เที่ยวสวนแอปเปิ้ล “อินเดีย”

แม้หลายคนจะชอบไปเที่ยวแคว้นจัมมูแคชเมียร์ของอินเดียในยามที่เทือกเขาหิมาลัยปกคลุมไปด้วยหิมะขาวโพลน แต่ต้องขอบอกว่า แคชเมียร์ ช่วงฤดูมรสุมประมาณเดือนกันยายนที่มีฝนโปรยปรายก็สวยงามไปอีกแบบ ที่สำคัญจะได้เห็นภาพวิวทิวทัศน์เห็นบรรยากาศและกิจกรรมนานาชนิดที่ไม่มีโอกาสเห็นในหน้าหนาวอันเย็นยะเยือก

สวนของคุณลุง HAJIAB

แคชเมียร์ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นจัมมูแคชเมียร์ ซึ่งอยู่ทางเหนือสุดของอินเดีย มีชายแดนติดต่อกับปากีสถานและที่ราบสูงทิเบต ประกอบด้วย ดินแดนแคชเมียร์ (ฝั่งอินเดีย) จัมมู และลาดัคห์ โดยในส่วนของแคชเมียร์นั้นมีศรีนาคาเป็นเมืองเอก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเดลี 676 กิโลเมตร เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขาแคชเมียร์ มีระดับความสูง 1,730 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และแม้ตอนนี้จะมีทหารตำรวจเฝ้าประจำอยู่ทั่วเมืองและตามจุดต่างๆ แต่สอบถามผู้เกี่ยวข้องล้วนบอกตรงกันว่า ปลอดภัยดีสงบแล้ว นักท่องเที่ยวไม่ต้องกลัวปัญหาความขัดแย้งในอดีตระหว่างอินเดียกับปากีสถาน

แอปเปิ้ล แคชเมียร์ อร่อยสุดยอด

การไปเยือนแคชเมียร์ ถือว่าคุ้มค่า มีโอกาสชมสวนแอปเปิ้ลถึง 2 สวน ด้วยกัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าแอปเปิ้ลของแคชเมียร์มีรสชาติอร่อยที่สุดในอินเดีย และยังได้ไปดูแปลงปลูกหญ้าฝรั่นที่กำลังลงเมล็ดในแปลงที่เตรียมไว้ นี่ก็ถือเป็นสุดยอดของแคชเมียร์เหมือนกัน พร้อมกับช็อปปิ้งหญ้าฝรั่นแห้งที่แพงแสนแพง คำนวณแล้วราคาพอๆ กับทองเลยทีเดียว (น้ำหนัก 1 กรัม ราคา 200 รูปี)

เด็ดจากต้นแล้วก็คัดใส่กล่องทันที

หลังจากที่กลับจากเมืองกุลมาร์ค ที่นั่นเราได้ไปขึ้นเคเบิลคาร์ นั่งชมทัศนียภาพของขุนเขาน้อยใหญ่ที่วันนี้ไม่มีหิมะเหลืออยู่แล้ว มีแต่หญ้าเขียวขจีและต้นไม้เล็กๆ เท่านั้น บางจุดจะเห็นบ้านพวกยิปซีเป็นหย่อม บ้างก็กำลังจูงฝูงแกะ ฝูงแพะ มาหาหญ้ากิน ตอนขากลับเลยได้แวะสวนแอปเปิ้ลที่อยู่ริมถนน

เส้นทางที่ว่าห่างจากเมืองศรีนาคา 35 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลานานทีเดียว เพราะแม้ถนนส่วนใหญ่จะลาดยาง แต่ก็ไม่ได้กว้างขวาง มีรถสวน และต้องทนฟังเสียงบีบแตรไปตลอด บางช่วงที่ผ่านหมู่บ้านน้อยใหญ่ก็ต้องระวังเด็กและฝูงแพะ ฝูงแกะ ที่มากันเป็นขบวนยาวเหยียด

อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องทนดูดควันพิษจากฝุ่นและฟังเสียงน่ารำคาญจากแตรรถ แต่สองข้างทางที่เต็มไปด้วยสวนผลไม้นานาชนิด ทำให้พวกเราไม่ได้ใส่ใจนัก เพราะต่างกดรูปกันเป็นพัลวัน เนื่องจากเป็นภาพความประทับใจ เป็นภาพที่หลายคนไม่เคยเห็นมาก่อน บางพื้นที่ไม่ได้ปลูกผลไม้ทั้งหมด แต่กันบางส่วนปลูกข้าวโพดร่วมด้วย

Advertisement

ในส่วนสวนผลไม้นั้นมีหลายเจ้า โดยมีป้ายแผ่นเบ้อเริ่มชักชวนให้ผู้สัญจรไปมาแวะเข้ามาชมสวน และแต่ละเจ้าจะนำผลไม้ในสวนมาขายข้างหน้าด้วย

เก็บค่าเข้าสวน คนละ 10 รูปี

Advertisement
พ่อค้าขายแอปเปิ้ลในตลาดศรีนาคา

สวนที่เข้าไปชม เป็นสวนของ “คุณนาซีร์ อาหมัด ปาลา” อายุ 28 ปี สวนแห่งนี้มีพื้นที่เกือบ 8 เอเคอร์ (1 เอเคอร์เท่ากับ 2 ไร่ครึ่ง) ปลูกทั้งแอปเปิ้ล สตรอเบอรี่ และลูกแพร์

เห็นเป็นคนหนุ่มหน้าตาหล่อเหลาสไตล์แขกขาว ไม่น่าเชื่อว่าจะมาทำอาชีพเกษตรกรรม สอบถามแล้วได้ความว่า เขาผู้นี้เป็นครูสอนสกี อยู่ที่กุลมาร์คมาก่อน แม้เจ้าตัวจะไม่ได้เรียนจบมาทางด้านเกษตร แต่สมัยพ่อเคยทำเกษตรมาก่อน และตัวเขาเองเพิ่งซื้อสวนนี้ได้ไม่นานในราคา 5 หมื่นบาท โดยมีต้นแอปเปิ้ลอยู่เกือบร้อยต้น จากนั้นมาเปิดเป็นสวนเกษตรให้นักท่องเที่ยวเข้าชม คิดค่าหัว คนละ 10 รูปี ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ถูกแสนถูก เพราะไม่ถึง 10 บาท ตก 7 บาท เท่านั้น (1 รูปี เท่ากับ 0 .7 บาท ไทย)

เด็ดจากต้น เสีย 50 รูปี

คุณนาซีร์ พอจะพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง แต่ต้องใช้ไกด์ช่วยแปลอีกรอบ เล่าว่า สตรอเบอรี่และแอปเปิ้ลเริ่มออกผลเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม โดยแอปเปิ้ลออกดอกเดือนเมษายน และเก็บผลได้ประมาณเดือนกันยายน ถ้าใครเก็บแอปเปิ้ลจากต้น จะคิดลูกละ 50 รูปี แต่ถ้าซื้อที่ร้าน ขายกิโลกรัมละ 70 รูปี โดยเก็บมาแล้ว 1-2 วัน ซึ่งที่สวนไม่ได้นำแอปเปิ้ลไปขายที่ไหน จะขายเฉพาะที่สวนเท่านั้น

เห็นราคาเด็ดจากต้นถึง 50 รูปี แล้ว ไม่มีใครเด็ดสักคน ได้แต่โพสต์ท่าอ้าปากถ่ายรูปกับลูกแอปเปิ้ลเท่านั้น บ้างก็ขอถ่ายรูปกับหนุ่มเจ้าของสวนไว้เป็นที่ระลึก

ว่าไปแล้วผิดกับการเที่ยวสวนผลไม้ในจังหวัดทางภาคตะวันออกของไทยลิบลับ เพราะแม้จะให้เสียค่าเข้าสวนสูงสุดอย่างมากคนละเกือบร้อยหรือร้อยเศษๆ แต่ก็กินกันจนพุงกาง แถมบางเจ้าไม่หวง ถ้าใครจะขอใส่ถุงไปกินบนรถอีกต่างหาก

ในความเห็นของผู้เขียน ราคาเด็ดจากต้น ลูกละ 50 รูปี คิดเป็นเงินไทย ลูกละ 35 บาท นั้น มองว่าแพงทีเดียว แถมยังไม่มีแอปเปิ้ลสักชิ้นให้ลองชิม

ประเด็นนี้ คุณนาซีร์ ให้เหตุผลว่า เพราะต้องจ้างคนสวนเฝ้าถึง 4 คน จึงมีค่าใช้จ่ายมากในส่วนนี้ แต่นักท่องเที่ยวที่มาส่วนใหญ่ก็ยอมเสียค่าใช้จ่ายในการเด็ดจากต้นทั้งนั้น คนละ 1-2 ลูก ด้วยคิดว่าไหนๆ ก็มาถึงที่แล้ว เลยทั้งเด็ดและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกให้คุ้มค่า

สวนแอปเปิ้ลหลายแห่งอยู่ติดกับนาข้าวที่กำลังออกรวง

คุณนาซีร์ บอกด้วยว่า ในช่วงหน้าแอปเปิ้ลนี้จะมีรายได้จากการเก็บค่าหัวนักท่องเที่ยว ประมาณ 1,000 รูปี ต่อวัน ตกวันละ 100 คน แบ่งเป็นคนอินเดีย 70 เปอร์เซ็นต์ ต่างชาติ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยช่วงฤดูกาลที่คนมาเที่ยวก็แค่เดือนถึงเดือนครึ่งเท่านั้น สวนแห่งนี้ปลูกแอปเปิ้ลถึง 15 พันธุ์ แยกตามสีได้ 4 สี คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง และสีชมพู พันธุ์ที่ดีที่สุดคือ อเมริกัน

สำหรับการบำรุงรักษาต้นแอปเปิ้ลนั้น เขาแจกแจงว่า ใช้สารเคมี 7 ครั้ง ต่อฤดูการผลิต ซึ่งถ้าไม่ใช้สารเคมีผลจะไม่แดง และจะไม่ได้ผลผลิตที่ดี ลูกจะตกเกรด ทำให้ลูกเล็กและมีตำหนิ การปลูกแอปเปิ้ลนั้น 10 ปี ถึงจะออกผล ทั้งนี้วางแผนไว้ว่าปีหน้าจะปลูกแอปเปิ้ลและปลูกเชอรี่เพิ่มขึ้น

ผลไม้มีชื่อของแคชเมียร์

ด้าน คุณอาชราฟ ชีค (Ashraf Sheikh) ไกด์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แต่ละฤดูกาลในแคชเมียร์จะมีผลไม้ออกตลอด อย่างช่วงสปริง ระหว่างเดือนเมษายน-พฤภาคม ช่วงนี้มีเชอรี่ สตรอเบอรี่ และแอปริคอต ส่วนเดือนสิงหาคม มีแตงโม เมล่อน และแอปเปิ้ลบางชนิด เดือนสิงหาคม-ตุลาคม แอปเปิ้ลออกเยอะมากเป็นหลายพันตัน ต้องส่งไปขายทั่วอินเดีย ในแคว้นจัมมูแคชเมียร์นั้น พืชผลไม้ที่มีชื่อและส่งออกด้วยมีทั้ง วอลนัต อัลมอนด์ และหญ้าฝรั่น

เห็นเป็นแอปเปิ้ลลูกเล็ก…เชื่อไหมอร่อยมากซื้อกลับเมืองไทยกันคนละหลายกิโล

คุณอาชราฟ ชีค บอกอีกว่า รายได้หลักของชาวแคชเมียร์อันดับหนึ่งมาจากการท่องเที่ยว อันดับ 2 แอปเปิ้ล ตามด้วยงานหัตถกรรม หญ้าฝรั่น และอุตสาหกรรมพวกเฟอร์นิเจอร์

อีกวันได้ไปเยือนสวนแอปเปิ้ลอีกแห่ง หลังกลับพาฮาลแกม ซึ่งถ้าไปในช่วงหน้าหนาวก็จะเห็นเทือกเขาหิมาลัยขาวโพลนไปด้วยหิมะ ระหว่างทางจากศรีนาคาไปพาฮาลแกมนั้น ผ่านทุ่งนาเหลืองอร่ามบางแปลงก็เป็นสีเขียวตัดกับภูเขาสีฟ้าสีน้ำเงินสวยงามยิ่งนัก บางช่วงฝนตกเป็นหมอกจางๆ ถ่ายรูปออกมาก็สวยไปอีกแบบ

เส้นนี้จะมีสวนแอปเปิ้ลและสวนผลไม้เยอะกว่าถนนที่ไปยังกุลมาร์ค พวกเราได้เห็นและได้สัมผัสต้นวอลนัทต้นใหญ่ที่มีอยู่ทั่วไปทั้งในจุดที่รถวิ่งผ่านและจุดที่พวกเราลงไปเที่ยมชม บางหมู่บ้านก็ได้เห็นชาวบ้านกำลังเก็บผลมันอยู่ บ้างก็กำลังบรรจุใส่กระสอบ นักข่าวบางคนเดินผ่านต้นวอลนัทยังเก็บลูกมันมาไม่รู้เก็บมาเป็นที่ระลึกหรือจะนำมาปลูกในเมืองไทย

ปลูกแอปเปิ้ล มาหลายชั่วอายุคน

คุณนาซีร์ อาหมัด ปาลา หนุ่มเจ้าของสวนแอปเปิ้ล

สวนแอปเปิ้ลที่แวะไปคุยด้วยนั้น เป็นสวนของ คุณลุง HAJIAB AZIZ KHANDAY อายุ 65 ปี และลูกชาย IMTIYGZ AHMAD KHANDAY อยู่ที่หมู่บ้าน HUGAM ใครจะเข้าไปชมสวนก็ได้ ไม่ต้องเสียค่าเข้าชมแต่อย่างใด เจ้าของสวนใจดีจริงๆ หวังแค่เข้ามาแล้วซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเท่านั้น

ส่วนนี้ มีเนื้อที่ 7 เอเคอร์ สวนนี้ทำกันมาหลายรุ่นแล้ว ตอนนี้เป็นรุ่นที่ 7 โดยปลูกแอปเปิ้ลอย่างเดียว ปลูกทั้งหมดมี 4 พันธุ์ มีดิลิเชียส โกลเด้น อเมริกัน R&D โดยปลูกจำนวน 35 ต้น ต่อ 1 เอเคอร์ การปลูกนั้นจะนำเมล็ดมาเพาะ เมื่อต้นโตจะนำมาทาบกิ่ง ซึ่งแอปเปิ้ลใช้เวลาออกดอกจนเป็นผลประมาณ 6 เดือน โดยแอปเปิ้ลต้นหนึ่งๆ จะให้ลูกประมาณ 50-60 กิโลกรัม

ในส่วนการเก็บผลนั้น หากภูมิอากาศดีๆ จะได้ 600 กล่อง 1 กล่อง หนัก 16-18 กิโลกรัม ผลผลิตที่ได้จะขายในแคชเมียร์ก่อน แต่ส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ จะส่งไปขายที่อื่น สำหรับราคาขายนั้น ถ้าขายที่สวน กิโลกรัมละ 50 รูปี แต่ถ้าไปซื้อในเมืองศรีนาคาราคาจะขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 80 รูปี ในฤดูการผลิตหนึ่งๆ จะมีรายได้ประมาณ 400,000 รูปี

เหตุจำเป็นต้องใช้สารเคมี

สอบถามวิธีการดูแลรักษา คุณลุงท่านนี้เล่าว่า เมื่อเริ่มออกลูกจะพ่นสเปรย์ตัวยาทั้งสวนเพื่อป้องกันแมลง พร้อมกันนี้ก็ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านคือขุดดินรอบต้นเพื่อให้มีอากาศที่ผิวดิน ซึ่งจะทำให้มีผลผลิตมากขึ้น ทั้งนี้การพ่นสารเคมี จะพ่น 4-5 ครั้ง ต่อฤดูการผลิต ความจริงไม่ค่อยอยากจะใช้สารเคมีมากนัก แต่ถ้าไม่ใช้ก็จะได้ผลผลิตไม่ดี จึงไม่คิดจะเลิกใช้ อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีที่นี่ไม่ใช่ทำเพื่อให้ผลแดง แต่ต้องการป้องกันแมลงเท่านั้น และจะพ่นช่วงมีลูกเพื่อไม่ให้แมลงเจาะ โดยจะพ่นก่อน 1 เดือน ที่จะเก็บผลผลิต

ช่วงที่ไปเยือนสวนแอปเปิ้ลของคุณลุงท่านนี้ สมาชิกในครอบครัวนี้ทั้งลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลานๆ กำลังบรรจุแอปเปิ้ลลูกหน้าตาน่ากินใส่กล่อง พวกเราเลยได้ถ่ายรูปกันยกใหญ่ ทั้งที่อยู่ในต้นและที่ถูกบรรจุใส่กล่องเรียบร้อยแล้ว แต่ทางภาครัฐการเกษตรของแคชเมียร์ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ สอนวิธีการทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตมากขึ้น

คุณลุง HAJIAB เล่าว่า ในส่วนต้นแอปเปิ้ลส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 50-60 ปี แต่บางต้นอาจจะมีอายุ 15 ปี เท่านั้น ซึ่งการปลูกและบำรุงรักษาแอปเปิ้ลช่วงนี้ (เดือนกันยายน) ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเท่ากับช่วงหน้าหนาวหิมะตกที่จะต้องถึงขั้นทำไม้ค้ำกิ่งไว้ ช่วงนั้นต้องตัดกิ่งทั้งหมดเพื่อไม่ให้หิมะลงมาทับ กิ่งจะได้ไม่หัก ทั้งนี้การปลูกแอปเปิ้ลหลายชนิด ไม่มีพันธุ์ไหนยากเป็นพิเศษ การดูแลรักษาเหมือนกันหมด

แอปเปิ้ลลูกดกที่สวนของคุณนาซีร์ อาหมัด ปาลา

แม้จะมีประสบการณ์การปลูกแอปเปิ้ลมายาวนานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แต่คุณลุงก็อยากจะให้ภาครัฐที่ดูแลงานเกษตรของแคชเมียร์ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องวิชาการ โดยเฉพาะสอนวิธีการทำอย่างไร ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น (อันนี้ไม่รู้จะได้ผลประการใดเพราะเป็นเรื่องภายในประเทศ)

มาถึงคำถามสุดท้ายเชื่อว่า หลายคนคงอยากรู้ว่า แกปลูกแอปเปิ้ลเป็น รุ่นที่ 7 แล้ว เคยกินและเปรียบเทียบรสชาติแอปเปิ้ลที่สวนกับแอปเปิ้ลของประเทศอื่นบ้างหรือไม่ อย่างแอปเปิ้ลของจีน คุณลุงบอกอย่างไม่ต้องคิดให้เสียเวลาว่า เคยกินแอปเปิ้ลจากประเทศอื่นเหมือนกัน แต่ของแคชเมียร์อร่อยกว่า ตอบแบบนี้ ยกนิ้วโป้งให้เลย