“กฤษฎา” ดันรัฐใช้ยางพาราเพิ่ม ประมูลซื้อสินค้ามียางผสมต้องได้มอก.

“กฤษฎา” รมว.เกษตรฯเรียกประชุมหวังเร่งการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น เตรียมเสนอ ครม.แก้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของสำนักนายกฯ เปิดทางหน่วยงานราชการประมูลซื้อสินค้าที่มีส่วนผสมยางพาราได้สะดวกขึ้น ด้านกรมบัญชีกลางเตรียมเผยสเป็กถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์สัปดาห์หน้า

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการหารือกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กับกลุ่มผลิตหมอน-ที่นอนจากยางพาราว่า เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศจากปัจจุบันที่ใช้อยู่ระหว่าง 400,000-500,000 ตันต่อปี และลดปริมาณการส่งออกยางขั้นปฐมปีละประมาณ 4 ล้านตัน ที่ประชุมจึงมีความเห็นกรณีหน่วยงานของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจที่ใช้สินค้าที่มีส่วนผสมยางพารา แต่ TOR จัดซื้อกลับกำหนดให้สินค้าที่มีส่วนผสมยางพาราดังกล่าวจะต้องได้มาตรฐาน มอก. และการจัดซื้อจะยึดราคาต่ำเป็นหลักนั้น ภาคเอกชนต้องการให้หน่วยงานรัฐเหล่านั้นกำหนดสเป็กช่วยสินค้าที่มีส่วนผสมยางพาราจากในประเทศด้วย

ยกตัวอย่าง สายพานลำเลียงถ่านหินที่ผลิตในประเทศสามารถใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี แต่ราคาแพงจนประมูลขายไม่ได้ ขณะที่สายพานนำเข้ามีอายุใช้งานแค่ 3 เดือน ก็หมดอายุการใช้งาน แต่กลับประมูลหน่วยงานรัฐได้เพราะเสนอขายราคาต่ำ หรือหุ่นยางพาราสำหรับใช้ทำ PCR สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ราคาประมาณ 30,000-40,000 บาท ขณะที่ไทยสามารถผลิตขายได้ในราคาแค่ 6,000 บาท แต่ก็ขายไม่ได้เพราะติดเรื่องสเป็กสินค้า ประเด็นเหล่านี้จึงอยากเสนอให้ ครม.แก้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป

ส่วนกลุ่มผู้ผลิตหมอน-ที่นอนจากยางพารา ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มเกษตรกรถึง 41 กลุ่มให้ข้อมูลว่า สามารถผลิตหมอนยางพาราได้วันละ 4,000 ใบ รวมถึงที่นอนยางพาราด้วย จึงอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี-แม่พิมพ์ใหม่ ๆ ให้ดียิ่งขึ้น มีคุณภาพและน้ำหนักเบาลง ด้านความคืบหน้าในการนำ “น้ำยางสด” ไปผสมสารเคมี-ซีเมนต์ เพื่อทำถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์นั้น ทางกรมบัญชีกลางได้กำหนดราคากลางออกมาที่กิโลเมตรละ 1.2 ล้านบาท โดยในสัปดาห์หน้าจะมีรายละเอียดของการสร้างถนนประเภทนี้ออกมาว่า จะต้องใช้วัสดุอะไร เครื่องจักรกลประเภทไหน เข้ามาดำเนินงาน

“เท่าที่ทราบจะต้องใช้น้ำยางสดประมาณ 12-15 ตันต่อถนน 1 กิโลเมตร หากองค์กรส่วนท้องถิ่นสนใจทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอาจสร้างถนนได้ในราคา กม.ละ 900,000 บาทเท่านั้น”