กุ้งไทย ปี 2561 สาหัส อากาศแปรปรวนถล่มเกือบทุกพื้นที่ทำผลผลิตลด โรครุม คาดปีนี้ได้ผลผลิต 2.9 แสนตัน ส่งออกแค่ 1.8 แสนตัน

ดร. สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงผลผลิตกุ้งไทย ปี 2561 ว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงไทยโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนตัน ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 3 โดย ร้อยละ 33 มาจากภาคใต้ตอนล่าง ร้อยละ 29 จากภาคใต้ตอนบนคือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และระนอง จากภาคตะวันออก ร้อยละ 24 และ ร้อยละ 14 จากภาคกลาง ซึ่งผลผลิตที่ลดลงเล็กน้อยมาจากสภาพแปรปรวน เกิดโรคตามมาและราคากุ้งตกต่ำ

ส่วนผลผลิตทั่วโลก คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 ถือเป็นปีที่หลายประเทศ เช่น เอกวาดอร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย ผลผลิตกุ้งเลี้ยงเพิ่มขึ้นมาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคากุ้งในประเทศ

สำหรับการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค.-ต.ค. ปีนี้ ปริมาณ 1.43 แสนตัน มูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าปีนี้จะส่งออกประมาณ 1.8 แสนตัน มูลค่า 5-5.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ปี 2562 คาดว่า จะส่งออก 2 แสนตันมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท

“ไทยต้องปรับกลยุทธ์กุ้งในปี 2562 ใหม่ จากที่ปล่อยลูกกุ้ง P ลงเลี้ยง ควรนำมาอนุบาลต่ออีก 25-30 วัน เพื่อให้การเลี้ยงในบ่อดินสั้นลง กุ้งมีขนาดใหญ่ขึ้น จะได้ไม่ต้องแข่งขันกันในตลาดกุ้งไซซ์เล็กที่แข่งขันด้านราคากันหนักกับเวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย ที่มีต้นทุนค่าแรงต่ำกว่าไทย เห็นได้จากตลาดสหรัฐอเมริกา 10 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งเข้าไป 4.07 หมื่นตัน ลดลง ร้อยละ 35 มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ลดลง ร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปี 2560 และไทยต้องผลิตกุ้งคุณภาพ จึงจะสู้กับคู่แข่งได้ ซึ่งที่ผ่านมาเรามีจุดแข็ง กุ้งที่ส่งออกแทบไม่เจอเชื้อโรคและยาปฏิชีวนะตกค้าง”

นายสมชาย ฤกษ์โภคี เลขาธิการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า สถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนบน ในภาพรวมไม่ค่อยดีมากนัก มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผลผลิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสภาพอากาศทั่วทุกภาคมีฝนตกเกือบตลอดปี อากาศแปรปรวนตลอดเวลา ทำให้การเลี้ยงค่อนข้างยาก โรคไวรัสตัวแดงดวงขาวและขี้ขาวยังคงรุมเร้าทุกพื้นที่การเลี้ยง ผลผลิตรวมของภาคใต้ตอนบนอยู่ที่ประมาณ 8.4 หมื่นตัน โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประมาณ 4 หมื่นตัน ปริมาณมากที่สุด