รมช. ลักษณ์ เปิดงาน “วันยางพาราบึงกาฬ 2562” ประกาศเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมติ ครม. ใน 3 โครงการสำคัญ

รมช. ลักษณ์ เปิดงาน “วันยางพาราบึงกาฬ 2562” แจง กระทรวงเกษตรฯ มุ่งดำเนินโครงการ ตามมติ ครม. ใน 3 โครงการสำคัญ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดงานวันยางพาราบึงกาฬ ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด “บึงกาฬ ศูนย์กลางยางพารา เศรษฐกิจก้าวหน้า การค้าก้าวไกล” ณ ที่ว่าการอำเภอบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ว่า การจัดงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการค้ายางพาราภาคอีสาน และศูนย์กลางการค้ายางพาราของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการจัดงานดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่

1. “สนับสนุน” ให้เกิดการผลิต การแปรรูป และการวิจัยอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราในจังหวัดบึงกาฬ

2. “ผลักดัน” การค้าขายและการลงทุนของอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

3. “ส่งเสริม” การท่องเที่ยวในจังหวัดเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างแหล่งรายได้เสริมให้กับพี่น้องชาวบึงกาฬ อีกทั้งเสริมศักยภาพของเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อตอกย้ำการเป็นเมืองศูนย์กลางยางพาราของภาคอีสานที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัทและอุตสาหกรรมการค้ายางพาราจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมจัดแสดงนิทรรศการและนวัตกรรมยางพารา ในโซน China Pavilion อันเป็นการต่อยอดธุรกิจยางพาราของบึงกาฬ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจการค้ายางพารา สู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราของภาคอีสาน และที่สำคัญคือเป็นการเปิดประตูการค้าระดับนานาชาติด้วย

นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า  บึงกาฬ เป็นจังหวัดทางภาคอีสานของประเทศที่มีศักยภาพและมีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุด ทั้งมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นหนึ่งในเมืองอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศได้ไม่ยาก เพราะทุกภาคส่วนต่างมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนายางพาราทั้งระบบ ปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์ราคายางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง แต่จะเห็นได้ว่าจังหวัดบึงกาฬ ได้บูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนภายในจังหวัดตามแนวนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เช่น การสร้างถนนยางพาราแอสฟัลติก (Para asphaltic) ในการอำนวยความสะดวกทางด้านการคมนาคมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาทิ ที่นอน หมอนยางพาราในโรงพยาบาล และหน่วยงานราชการ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ป่วย ครอบครัว และคนใกล้ชิด เป็นต้น นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนในจังหวัดยังช่วยกันขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการลงนามบันทึกข้อตกลงการส่งเสริมใช้ยางในประเทศ และการจับมือค้าขายกับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องราคายางพาราอย่างเต็มที่ในทุกมิติ และถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีความยั่งยืน

สำหรับสถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบันและแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในภาพรวม ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีข้อสั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยร่วมมือกับประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ภายใต้ความตกลงของสภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ ดำเนินควบคุมปริมาณการส่งออกยางพารา จำนวน 350,000 ตัน ตามโครงการ Agreed Export Tonage Scheme ในช่วงเดือน ม.ค. ถึงเดือน มี.ค. 2561

การลดพื้นที่กรีดยางพารา ตามโครงการ Supply Management Scheme จำนวน 496,000 ไร่ ในช่วงเดือน ต.ค. 2560 – ก.ย. 2561 และการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ ตามโครงการ Demand Promotion Scheme เช่น ให้หน่วยงานภาครัฐนำยางพาราไปผลิตอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการใช้งาน การสร้างถนนยางพารา การส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนชาวต่างประเทศในการผลิตล้อยางและผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดทำโครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวม แปรรูป และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราอีกหลายโครงการ และในช่วงกลางปี 2561 นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมให้แก่กรมชลประทาน จำนวน 3,500 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดสร้างถนนยางพาราในเขตพื้นที่ชลประทาน ทั้งประเภทถนนลาดยางมะตอยผสมยางพารา (Para asphaltic concrete) และถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา (Para Soil Cement) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสามารถนำยางพาราไปใช้ประโยชน์เพื่อการนี้ได้

อีกทั้งได้จัดสรรงบประมาณให้แก่ กยท. และกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 1,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ชาวสวนยางรายย่อยกระจายความเสี่ยงด้วยการปลูกพืชหรือเลี้ยงปศุสัตว์ในสวนยาง เพื่อเสริมรายได้ตามข้อเสนอของกลุ่มชาวสวนยางรายย่อย ซึ่งถือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มุ่งสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืนทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกหลายประการ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกในภาพรวมชะลอตัวลง มีสงครามทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นคู่ค้าและนำเข้ายางพาราจากประเทศไทย และราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน เข้ามาซ้ำเติมในช่วงปลายปี ทำให้สถานการณ์ราคายางพารายังไม่ดีขึ้น นายกรัฐมนตรี จึงได้เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 รวม 3 โครงการ ได้แก่

1. โครงการช่วยเหลือและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวสวนยาง วงเงิน 17,512 ล้านบาท โดยจ่ายเงินช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพของเกษตรกรชาวสวนยางตามพื้นที่เปิดกรีดจริง ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ (กรณีมีคนกรีดยาง แบ่งเป็น เจ้าของสวนยาง 1,100 บาท ต่อไร่ และคนกรีดยาง 700 บาท ต่อไร่) เริ่มดำเนินการในเดือนธันวาคม 2561

2. โครงการสินเชื่อสนับสนุนการส่งออกยางพาราของสถาบันเกษตรกร วงเงิน 5,000 ล้านบาท และ

3. โครงการสร้างถนนยางพาราในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า 75,032 หมู่บ้าน 7,200 ตำบล และสร้างถนนคันคลองชลประทานใน 53 จังหวัด โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำรายละเอียดโครงการและงบประมาณเพื่อขออนุมัติต่อไป ซึ่งในปัจจุบันกรมทางหลวงได้จัดทำข้อกำหนด หรือ Spec. ของถนนท้องถิ่นดังกล่าวและกรมบัญชีกลางได้กำหนดและประกาศวิธีการกำหนดราคากลางเรียบร้อยแล้ว

“ผมมีความเชื่อมั่นว่า ยางพารายังคงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ และเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น สงครามทางการค้าคลี่คลาย และราคาน้ำมันมีเสถียรภาพ สถานการณ์ราคายางพาราจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน จึงขอให้พี่น้องชาวสวนยางอดทนและมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลว่าจะดูแลแก้ไขปัญหาอย่างเต็มความสามารถ” นายลักษณ์ กล่าวในที่สุด