ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นสถาบันที่มีความพร้อมในเรื่องงานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น จึงได้มี โครงการ “ต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL” (The KMITL organic agriculture model) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ของการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้ในเรื่องนี้
ผศ.ดร. สุพัตรา โพธิ์เอี่ยม อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าโครงการต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL ให้ข้อมูลว่า การจัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมานั้น เกิดจากการพัฒนาสารชีวภัณฑ์ เพื่อนำมาใช้ในการกำจัดแมลงและโรคพืชต่างๆ เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งสารชีวภัณฑ์ที่นำมาใช้เกิดจากงานวิจัย ของ รศ.ดร. เกษม สร้อยทอง ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยนำสารชีวภัณฑ์มาป้องกันการเกิดโรคพืชต่างๆ พร้อมทั้งมีการพัฒนางานวิจัยขึ้นมาเรื่อยๆ ดังนั้น ทางสถาบันฯ เห็นถึงความพร้อมในทุกด้าน จึงได้ทำแปลงต้นแบบของการปลูกพืชในระบบอินทรีย์ขึ้น
“เนื่องจากสถานศึกษาของเราได้รับมอบพื้นที่ในตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 600 ไร่ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ จึงได้เกิดแนวความคิดที่อยากจะดำเนินโครงการที่เป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ขึ้นมา เพื่อให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงาน ในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร พร้อมทั้งนำงานวิจัยและเทคโนโลยีของเราที่มีอยู่ มาปรับใช้ในการทำงานครั้งนี้ และที่สำคัญยิ่งขึ้นไป เรายังมีการพัฒนาผลงานวิจัยเหล่านี้ต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง” ผศ.ดร. สุพัตรา กล่าว
ซึ่งการทำแปลงเกษตรอินทรีย์ผลผลิตที่ได้ออกมาทั้งหมด ผศ.ดร. สุพัตรา บอกว่า จะเริ่มปรับเปลี่ยนส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาในสถาบัน ได้สนใจในเรื่องของการใส่ใจสุขภาพ หันมาดูแลอาหารด้วยการรับประทานผักที่ปลูกในระบบอินทรีย์ และต่อไปจะมีการขยายสินค้าออกไปเรื่อยๆ โดยการมีศูนย์จำหน่ายผลผลิตให้กับผู้ที่สนใจมาเลือกซื้อได้ที่ช็อปภายในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ในเรื่องของขั้นตอนการผลิตผักนั้น ผศ.ดร. สุพัตรา เล่าว่า เป็นสิ่งที่ทางโครงการหรือผู้ปฏิบัติงานทุกคน มีความใส่ใจและตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะผลิตพืชผักและวัตถุทางการเกษตรต่างๆ ออกมา ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานการทำเกษตรแบบอินทรีย์ โดยตั้งแต่การเตรียมดินปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว จะไม่มีการใช้สารเคมีทุกขั้นตอน ดังนั้น ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าผลผลิตที่ได้ปลอดภัยจากสารเคมีแน่นอน
“การทำเกษตรอินทรีย์ เรื่องสารเคมีต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด ดังนั้น ตั้งแต่การไถเตรียมแปลงปลูก ไปตลอดช่วงการดูแลในเรื่องของการปลูกจนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เราจะไม่มีการนำสารเคมีเข้ามาใช้ อย่างช่วงของการเตรียมแปลง ถ้าพบเห็นหญ้าหรือวัชพืชต่างๆ ขึ้นภายในแปลง จะเน้นใช้แรงงานคนหรือเครื่องตัดหญ้าเข้ามาช่วยเป็นหลัก รวมทั้งมีการจัดการเรื่องของระบบน้ำที่ดี ก็จะช่วยในเรื่องของการป้องกันวัชพืชได้ดีอีกด้วย” ผศ.ดร. สุพัตรา กล่าว
ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชอื่นๆ นอกจากการนำสารชีวภัณฑ์ที่เป็นผลจากการวิจัยก่อนหน้านี้มาใช้แล้ว ยังมีการต่อยอดและทำงานวิจัยอยู่ตลอดเวลา โดยทั้งอาจารย์และนักศึกษาภายในสถาบันฯ เป็นผู้ทำงานวิจัยเพื่อรองรับงานด้านโรคพืชต่างๆ ที่อาจมาทำลาย หรือก่อความเสียหายต่อพืช และเพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง แบบบูรณาการโดยใช้บุคลากรจากหลายคณะที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยกันทำงานวิจัย
จากองค์ความรู้และเทคโนโลยีทุกด้านที่มีอยู่ ในการทำเกษตรอินทรีย์ต้นแบบนี้ ผศ.ดร. สุพัตรา บอกว่า ที่เหลือก็เป็นระยะเวลาสร้างความเชื่อมั่นของเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจอยากจะปรับเปลี่ยนการทำเกษตร จากเดิมที่มีการใช้สารเคมีมาสู่กระบวนการเกษตรแบบอินทรีย์ ว่าสามารถให้ผลผลิตที่ดีและจำหน่ายได้ราคา
“บางครั้งคนมองว่าการทำเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ผลตอบแทนที่ได้อาจจะไม่ได้ดี แต่สิ่งแรกของผู้ที่ทำเกษตรอินทรีย์ได้รับ คือปัจจัยเรื่องสุขภาพของตัวเขาเอง เพราะจากที่เราเห็นเกษตรกรหลายพื้นที่ ได้มองเห็นถึงความสำคัญของเรื่องสุขภาพมากขึ้น จึงได้มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชแบบไม่ใช้สารเคมีหลายราย และมีการผลิตพืชผักแบบอินทรีย์ ทำให้มีบริษัทที่จำหน่ายสินค้าเหล่านี้ เข้ามารับซื้อผลผลิตถึงฟาร์ม พร้อมทั้งให้ราคาดี สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าพืชผักแบบที่ปลูกแบบเดิม รวมทั้งมีการวางแผนการผลิตที่ชัดเจน ทำให้สินค้าที่ผลิตไม่ออกมาล้นตลาด สามารถจำหน่ายได้ราคาอีกด้วย” ผศ.ดร. สุพัตรา กล่าว
ในเรื่องของการปลูกผักเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้า หรือผู้ที่สนใจอยากปลูกผักในระบบอินทรีย์ ผศ.ดร. สุพัตรา แนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องเน้นพืชผักที่ผลิตเป็นสายพันธุ์ที่ยุ่งยาก โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังนิยมรับประทานผักที่เรียบง่ายและนำมาประกอบอาหารได้ในชีวิตประจำวัน เช่น คะน้า ผักบุ้งจีน ถั่วฝักยาว และอื่นๆ อีกหลายชนิด ดังนั้น ที่แปลงแห่งนี้จึงปลูกพืชให้ตรงกับความต้องการของตลาด จึงทำให้สามารถจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรได้ตลอดเวลา ไม่มีสินค้าล้นตลาดจนเกิดสภาวะขาดทุน
“อย่างที่ศูนย์เรียนรู้ของเรา ในเรื่องของผลผลิตที่มี ก็จะมีบางส่วนเป็นลูกค้าจากบริษัทต่างๆ เข้ามาติดต่อขอซื้อ และบางส่วนเราก็จะแบ่งไปขายในช็อปที่อยู่ภายในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ก็จะเน้นเป็นพืชผักที่สามารถทานได้ง่ายๆ ทานได้เรื่อยๆ แบบนี้ก็เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้น สำหรับท่านใดที่มีพื้นที่ว่างและต้องการทำการเกษตรในรูปแบบนี้ ก็สามารถผลิตสินค้าแบบง่ายขายในชุมชน เพื่อให้ทุกคนได้รู้ถึงการปลูกว่า ระบบอินทรีย์ดียังไง ทานแล้วจะได้รับประโยชน์แบบไหน ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและซื้อพืชผักต่อเนื่อง และที่สำคัญได้ราคาดีอย่างแน่นอน” ผศ.ดร. สุพัตรา แนะเรื่องการทำตลาด
ทั้งนี้ ใครที่สนใจในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังไม่รู้วิธีการและต้องการศึกษาองค์ความรู้ ผศ.ดร. สุพัตรา บอกว่า สามารถติดต่อเข้าศึกษาดูงาน หรือเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรได้ที่แปลงต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL ตั้งอยู่ที่ ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี จะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำกับผู้ที่สนใจเข้ามาชมการปลูกพืชในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ของตนเอง อย่างน้อยถ้ายังไม่ได้เน้นทำเพื่อจำหน่าย ก็สามารถปลูกรับประทานเองที่บ้าน ช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนและได้วัตถุดิบที่ปลูกด้วยตนเองมาปรุงอาหาร พร้อมทั้งได้มีกิจกรรมยามว่างทำหลังจากเลิกงานประจำ เมื่อผลผลิตมีมากพอ สามารถจำหน่ายเป็นอาชีพเสริมมีรายได้อีกด้วย
หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งผู้ที่สนใจอยากเข้าศึกษาดูงานแปลงต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 09 2312 6499