เยาวชนหมอต้นไม้ รักอย่างเข้าใจ “ต้นยางนา”

ต้นยางนา ต้นไม้หมายเมืองของเมืองเชียงใหม่นะคะ เข้าใจผิดคิดว่าเป็นชัยพฤกษ์ ที่แท้คือต้นยางนาต้นไม้ใหญ่ ต้นยางนา ไม้ที่มีอายุยืนยาวกว่าสองร้อยปีอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง

เชียงใหม่มีถนนสายต้นไม้ใหญ่ สายพิเศษที่ใครๆ ก็รู้จักคือ ถนนสายต้นยางนา

วันนี้จะชวนไปเดินเล่นบนถนนสายต้นยางนากันค่ะ อย่าเพิ่งทำหน้าฉงนสงสัย ไปเดินเล่นได้จริงๆ แต่ต้องระวังรถนิดหนึ่ง เคยมีผู้เสนอว่า อยากให้ถนนสายนี้เป็นถนนสายคนเดิน ที่ไม่ต้องมีรถผ่านเข้ามา ส่วนรถที่ผ่านเข้าออกได้ก็เป็นรถของผู้อาศัยอยู่ในชุมชนเท่านั้น-เรื่องนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นไปได้หรือเปล่า

แต่การชวนไปเดินครั้งนี้ ไม่ได้ไปเดินเล่นเฉยๆ นะคะ ไปดูเด็กๆ ทำกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับต้นยางนากันด้วย กิจกรรมนี้ชื่อว่า…เยาวชนหมอต้นไม้ค่ะ

วันก่อนฉันเห็นประกาศว่า…รับสมัครเยาวชนหัวใจสีเขียว มุ่งมั่น พลังเกินร้อย เข้าอบรมหมอต้นไม้ เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติ

เยาวชนหมอต้นไม้อาสา 15-16 กันยายน 2561 เป็นเยาวชนในพื้นที่ เทศบาลนครเชียงใหม่ หนองหอย หนองผึ้ง ยางเนิ้ง สารภี  และแขวงกาวิละ

เอาละ…ไปดูกันว่าพวกเขาทำอะไรกันบ้าง เด็กๆ กับการเป็นหมอต้นไม้

เราไปที่ถนนสายต้นยางนาใหญ่ที่ยาวเหยียด เมื่อเดินทางมาถึง เห็นพวกเขากำลังปีนป่ายขึ้นต้นยางนา ด้วยบันไดที่พาดกับต้นยางใหญ่ ปลูกต้นเอื้องผึ้งกับต้นไม้…ที่ปีนอยู่นั่นเป็นผู้หญิงแข็งแรงและกล้าหาญ

หมอต้นไม้ต้องมีจิตใจที่ระลึกถึงความปลอดภัยอยู่เสมอ นี่เป็นหัวใจสำคัญของงาน และน้องๆ ก็ป้องกันตัวเองอย่างดีในการปีน อีกทั้งมีพี่ๆ คอยเป็นพี่เลี้ยง และมีเพื่อนๆ เป็นทีมคอยบอก

“กล้วยไม้ที่เอาขึ้นไปชื่ออะไร”

“เอื้องผึ้ง” เด็กๆ ที่เชียร์เพื่อนอยู่ใต้โคนต้นตอบพร้อมๆ กัน คนหนึ่งอธิบายต่อว่า ดอกสีเหลือง จะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน

“ช่วงฤดูร้อน เราจะมาดูกันนะว่ามันจะออกดอกสวยแค่ไหน”

เด็กๆ ตอบตกลง เป็นสัญญากันอย่างมั่นเหมาะ

“น้องๆ ทำอะไรกันบ้าง”

พลอย นักเรียนโรงเรียนสารภีพิทยาคม เป็นคนตอบว่า “วันแรกเข้าฐานการอบรมการเรียนรู้เกี่ยวกับต้นยาง วันนี้ลงมือปฏิบัติจริง เป็นโครงการหมอต้นไม้”

“แบบเข้าค่ายใช่ไหมค่ะ”

“ทำนองนั่นค่ะ ใช้เวลาสองวัน”

“กี่คน”

“สี่สิบกว่าค่ะ”

“เยอะทีเดียว เราจะมีหมอต้นไม้เยอะเลย หมอต้นไม้ต้องทำอะไรบ้าง”

“รับผิดชอบดูแลต้นยางนา เพราะต้นยางนาอยู่หน้าโรงเรียน” เธอตอบ

“รับผิดชอบอย่างไร” ถามต่อ

“ทำอย่างไรให้ต้นไม้ปลอดภัย เราก็มีหน้าที่สอดส่องดูแล แล้วแจ้งเทศบาล แจ้งพี่ๆ เขียว สวย หอม หรือพี่ๆ ที่มาอบรมมาจากแม่โจ้”

พี่ๆ แม่โจ้ คือนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยืนอยู่ใต้ต้นไม้และคอยบอกน้องๆ ให้ปฏิบัติการ

“เรื่องหมอต้นไม้เป็นวิชาเรียนด้วยหรือเปล่า”

หนุ่มคนหนึ่งตอบว่า “ไม่ใช่วิชาเรียนแต่เป็นกิจกรรมอาสา ตอนนี้เราจะพยายามถอนตะปูเดิมออกมาให้หมด เอาตะปูที่ไม่ขึ้นสนิมมาใช้ ตะปูเป็นสนิมทำให้ต้นไม้เกิดโรคได้”

“ตะปูมาจากไหน ป้ายโฆษณาหรือเปล่า มีเยอะไหมที่ตอกเอาไว้”

“ต้นหนึ่งสี่สิบถึงร้อยที่ถูกตอกติดไว้”

“เยอะ…เป็นตะปูขึ้นสนิมทั้งหมด”

เมื่อถามว่า ยางจะล้มบ้างไหม จำได้ว่าเคยมีข่าวล้ม

เขาตอบว่า อยู่ที่สภาพอากาศด้วย ต้องดูแลเช็คสภาพกิ่ง ดูแลระบบรากด้วย

ในช่วงที่สรุปกิจกรรม เยาวชนที่หนองผึ้ง ได้บอกว่า พวกเขาได้รู้ลักษณะของต้นยางมากขึ้น วันที่สองได้เห็นความเจ็บป่วย เช่น เห็นมีตะปูตามต้นยาง พวกเขาคิดว่าน่าจะมีการจัดการประกวดต้นยางหน้าบ้านของแต่ละคนว่าใครดูแลต้นยางนาได้ดี

เยาวชนยางเนิ้ง

สิ่งที่พวกเขาได้ คือ รู้ท่าจากอดีต และสภาพปัจจุบันสภาพของต้นยาง และวิธีการรักษาต้นยาง เช่น มีคนดูแลเอาใส่ใจ ไม่มีตะปู ไม่มีกาฝาก และอยากเห็นคนมาปลูกต้นยางกันอีกครั้ง

เยาวชนสารภี สรุปว่าได้รู้จักข้อดี ข้อเสีย และคิดว่าจะต้องเผยแพร่ให้คนในชุมชนได้รู้ หากพบเห็นปัญหาหรือคนที่จะมาทำร้าย แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เขียว สวย หอม หรือเทศบาล

ส่วนน้องๆ เทศบาลอื่นๆ มีบทสรุปที่น่าสนใจว่า ต้นยางนามีความสำคัญยิ่ง เป็นไม้หมายเมือง ไม้หมายทาง แนวทางในการพัฒนานั้น ต้องสร้างแกนนำ  รณรงค์ให้ความรู้ และประชาสัมพันธ์ในวงกว้างเช่นในโซเชียล

จำนวนต้น สีที่ติดอยู่ตามต้นไม้ รู้ถึงไม้เมือง ไม้หมายทาง แนวทางในการพัฒนา สร้างกลุ่มแกนนำ พี่ๆ เข้ามาอบรมทุกเดือน และทำประชาสัมพันธ์ห้มากขึ้นโดยใช้ออนไลน์ โซเชียล เน็ตเวิร์ค

จบกิจกรรมหมอต้นไม้ ปลูกต้นเอื้องผึ้งกับต้นยางนา เด็กๆ อาจจะไม่ได้เป็นหมอต้นไม้ทุกคน แต่สิ่งหนึ่งคือพวกเขาได้รู้จักและเข้าใจต้นไม้ประจำถิ่นมากขึ้น และพวกเขาจะเป็นนักสื่อเรื่องต้นไม้ เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดีในวันนี้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นมันสมองในส่วนที่ดีในการดูแลบ้านเมืองนี้อย่างเข้าใจ