“เปลี่ยนวิถีทำนาอินทรีย์แบบผสมผสาน” สุขที่ยั่งยืน ของ ธวัชร กิตติปัญโยชัย

ธวัชร กิตติปัญโยชัย ชาวนาในพื้นที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม สมาชิกกลุ่มข้าวอินทรีย์สุขใจ เครือข่ายสามพรานโมเดล  เลือกที่จะทำเกษตรแบบผสมผสาน เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำเกษตรเคมี มาสู่ระบบอินทรีย์ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต จนประสบความสำเร็จ  สร้างตลาดเป็นของตัวเอง และกำหนดราคาขายได้เอง สร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับครอบครัว

ในอดีต ธวัชร เคยตกอยู่ในสภาพเดียวกับชาวนาทั่วไปที่ต้องนำผลผลิต เข้าระบบการจำนำ การประกันราคาข้าว ตามมาตรการของรัฐในยุคต่างๆ แม้จะขายข้าวได้ราคา แต่ไม่มีเงินให้เหลือเก็บ เขาจึงเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง หันกลับไปสู่การทำเกษตรแบบผสมผสานด้วยระบบอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ธวัชร เล่าย้อนให้ฟังว่า ในอดีตที่ดินทำกินแห่งนี้เคยปลูกส้มโอทั้งหมด โดยใช้ปุ๋ยและยาเคมีในการผลิต มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ทำให้หน้าดินเสื่อมอย่างหนัก หลังน้ำท่วมใหญ่ในปี2554 ได้เปลี่ยนมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำนาอยู่ตรงกลางแล้วใช้สวนล้อมรอบ เข้าร่วมโครงการสามพรานโมเดล เพื่อเรียนรู้วิถีการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ

การทำนาอินทรีย์ หากไม่มีความมานะ อดทน ประสบความสำเร็จยาก ธวัชร เล่าว่า รอบแรกของการทำนาเจอปัญหาเรื่องวัชพืช เพราะการทำนาหว่านจะไม่สามารถคุมหญ้าได้ ข้าวกับหญ้าจะขึ้นและโตไปพร้อมกัน บางครั้งหญ้าเบียดข้าวจนเล็กแกร็นได้ผลผลิตน้อย  จึงทดลองเปลี่ยนมาทำนาโยน ก็ได้ผลดีเพราะต้นกล้าจะมีความแข็งแรงและต้นพันธุ์โตกว่าหญ้า   เมื่อโยนไปแล้วปล่อยน้ำเข้านา แล้วใช้แหนแดงคลุม แหนแดงจะช่วยปิดแสงไม่ให้หญ้าเติบโตได้ ขณะเดียวกันแหนแดงจะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นปุ๋ยไนโตรเจนชั้นดีให้กับต้นข้าวอีกด้วย

ธวัช บอกว่า หัวใจสำคัญการทำเกษตรอินทรีย์ขั้นตอนการเตรียมดิน ถือว่าสำคัญที่สุด ถ้าดินดี ข้าวก็จะเจริญเติบโตดี ผลผลิตที่ได้ก็จะดี จึงต้องหมักดินกับปุ๋ยคอกให้ได้ที่ก่อน ดูแลกำจัดวัชพืช โดยใช้วิธีหมักสมุนไพร ซึ่งมีส่วนผสมของเหล้าขาว บอระเพ็ด ขมิ้นชัน พริกแห้ง น้ำส้มสายชู นำน้ำไปฉีดพ่นในนาข้าวเพื่อป้องกันเพลี้ย และผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์ขึ้นใช้เองโดยซื้อหัวเชื้อมาเพาะกับข้าวเปลือก  เริ่มจากใช้วิธีหุงข้าวเปลือกแบบดงข้าวแล้วเหยาะเชื้อไตรโคเดอร์มา ลงไปหมักทิ้งไว้  2 วัน  เชื้อจะมีสีเขียว นำข้าวเปลือกมาล้างน้ำ เอาน้ำไปฉีดต้นข้าวทำให้รากข้าวแข็งแรง เมื่อรากแข็งแรงต้นข้าวจะโตและสูง ส่วนข้าวเปลือกก็นำไปใส่โคนต้นอีกที

ปัจจุบัน ธวัชแบ่งที่ดิน 20 ไร่ ทำนาปลูกข้าวหอมปทุม และข้าวไรซ์เบอร์รี่ ส่งขายโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ผ่านโครงการสามพรานโมเดล ในราคาเกวียนละ 18,000 บาท และขายเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่ชาวนาในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ส่วนข้าวไรซ์เบอร์รี่ขายปลีกกิโลกรัมละ 80-100 บาท ภายใต้ชื่อ ผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ “น้ำฟ้า” วางขายที่ตลาดน้ำดอนหวาย อีก 10 ไร่ ล้อมรอบนา ปลูกพืชผสมผสานทั้ง ส้มโอ กล้วยมะนาว  มะพร้าวน้ำหอม ขนุน พืชเหล่านี้ให้ผลผลิตหมุนเวียนตลอดทั้งปี

หากใครสนใจอยากเรียนรู้ เคล็ดลับความสำเร็จการทำนาข้าวอินทรีย์ กับ ธวัชร  กิตติปัญโยชัย และ ชาวนากลุ่มข้าวอินทรีย์สุขใจ เครือข่ายสามพรานโมเดล  สามารถหาคำตอบได้ในงานสังคมสุขใจ “เท่นอกกรอบ…ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สู่ชีวิต ที่ สมดุล” ตั้งแต่ศุกร์ที่ 7 ถึง อาทิตย์ที่ 9 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่ เวลา 09.00-17.00 น. ที่ สวนสามพราน จ.นครปฐม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ โทร 034 322 588-93 หรือติดตามที่ Facebook/สามพรานโมเดล