บรรจุภัณฑ์จากกาบหมาก ไอเดียเพื่อสิ่งแวดล้อม

คุณจันทิมา พิพิธสุนทร หรือคุณหวาน วัย 29  ปี ดำเนินการในรูป บริษัทบีกรีนนิ่ง จำกัด โดยให้คำจำกัดความว่า เป็นบรรจุภัณฑ์กาบหมากเพื่อสิ่งแวดล้อม

คุณหวาน เล่าให้ฟังว่า เธอเรียนจบสาขาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีแนวคิดเริ่มต้นมาจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการคัดแยกขยะ ทำมาตั้งแต่ ปี 2011 คัดแยกขยะ ได้รับทุนสนับสนุนจากบริติชเคาท์ซิล (องค์กรระหว่างประเทศที่มีต้นกำเนิดในสหราชอาณาจักร ตั้งขึ้นเพื่อความร่วมมือด้านโอกาสทางการศึกษา และศิลปวัฒนธรรมกับนานาประเทศ)


“เราเห็นปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำกิจกรรมนี้ ซึ่งมองว่า ไม่ใช่มีแต่พลาสติกเท่านั้นที่เราสามารถนำมาใช้ได้ แต่มีวัสดุอีกมากมาย ที่นำมาใช้ได้ บางอย่างผ่านภูมิปัญญามาอย่างยาวนาน โดยก่อนหน้านี้ เราหาวัสดุหลากหลาย แต่พบว่า กาบหมาก มีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากที่เราไปดูองค์ความรู้ ก็มีการนำไปห่อข้าว ก็มีความคงทน ก็ขึ้นรูปได้เลย แต่ถ้าเป็นใบตอง อาจจะซ้อนกันหลายใบ และผ่านหลายขั้นตอน”

คุณหวาน ว่า ภาชนะจานมีอายุการใช้งานสั้น ดังนั้น การที่จะหาวัสดุสักอย่างมาทำ ก็ควรทำได้ง่าย ไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอน อย่างกาบหมาก ก็แค่นำมาล้างด้วยน้ำสะอาด ขึ้นรูปด้วยความร้อน 100-120 องศาเซลเซียส ก็ใช้ได้เลย อีกทั้งเธอยังพยายามรักษาความสวยงาม คงความเป็นธรรมชาติ เพื่อให้คนได้เห็น

ปัจจุบัน ภาชนะกาบหมาก เริ่มทำในเชิงการค้า มีโรงงานผลิต ผลิตตามความต้องการของลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมและร้านอาหาร ที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์องค์กรในเรื่องสิ่งแวดล้อม


สำหรับ ตัวอย่างราคา ภาชนะจากกาบหมาก
จานกาบหมาก ขนาด 8 นิ้ว ราคาประมาณ 10-12 บาท // ขนาด 10 นิ้ว ราคา 12-14 บาท //ถ้วยน้ำจิ้ม 4 นิ้ว 5-7 บาท

ซึ่งจริงๆ แล้ว แพงกว่า โฟม หรือ พลาสติก 7-8 เท่า แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เนื่องจากเจ้าของไอเดียโฟกัสไปที่ ลูกค้าที่ต้องการการใช้งานเพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กร เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร

ส่วน วัตถุดิบ ไปรับซื้อจากชาวสวน จังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ เนื่องจากโรงงานอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อไม่ให้เกิดภาระต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบที่มากเกินไป

“เนื่องจากกำลังการผลิตของเรายังไม่มาก ดังนั้น จึงยังไม่ได้วางขายในห้างสรรพสินค้า หรือโมเดิร์นเทรด ส่วนใหญ่ขายผ่านออนไลน์ บนหน้าเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก และออกงานอีเว้นต์ ไปกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า”

คุณหวาน ว่า ระหว่างที่ทำโครงการนี้ ก็มีโอกาสได้เข้าพัฒนาความรู้ การทำธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งนอกจากจะมองในเรื่องธุรกิจ เงินๆ ทองๆ แล้ว ยังต้องเทน้ำหนักไปเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อมอีกด้วย และคาดว่าธุรกิจแนวนี้ จะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.begreeningware.com หรือที่ เฟซบุ๊ก Begreening