ปลูกแห้ว แต่ไม่แห้ว อ.ศรีประจันต์ ปลูกแห้วอินทรีย์ ทำเงินมหาศาล

นางสุวรรณา จิวัฒนไพบูลย์ ผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสุพรรณบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เปิดเผยว่า สุพรรณบุรีเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปี จะมีข้าวใหม่ให้ได้รับประทานกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด คือ แห้วอินทรีย์ ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยได้เห็นและไม่เคยได้รับประทาน เพราะส่วนใหญ่ปลูกกันแบบใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่ง นายสามารถ หนูทอง เกษตรกรบ้านวังพลับใต้ ต.มดแดง อ.ศรีประจันต์ เป็นผู้ที่ปลูกแห้วอินทรีย์รายหนึ่งในจำนวนกว่าสิบราย

“ตอนนี้แห้วดังกล่าว สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว ดังนั้นทางบริษัทประชารัฐฯ และกลุ่มเกษตรกร จะเชิญนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี มาเป็นประธาน เปิดงานงมแห้วอินทรีย์ใน วันที่ 13 ธันวาคมนี้ ที่แปลงแห้วของ นายสามารถ” นางสุวรรณาว่า ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วม เกี่ยว งม ชม ชิม ช็อป ข้าวใหม่ที่หอมนุ่มและแห้วอินทรีย์ ในช่วงเช้าของวันดังกล่าว ที่บ้านวังพลับใต้ ต.มดแดง อ.ศรีประจันต์

นางสุวรรณา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันถือว่าการเพาะปลูกแห้วใน ต.วังยาง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะที่ อ.ศรีประจันต์ ปลูกมากสุดที่ ต.วังยาง เกือบ 3,000 ไร่ รองลงมา ต.มดแดง 2,000 ไร่ และมีพื้นที่ใกล้เคียงที่ปลูกกันอีกบ้างคือ อ.เมือง และ อ. สามชุก รวมเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 5,000 ไร่ มูลค่าผลผลิตนับร้อยล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ใน ต.วังยาง ผลิตหัวพันธุ์แห้วเอง และมีการแลกเปลี่ยนหัวพันธุ์แห้วภายในชุมชน จากเดิมในยุคแรกมีการสั่งซื้อหัวพันธุ์แห้วจากประเทศจีน โดยทำเกษตรหมุนเวียนคือ การใช้พื้นที่นาปลูกพืชหมุนเวียนเปลี่ยนกันแบบไม่ซ้ำตามฤดูกาล เช่น ทำนาข้าว นาแห้วจีน นาเผือก และแปลงมันเทศ

ที่มา : มติชนออนไลน์