“เถาวัลย์น้ำตาแม่หม้าย”วัชพืชในสวนส้ม แปรรูปสร้างเงินสร้างอาชีพที่ไม่มีวันเกษียณ

“ เถาวัลย์น้ำตาแม่หม้าย ” เป็นชื่อวัชพืชที่พบได้ทั่วไป ในสวนส้มเขียวหวาน ของพื้นที่อำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ในอดีตเถาวัลย์เหล่านี้ รุกรานพื้นที่การเกษตรอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านพยายามหาทางกำจัดวัชพืชชนิดนี้อยู่เสมอ เพราะเป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ยากแก่การควบคุม

เนื่องจากวัชพืชชนิดนี้ มีความเหนียวมาก ชาวบ้านต้องใช้เรี่ยวแรงค่อนข้างมากในการกำจัด ใช้วิธีดึง ถาง หรือตัดฟันอย่างไร เถาวัลย์ก็ไม่ยอมขาดง่ายๆ มีเรื่องเล่าขานว่า เจ้าของสวนส้มรายหนึ่ง เป็นแม่หม้ายอาศัยอยู่ตัวคนเดียว ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนพวกผู้ชาย เมื่อต้องไปกำจัดเถาวัลย์ในแต่ละครั้งถึงกับร้องไห้น้ำตาตกเพราะทำงานเหนื่อยยากแสนสาหัส กว่าจะตัดฟันเถาวัลย์ให้ขาดลงได้ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ เถาวัลย์น้ำตาแม่หม้าย ” มาจนถึงทุกวันนี้

แปรรูปวัชพืชไร้ค่า… เป็นสินค้ามีราคา

ปี 2537 คุณบัวคลี่ ส่างกันจันทร์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 บ้านใหม่ อ.วังชิ้น ได้นำเถาวัลย์น้ำตาแม่หม้าย มาทดลองประดิษฐ์ เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในครัวเรือน เช่น กระจาด ตะกร้า ถาด กระเช้าผลไม้ ตระกร้าใส่เสื้อผ้า ฯลฯ ปรากฏว่า ขายดิบขายดี เพราะทุกวันนี้ ชาวแพร่ส่วนใหญ่ยังคงรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น คือ ถือตระกร้าไปจ่ายตลาด และใช้ตระกร้าใส่ของไปถวายพระเป็นประจำทุกวัน

จุดเด่นอีกอย่างของตระกร้าเถาวัลย์ คือ สวยงาม ทนทาน มีรูปแบบน่าใช้ จึงเป็นที่นิยมของชาวแพร่ คุณบัวคลี่ได้พัฒนางานหัตถกรรมจากเถาวัลย์รูปแบบใหม่ๆ เน้นกลุ่มสินค้าของตกแต่งบ้าน และผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก เช่น ตระกร้าใส่ขวดไวน์ ถาดผลไม้ รถจักรยาน รถสามล้อ หมวก ผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน ฯลฯ ราคาตั้งแต่หลักสิบไปจนหลักร้อยบาท ปี 2539 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ได้เข้ามาช่วยจัดฝึกอบรมกลุ่มสมาชิกทำหัตถกรรมจากเถาวัลย์ เพื่อพัฒนาฝีมือ รูปแบบ และหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์


ต่อมา ชาวบ้านในชุมชนตำบลวังชิ้นได้รวมตัวกันก่อตั้ง “ กลุ่มจักสานเครือเถาวัลย์บ้านใหม่ “ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเกษตรอำเภอวังชิ้น สำนักงานชุมชนอำเภอวังชิ้นและอุตสาหกรรมจังหวัด มี คุณบัวคลี่ ส่างกันจันทร์ เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งการรวมกลุ่มชาวบ้านในชุมชน ทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้เรื่องการจักสานในวงกว้างมากขึ้น ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่สมาชิกไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท/เดือน

เมื่อเกือบสิบปีก่อน ชาวบ้านหมู่ 1 ตำบลวังชิ้น จำนวน 15 ราย ภายใต้การนำของคุณเอื้อ ทองเสถียรได้ยื่นขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน รหัสทะเบียน 6-540701/1-0014 กับสำนักงานเกษตรอำเภอวังชิ้น เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2549 โดยมีเป้าหมายที่จะใช้วัตถุดิบ ภายในชุมชน นำมาผลิตสินค้าที่เป็นเครื่องจักสานจากเถาวัลย์ จำหน่ายในชุมชน และจำหน่ายให้ผู้สนใจทั่วไป สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ประมาณปีละ 55,000 บาท

มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น

ทุกวันนี้ “ งานจักสานตะกร้าเถาวัลย์ ” ไม่ใช่เป็นแค่อาชีพเสริมรายได้ในช่วงว่างเว้นจากการทำนาหรือทำสวนส้มของเกษตรกรในท้องถิ่นแห่งนี้เท่านั้น แต่กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพราะชาวบ้านพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์โดยถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ลงในงานหัตถกรรมแต่ละชิ้นอีกด้วย เช่น ตะกร้าสำหรับใส่ของไปตลาด พานสำหรับใส่ของถวายพระ เปลนอนเด็กทารก เป็นต้น

สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ มีหลากหลายรุ่น ตั้งแต่วัยชรา วัยทำงาน และวัยรุ่น พวกเขาตั้งหน้าตั้งตาจักสานเถาวัลย์ตามแบบโบราณที่เรียนรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนแล้ว พวกเขายังกระตือรืนล้นที่จะพัฒนาปรับปรุงรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และบ่อยครั้งที่พวกเขาส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปร่วมประกวดแข่งขันในเวทีต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้มีการพัฒนาฝีมือจักสารให้ดียิ่งขึ้นตลอดเวลา

จากการพูดคุยกับสมาชิกกลุ่ม ฯ เราเห็นความตั้งใจมุ่งมั่นของพวกเขาที่จะผลิตสินค้าให้มีคุณภาพดี เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น หนึ่งครอบครัวตัวอย่างที่เห็นได้ในครั้งนี้ คือ ครอบครัว ยายตุ้ม ปิงสอน วัย 70 ปี ที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องงานจักสานให้แก่บุตรสาว คือ คุณวนาลี คนธรรพ์ ได้ใช้สร้างงาน สร้างอาชีพ และ ทายาทรุ่นต่อมาคือ  น้องพุฒิเดช คนธรรพ์ ลูกชายวัย 12 ขวบ ได้เรียนรู้งานจักสาน จากคุณวนาลี ผู้เป็นแม่ด้วยเช่นกัน

การสานตะกร้าเถาวัลย์

เถาวัลย์ที่ใช้จะมีหลายขนาด เส้นขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ จะต้องคัดเลือกให้ได้พอดีและต้องเหลาเส้นใยออกให้เรียบ และการขึ้นรูป เถาวัลย์ให้เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ จะต้องอาศัยความใจเย็น ใช้ความพิถีพิถัน เพื่อให้ได้รูปทรงของผลิตภัณฑ์เถาวัลย์ที่ออกมาสวยงาม การทาสีวานิชเคลือบก็จะต้องทาให้เรียบอย่าให้เกิดฟองอากาศ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เถาวัลย์ที่สวยงาม คงทน มีสีสันสวยงามตามลักษณะธรรมชาติ

การจักสานตะกร้าเถาวัลย์ ต้องเตรียมหาวัตถุดิบและส่วนประกอบต่างๆ เช่น เถาวัลย์ ถังต้มเถาวัลย์ ตะปู กาว มีด กรรไกร เหล็กแหลม น้ำมันวานิช ส่วนเถาวัลย์หากไปเก็บเองตามสวนส้มต่างๆ อาจจะชักช้าไม่ทันกับความต้องการของตลาด เพราะกลุ่มวิสาหกิจฯ ต้องการใช้เถาวัลย์เป็นวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปจำนวนมาก จึงทำให้มีพ่อค้าคนกลางทำหน้าที่รวบรวมเถาวัลย์จากสวนส้มต่างๆ มาขายให้แก่กลุ่มวิสาหกิจฯ ในราคา ก.ก.ละ 60 บาท

เมื่อได้เถาวัลย์ตามที่ต้องการแล้ว ชาวบ้านจะเริ่มขั้นตอนการผลิต โดยนำเถาวัลย์ที่เก็บมาตัดเอาใบออกให้หมด แล้วนำมาขดหรือม้วนเป็นวงกลมเล็กๆให้มีขนาดที่ใส่ภาชนะต้มได้ หลังจากนั้นจะนำมาต้มประมาณ 3-4 ชั่วโมง หรือจนกระทั่งเปลือกเถาวัลย์ยุ่ย ขั้นตอนต่อมา ชาวบ้านจะค่อยๆ ลอกเปลือกและรากออก นำแกนด้านในที่ได้ ล้างน้ำให้สะอาดด้วยสารส้ม แล้วผึ่งแดดจนเถาวัลย์แห้งสนิท ถ้าแดดจัดใช้เวลา ประมาณ 2 วัน

ก่อนจะนำเถาวัลย์มาจักสานให้เป็นผลิตภัณฑ์ ชาวบ้านจะนิยมนำเถาวัลย์มาแช่น้ำก่อนประมาณ 1-2 ชั่วโมงเพื่อให้เถาวัลย์มีความอ่อนตัว ดัดหรือขึ้นรูปได้ง่าย แต่ยังมีความเหนียวอยู่ ไม่เปราะง่ายเมื่อจักสาน แต่อย่าแช่น้ำให้นานมาก เพราะจะทำให้เถาวัลย์มีกลิ่นเหม็น เมื่อจักสานเป็นผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว จึงค่อยนำมาผึ่งแดดให้แห้งสนิท แล้วนำมาชักเงาด้วยวานิชกันความชื้น ไม่ให้ผลิตภัณฑ์ขึ้นราและให้ความแวววาวสวยงาม

คุณยายโชว์ ตะกร้าสาน ที่ตลาดญี่ปุ่นชอบมาก
ถาดผลไม้ หนึ่งในสินค้าขายดี

จาก “วัชพืชไร้ค่าในสวนส้ม” ปัจจุบันกลายเป็นสินค้าโอทอปเด่นของจังหวัดแพร่ ที่สวยงามและน่าทึ่ง หากใครสนใจอยากเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์หัตถกรรมชิ้นงามเหล่านี้ สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่ “ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเถาวัลย์บ้านใหม่ “ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 9809 หมู่ 1 ตำบลวังชิ้น อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ 054 – 588131 , 086 – 9249375