท่านั้น เพราะมีปริมาณปลาพอดีครบทั้งปี ยังไม่ได้ส่งตามตลาดเพราะปลาไม่เพียงพอ แล้วอีกอย่างไม่กล้าเพิ่มจำนวน เกรงว่าถ้าตลาดไม่สั่งหรือสั่งน้อย ปริมาณที่เหลือจะกระทบและสร้างปัญหาตามมาทันที ที่สำคัญคือเรื่องค่าใช้จ่าย
ดังนั้นจึงส่งเฉพาะรายที่แน่นอนดีกว่า บางปีลูกค้าประจำเกิดต้องการเพิ่ม จำเป็นต้องไปหาซื้อจากแหล่งอื่นที่มีการเลี้ยงไว้ได้ขนาด เพื่อส่งให้ลูกค้าได้ทันที”
อาหาร ปัจจัยที่มีผล ต่อการเจริญเติบโต
การเลี้ยงปลาในกระชังเป็นรูปแบบการเลี้ยงปลาที่ต้องมีการพัฒนา เพื่อให้ปลามีขนาด น้ำหนัก รูปร่างลักษณะที่สมบูรณ์ แข็งแรง ดังนั้นผู้เลี้ยงจะต้องใส่ใจในเรื่องการให้อาหารในแต่ละช่วงวัย เพราะคุณค่าทางอาหารชนิดต่างๆ ในแต่ละวัย จะส่งผลต่อตัวปลาทันที
คุณสมชาย อธิบายถึงการให้อาหารปลาในกระชังที่เขาเลี้ยงในแต่ละวัยว่า สำหรับลูกปลากดขนาดเล็กที่นำมาอนุบาลไว้ที่ขนาด 1-4 นิ้วต้องใช้อาหารเม็ดที่มีโปรตีนสูงช่วยก่อน ปริมาณที่ให้สำหรับปลาเล็กดังกล่าวในจำนวน 3 หมื่นกว่าตัว ใช้อาหารเม็ดวันละเกือบ 10 กิโลกรัม แต่พอขนาดโตขึ้นมาเล็กน้อยพอเริ่มกินอาหารได้จะใช้อาหารแบบเนื้อโดยการหั่นให้ฝอยขนาดเล็ก
การให้อาหารปลาโตทำเพียงวันละครั้งเดียวช่วงเย็น เพราะปลาขนาดใหญ่ชอบกินอาหารในช่วงกลางคืน การให้ปริมาณอาหารสำหรับปลาใหญ่ไม่มีความแน่นอนทั้งนี้เนื่องจากเป็นธรรมชาติของปลา เช่นในช่วงฤดูหนาวปลากินน้อย แต่ช่วงฤดูฝนจะกินมาก
สำหรับปริมาณอาหารที่ใช้แก่ปลาที่มีขนาดใหญ่นำหนักตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป ที่มีอยู่จำนวนหมื่นกว่าตัวใช้วันละตันหรือกว่าเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นช่วงอากาศหนาวมากปริมาณจะลดลงมา ดังนั้นข้อเสียในช่วงนี้จะทำให้น้ำหนักปลาลดตามไปด้วย
ส่วนต้นทุนอาหารปลาประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ มีกระชังรวมทั้งหมด 50 กว่ากระชัง ขนาดกระชังกว้าง 5 คูณ 8 เมตร และลึก 3 เมตร
ปลามักพบโรค ก่อนขวบปี
หมั่นดูแลกระชังให้สะอาด
ปัญหาโรคปลาดูจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งสำหรับผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลากระชัง คุณสมชายเผยว่าจากระยะเวลาที่ผ่านมามักพบปลาเป็นโรค ซึ่งจะเจอตั้งแต่รุ่นที่อนุบาล 2 อย่างคือปลาจะผิดน้ำกับเจอปลิงใสเข้าไปในเหงือก เคยนำไปให้นักวิชาการดูแล้วเห็นว่าน่าจะเกิดจากน้ำที่ใช้เลี้ยงนิ่งเกินไปทำให้มีปลิงใสเจริญเติบโต ใช้วิธีสาดปูนขาว เกลือลงไปในน้ำก็ช่วยได้บ้าง แต่ที่ต้องเอาใจใส่คือการทำความสะอาดกระชังบ่อยๆ เพื่อให้น้ำมีความใสสะอาด
“อีกอย่างคือช่วงที่ปลาจะครบปีมักเจอโรคหลังบวม แดงตามหลัง ครีบ ใต้ท้องหรืออวัยวะเพศจากการตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และมักจะตายช่วงต้นฤดูหนาว และตายอีกครั้งก่อนฝน วิธีแก้คือหากพบเห็นปลามีอาการผิดปกติต้องรีบใส่ยาทันที เพราะถึงแม้จะช่วยได้บ้าง แต่ดีกว่าปล่อยให้ตายทั้งกระชัง ซึ่งเท่าที่สังเกตหลังจากปลามีอายุเลยหนึ่งปีแล้วไม่ค่อยเป็นอะไร เพราะอาจมีภูมิต้านทานโรคมากขึ้น ดังนั้นหลายคนที่เจอปัญหาดังกล่าวรับสภาพไม่ได้ต้องเลิกทำไปเลย สรุปแล้วช่วงก่อนขวบปีของปลาควรหมั่นเอาใจใส่เป็นพิเศษ”
เลี้ยง-จำหน่าย ครบวงจร
บริหารจำนวนปลาให้สอดคล้อง
ด้านการจำหน่ายนั้น คุณสมชายถือหลักฉายเดี่ยว เพราะการทำงานคนเดียวจะมีความคล่องตัวมาก ที่สำคัญ “ส่งเอง รับเอง” ดังนั้นภาระหน้าที่งานประจำของเขาจึงเริ่มตั้งแต่เช้ามืด มีลูกน้องช่วยขึ้นปลา คัดขนาดปลา คัดจำนวน ทั้งนี้จะมีการติดต่อยอดจำนวนปลาจากลูกค้าล่วงหน้า 1 วัน เมื่อปลาขึ้นรถเรียบร้อยจะทยอยส่งไปตามจุดต่างๆ ที่เป็นร้านอาหารตั้งแต่ที่ ทองผาภูมิ, ไทรโยค, หนองขาว, ท่ามะกา แล้วยังในตัวเมืองกาญจนบุรี เป็นต้น จำนวน 10 กว่ารายตลอดทั้งวัน จนกระทั่งเสร็จประมาณ 3 โมงเย็น ทำเช่นนี้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง จากเมื่อก่อนเพียงสัปดาห์ละครั้ง
เขาบอกว่า การทำงานในลักษณะเช่นนี้จะทำให้ลูกค้าได้ปลาใหม่ สด ทุกวัน หากลูกค้าได้ของดี ขายได้มาก ก็จะสั่งเราเพิ่มอีก เราก็ขายได้มาก
และยังบอกต่ออีกว่าปริมาณและความต้องการปลาจากลูกค้าจะมีความพอดีกัน กล่าวคือในแต่ละสัปดาห์ใช้ปลาไม่เกิน 200 ตัว แต่ละตัวมีน้ำหนักประมาณ 2-3 กิโลกรัม ตกประมาณ 600 กิโลกรัม เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 700-800 ตัว หรือเป็นปีละประมาณ 9 พันกว่าตัว และที่มีเลี้ยงไว้ในกระชังหมื่นกว่าตัว
“อันนี้เป็นแต่ละรุ่นที่ใช้แต่ละปี ซึ่งรุ่นต่อไปก็จะอนุบาลไว้แล้วเลี้ยงมาเรื่อยๆ โดยใช้เวลาที่เลี้ยงแต่ละรุ่นประมาณ 3 ปี ดังนั้นจึงกำหนดไว้ว่ามีปลาอยู่ 3 รุ่น ได้แก้ รุ่น 3-4 กิโลกรัม,รุ่น 1-2 กิดลกรัมและรุ่นเล็กขนาด 2-3 ขีด เป็นการเลี้ยงแบบสลับรุ่นไปเรื่อยๆ”
คุณสมชาย เผยว่า ถือว่าการเลี้ยงปลากระชังเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดีมาก มีการพัฒนาเจริญเติบโตมาตลอด เขาเล่าว่าจากตอนที่เริ่มครั้งแรกนับศูนย์ มีกระชังไม้อยู่ 4 ชุดด้วยการจ้างต่อ เลี้ยงปลาช่อนและปลาชะโดก่อน ช่วง 3-4 ปี แรกเหมือนคลำทาง แต่ทั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากทางประมงทองผาภูมิเป็นอย่างดีมาตลอด พอสัก 3 ปีมีเงินก้อนจึงหาซื้อรถกระบะเก่าราคาแสนกว่าบาท ซื้อเงินสดเลยจะได้ไม่ต้องผ่อนเสียดายเงินดอกเบี้ย
“พอเริ่มมีเครื่องมือทำกินจึงเริ่มตระเวนหาลูกค้า ต่อจากนั้นจึงเปลี่ยนมาเลี้ยงปลาคังขาย ช่วงแรกที่มีลูกค้าสัปดาห์แรกขายได้เงิน 4-5 พันบาท ดีใจมาก เพราะช่วงนั้นยังไม่มีรายจ่าย เนื่องจากอาหารปลาได้มาจากการยกยอ ต่อจากนั้นรายได้เริ่มเข้ามาสัปดาห์ละหมื่นกว่าบาท เดือนละ 4-5 หมื่นบาท แต่พอมาช่วงหลังเริ่มมีรายจ่ายเพราะต้องซื้อปลาข่ายเข้ามาเสริม เพราะเราลี้ยงไม่ทัน
หลายปีผ่านไป อาหารปลาหายาก ต้องสั่งซื้อจากแหล่งอื่นเข้ามา ขณะเดียวกันจำนวนลูกค้าก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ส่งขายสัปดาห์ละเป็นแสนบาท ตก 500-600 กิโลกรัมราคากิโลกรัมละ 190 บาท แต่ทั้งนี้ต้องหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ออกด้วย”
เลี้ยงปลากระชัง
สร้างงาน ทำเงิน
ทางด้านความเป็นอยู่ของครอบครัวนั้น คุณสมชายมีแพจำนวน 6 หลัง อยู่กัน 4 ครอบครัวตั้งอยู่บนเลขที่ 98/10 หมู่ 6 บ้านไร่ ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
เขาบอกว่า การขออนุญาตตั้งแพอาศัยจะต้องขออนุญาตโดยตรงกับทางกรมเจ้าท่าเสียก่อน และบอกต่ออีกว่าพอช่วงระดับน้ำตามธรรมชาติลดลง จำเป็นต้องขยับแพตามลงไปเพื่อให้ได้ระดับความลึกของกระชัง ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนตำแหน่งที่อยู่เดิมจะมีระดับน้ำลึกถึง 7 เมตร แต่พอช่วงหน้าแล้งในตำแหน่งเดิมระดับน้ำเหลือเพียง 4 เมตร จึงทำให้ต้องขยับแพลงไปให้ลึก และจะอยู่ที่ตำแหน่งใหม่สัก 3 เดือน พอหลังจากฝนมาและระดับน้ำเริ่มสูงขึ้น จึงขยับแพไปยังตำแหน่งเดิม
ปัจจุบัน คุณสมชาย มีลูก 2 คน คนโตอายุ 22 ปี เรียนอยู่ในระดับปริญญาโทที่จุฬาฯ ส่วนคนเล็กเรียน ป. 4 ที่ทองผาภูมิ เขาเผยว่าหากไม่ได้เลี้ยงปลาเป็นอาชีพคงไม่คิดว่าจะมีปัญญาส่งลูกเรียนได้ขนาดนี้ เพราะตอนแรกอาชีพยังลุ่มๆดอนๆ พอจังหวะที่ลูกคนโตต้องใช้เงินเรียนในระดับมัธยมก็เป็นช่วงเวลาที่อาชีพเลี้ยงปลากระชังเข้าที่พอดี จึงเป็นความโชคดีที่สามารถหาเงินส่งให้ลูกเรียนได้สูงจากอาชีพนี้
“แผนในอนาคตเขาคิดว่าจะเลี้ยงปลาประเภทปลาเนื้ออ่อน แต่ยังหาพันธุ์ที่เหมาะสมไม่ได้ เหตุผลที่ต้องการเลี้ยงเพราะปลาชนิดนี้เพราะราคาดีมากมีราคากิโลกรัมละกว่า 300 บาท ดังนั้นในขณะที่เรามีตลาดแล้ว และสินค้าของเรามีคุณภาพแล้ว การแนะนำสินค้าชนิดใหม่ที่มีคุณภาพกว่าคงไม่ยากสำหรับลูกค้า”
ท่านใดสนใจกำลังหาแหล่งซื้อปลากระชัง ก็สามารถติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 089-0334174 หากเดินทางไปส่งไม่ไกลและอยู่ในขอบเขตที่ส่งได้ก็ยินดีบริการ แต่ทั้งนี้ขอให้โทรศัพท์มาคุยกันก่อน แล้วอย่าลืม!!บริโภคปลากันมาก มาก เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างแท้จริง