ยาน ฉางเอ๋อ 4 ทะยานสู่อวกาศแล้ว ภารกิจปลูกมันฝรั่งบนดวงจันทร์ พร้อมจอดฝั่งตรงข้ามโลก 3 ม.ค. 62

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 02:23 น. วันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา ตามเวลามาตรฐานจีน จรวดลองมาร์ช 3 บี ของจีนได้ทะยานขึ้นจากศูนย์ปล่อยจรวดซีฉ่าง สัมภาระที่จรวดลำนี้นำขึ้นไปคือ ยานฉางเอ๋อ 4 โดยยานลำนี้จะไปปฏิบัติภารกิจที่ท้าทายอย่างมาก จนแม้แต่สหรัฐอเมริกาหรืออดีตสหภาพโซเวียตก็ยังไม่กล้าทำ นั่นคือ การนำยานไปลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์

แม้ในอดีตจะมียานไปสำรวจดวงจันทร์ถึงพื้นผิวมาแล้วหลายลำ แต่ทุกลำล้วนแต่ลงจอดดวงจันทร์ที่ด้านใกล้ หรือด้านที่หันเข้าหาโลก ไม่เคยมีลำใดเลยที่ลงจอดด้านไกล ที่ไม่เคยมีคนบนโลกเคยมองเห็น

ยานฉางเอ๋อ 3 ขณะอยู่บนดวงจันทร์ ถ่ายโดยรถอวี่ทู่

 

โดยด้านไกลของดวงจันทร์มีสภาพภูมิประเทศต่างจากด้านใกล้มาก ด้านใกล้ที่ทุกคนคุ้นเคยมีบริเวณที่เป็นที่ราบมาก การเลือกทำเลให้ยานลงจอดก็ทำได้ง่าย ส่วนด้านไกลแทบไม่ปรากฏที่ราบเลย พื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยภูเขาระเกะระกะ พรุนไปด้วยหลุมอุกกาบาต

เครือข่ายการสื่อสารของภารกิจ ฉางเอ๋อ 
(จาก CAST / ISSE)

โจนาทาน แมคโดเวลล์ นักดาราศาสตร์จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิทโซเนียน กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีนในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา เป็นการเดินตามรอยสิ่งที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตทำไว้ตั้งแต่สมัย 40-50 ปีก่อน แต่นี่เป็นครั้งแรกที่จีนจะทำในสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำ โดย
ความยากลำบากของภารกิจนี้ นอกจากจะเป็นสถานที่ที่ไม่เอื้อต่อการลงจอดแล้ว ยังมีเรื่องของการติดต่อสื่อสารกับยาน เนื่องจากตำแหน่งที่ยานจอดมองไม่เห็นจากโลก การสื่อสารโดยตรงกับโลกจึงทำไม่ได้ ในการนี้จีนจึงได้ส่งดาวเทียม เชวี่ยเฉียว ขึ้นไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณระหว่างโลกกับยานลงจอดที่ด้านไกล ตำแหน่งของเชวี่ยเฉียวอยู่ใกล้จุดแอล-2 ซึ่งอยู่ห่างจากดวงจันทร์ออกไป 60,000 กิโลเมตร

โดย ตำแหน่งที่ยานจะลงจอดคือ แอ่งเอทเกน ซึ่งเป็นแอ่งขนาดใหญ่ ใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ แอ่งนี้มีความกว้างถึง 2,500 กิโลเมตร โดยยานฉางเอ๋อ 4 เป็นยานลำที่สองของจีนที่ลงจอดบนดวงจันทร์ ก่อนหน้านี้ในปี 2556 จีนได้ส่งยานฉางเอ๋อ 3 ไปลงจอดดวงจันทร์และปล่อยรถสำรวจชื่อ อวี่ทู่ ออกไปด้วย

 

ภารกิจของยานฉางเอ๋อ 4 มียานลงจอดและรถสำรวจเช่นเดียวกับฉางเอ๋อ 3 รูปร่างของยานทั้งสองชุดก็คล้ายกัน แต่ฉางเอ๋อ 4 มีอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ภารกิจเช่นการศึกษาด้านดาราศาสตร์วิทยุความถี่ต่ำ การตรวจสอบแร่และรังสี ศึกษาคลื่นไหวสะเทือน ศึกษารังสีคอสมิก นอกจากนี้ ยังมีการทดลองฟักไข่ของหนอนไหม และปลูกเมล็ดพืชบางชนิดรวมถึงมันฝรั่ง เพื่อศึกษาว่าพืชมีการเจริญเติบโตอย่างไรในสภาพความโน้มถ่วงบนดวงจันทร์

การส่งยานลงไปสำรวจดวงจันทร์มีอุปสรรคที่ท้าทายเทคโนโลยีอย่างมาก เมื่อเป็นเวลากลางคืน ซึ่งยาวนานสองสัปดาห์ อุณหภูมิจะลดลงต่ำถึง -173 องศาเซลเซียส ส่วนเมื่อถึงเวลากลางวัน ซึ่งยาวนานสองสัปดาห์เช่นเดียวกัน อุณหภูมิก็จะพุ่งสูงได้ถึง 127 องศาเซลเซียส ดังนั้น อุปกรณ์บนยานจะต้องทนต่อสภาพความผันแปรอย่างสุดขั้วนี้ให้ได้ และยังจะต้องสร้างพลังงานเพื่อล่อเลี้ยงยานในช่วงที่เป็นกลางคืนอันยาวนานให้ได้อีกด้วย ภารกิจฉางเอ๋อ 3 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีจีนเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ได้ ยานฉางเอ๋อ 4 ทั้งยานลงจอดและรถมีแผงเซลล์สุริยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงกลางวัน ส่วนเวลากลางคืนจะมีระบบให้ความร้อนด้วยพลูโตเนียม-238 เพื่อรักษาความอบอุ่นให้แก่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

รถสำรวจของฉางเอ๋อ 4 ไม่ได้มีชื่อว่า อวี่ทู่ ขณะนี้ทางจีนกำลังจัดประกวดชื่อของรถลำนี้อยู่ คาดว่าชื่อเพราะจะได้รับการเปิดเผยในเร็วๆ นี้

ในปีหน้าจีนจะส่งยานฉางเอ๋อ-5 ขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์อีก ในภารกิจนี้จะมีการเก็บตัวอย่างดินบนดวงจันทร์และนำกลับโลกด้วย ฉางเอ๋อ 4 เป็นบันไดขั้นหนึ่งที่จะพาจีนไปสู่เป้าหมายที่สูงยิ่งกว่า นั่นคือ การส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์

ขณะนี้ ฉางเอ๋อ 4 กำลังมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ตามเส้นทางที่กำหนดไว้ คาดว่ายานจะไปถึงดวงจันทร์ในวันที่ 3 มกราคม

ที่มา: