หอการค้าเมืองร้อยเกาะ ลุยปั้น”ไชยาซิตี้ โมเดล”ปลุกศก.ยาง-ปาล์ม-กุ้ง-ท่องเที่ยวฟื้นแล้ว

สัมภาษณ์พิเศษ

ปีระกา 2560 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของเมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ เพราะนอกจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศในช่วงปลายปีหน้าซึ่งจะมีแขกบ้านแขกเมืองจาก77จังหวัดมาเยือนนับพันคนแล้วยังจะเป็นปีที่หอการค้าสุราษฎร์ฯจะโหมโรงทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะการร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อร้อยเรียงจุดแข็ง-จุดขาย ปลุกเศรษฐกิจเมืองนี้ให้คึกคักมีชีวิตชีวา

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษทีมผู้บริหารหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำโดย “ธีระชัย ศรีโพธิ์ชัย” ประธานหอการค้าฯ “ไชยกฤต เอื้อกฤดาธิการ”เลขาธิการหอการค้าฯ “พีระพล นันทวงษ์” รองประธานฝ่ายบริหาร “สมชาย สินมา” รองประธานฝ่ายท่องเที่ยวและกีฬา และ “ธีระพล ตัณโชติกุล” รองประธานฝ่ายเกษตร ได้ร่วมกันให้ข้อมูลและฉายภาพทิศทางการพัฒนาเมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0

ทีมผู้บริหารหอการค้าเมืองร้อยเกาะกล่าวด้วยความภูมิใจว่า ปีนี้สุราษฎร์ธานีได้รับการจัดอันดับเป็นจังหวัดที่มีความสุขมากที่สุดในประเทศไทย เพราะเรามีศักยภาพทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีของดีครบครันทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ แหล่งดำน้ำระดับโลก มีซี-แซนด์-ซัน-เซอร์วิสไมนด์-ซีฟู้ด (Sea-Sand-Sun-Service mind-Seafood) และสถานการณ์ธุรกิจในปี 2560 ก็มีแนวโน้มที่ดี ผู้คนเริ่มที่จะปรับตัวหลังจากที่เจอภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงมั่นใจว่าปีหน้าทุกอย่างจะดี

14823178001482317882l

สมชาย สินมา, ธีระพล ตัณโชติกุล, ธีระชัย ศรีโพธิ์ชัย, ไชยกฤต เอื้อกฤตดาธิการ

เมืองหลวงภาคใต้ตอนบน

ขณะที่เศรษฐกิจสุราษฎร์ธานีจะมีการขับเคลื่อนอยู่4ตัวคือ1.ยางพารา 2.ปาล์มน้ำมัน 3.การท่องเที่ยว และ 4.การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (กุ้ง) ซึ่งเริ่มฟื้นกลับมาแล้ว ส่วนการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรเดียวที่เดินไปได้ตลอด ปาล์มก็ยังปกติ แต่ที่ด้อยลงมาคือยางพารา ราคาตกต่ำลงไปอยู่ที่ 40 บาท/กก. ตอนนี้ขยับขึ้นมา 60-70 กว่าบาท ในต้นปีหน้าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะดีขึ้น เพราะเครื่องยนต์ 3 ตัว เริ่มกลับมาขับเคลื่อนใหม่ ยกเว้นสัตว์น้ำที่ยังฟื้นคืนมาเท่าจุดเดิมไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หากรวมพื้นที่การเลี้ยงกุ้งของจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับจันทบุรี จะมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเลี้ยงทั้งประเทศ ซึ่งผลผลิตไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะสูงกว่าปี 2558 เพราะมีการปรับตัวเรื่องการเลี้ยง โดยเฉพาะปัญหาโรคกุ้งตายด่วน หรือโรคอีเอ็มเอส หรืออื่น ๆ ปัจจุบันคนเลี้ยงกุ้งมีนวัตกรรมการเลี้ยงสูงขึ้น เป็นระบบกึ่งปิดแล้ว ทำให้สามารถร่นเวลาเลี้ยงสั้นลงจาก 120-150 วัน เหลือเพียง 100 วัน มีผลผลิตสะสมต่อไร่สูงกว่าที่ผ่านมา ทำรายได้ค่อนข้างดี

จริง ๆ เราต้องยอมรับว่า สุราษฎร์ฯเป็นเมืองหลวงภาคใต้ตอนบน เศรษฐกิจโดยรวมของเราก็ไม่ได้ตกต่ำ แต่ก็ไม่ได้ดีเด่นอะไรมาก เพราะเศรษฐกิจเราพึ่งพาการเกษตรมาก แต่วันนี้สัญญาณที่ดีคือ ราคายางพาราได้กระเตื้องขึ้นแล้ว ปาล์มน้ำมันและเพาะเลี้ยงกุ้งก็ยังดีอยู่ หรือการท่องเที่ยวก็มีจุดขายเยอะแยะ มีเกาะแก่งต่าง ๆ แต่ภาวะขณะนี้เศรษฐกิจอาจจะดาวน์ลง เพราะพื้นที่ข้างเคียงมาดึง ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจพลอยตกไปด้วย แต่ในปีหน้าก็ไม่ได้เลวร้าย หากยางพารายังดีขึ้น อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจสุราษฎร์ฯเติบโตขึ้น

อย่างไรก็ตาม สุราษฎร์ฯมีพื้นที่เกษตรกรรมมาก เราก็พร้อมที่จะไปส่งเสริมในพื้นที่ให้เติบโตตามเป้าประสงค์ของรัฐบาลที่จะนำประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 แต่เกษตรกรเขาอยู่ในพื้นที่ มีความเคยชิน หอการค้าฯจะต้องไปให้องค์ความรู้หรือข้อมูล ทำให้เขามั่นใจว่าจะมีความมั่งคั่งอย่างไร ซึ่งทุกองคาพยพทั้งประเทศจะต้องก้าวไปพร้อมกัน ต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำ ร่วมกันรับผิดชอบ อย่าผลักแต่เข้า (เกษตรกร) ไปทำฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ก็คาดการณ์ไว้ว่า ปีหน้าคงมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะบ้านเมืองเราก็มีนวัตกรรม มีเทคโนโลยีมาเสริมสร้าง รัฐบาลก็ใส่ใจเรื่องนวัตกรรมต่าง ๆ และพยายามส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และภาคประชาสังคมภายใต้นโยบายประชารัฐ

ลุยปั้นโมเดลไชยาซิตี้

ในปี 2560 สิ่งที่หอการค้าจะทำให้เป็นรูปธรรมก็คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งเกษตร-เกษตรแปรรูป และการท่องเที่ยวชุมชนเพราะเป็นตัวที่จะขับเคลื่อนได้เร็วที่สุด ซึ่งพบว่าอำเภอไชยาเหมาะสมเป็นต้นแบบ เนื่องจากมีความหลากหลายทั้งเรื่องราวของศาสนา (สวนโมกข์) วัฒนธรรม/ประวัติศาสตร์ (ยุคศรีวิชัย) และเกษตร ซึ่งไข่เค็มไชยาก็เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว แต่ต้องจับมาร้อยเรียงเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนเข้ามาภายใต้โมเดล “ไชยาซิตี้” ซึ่งจะเป็นการฟื้นท่องเที่ยวฝั่งบกด้วย รวมถึงการทำรูตท่องเที่ยวคลอง 100 สายในบาง เพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น ไม่ใช่โฉบ หรือแค่แวะผ่านเท่านั้น

ส่วนด้านการเกษตร ก็ต้องเป็นเกษตรแบบประณีต เช่น กำลังจะรื้อฟื้นข้าวหอมไชยาคืนมาเป็นอัตลักษณ์อีกตัวหนึ่ง ที่สำคัญต้องนำมาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชน เพราะเป็นการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ซึ่งสมาชิกในหอการค้ามีทุกภาคธุรกิจ เราจะเป็นข้อกลางในการเชื่อมโยงรวมเข้าทุกส่วน เพราะไชยาเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เป็นเมืองหลวงเก่าภาคใต้ตอนบน

รายได้ต่อหัวสูงอันดับ 3 ภาคใต้

ผู้นำหอการค้าเมืองไข่แดงย้ำว่า วันนี้เราต้องสร้างให้เป็นโมเดลขึ้นมาให้ได้สักแห่ง ทำอย่างไรให้เกษตรกรมีความมั่นใจ มีความร่วมไม้ร่วมมือ ซึ่งหอการค้าก็มุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลักดันให้พื้นที่เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนจริง ๆ ตอนนี้คนสุราษฎร์ฯมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 170,000 บาท/คน/ปี สูงเป็นอันดับ 3 รองจากภูเก็ต กระบี่ ส่วนสงขลาอยู่อันดับ 4 ซึ่งรายได้หลักของจังหวัดภูเก็ตและกระบี่มาจากภาคการท่องเที่ยว แต่สุราษฎร์ฯรายได้หลักมาจากภาคเกษตร โดยมีศักยภาพในเชิงพื้นที่และโลจิสติกส์ เรามีจุดขายเยอะ แต่ความร่วมมือร่วมใจต้องเป็นแนวเดียวกัน

สำหรับภาคการลงทุนนั้น เนื่องจากสุราษฎร์ฯเป็นเมืองเกษตร อุตสาหกรรมเป็นรอง เพราะไม่ใช่พื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมหนัก แต่การลงทุนก็ยังมีการขยับขยายเรื่อย ๆ ไม่หยุดนิ่ง เช่น กลุ่มยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นการลงทุนระดับท้องถิ่นของคนในพื้นที่ไม่ใช่สเกลใหญ่แบรนด์บิ๊กบึ้ม ตัวเลขจึงอาจจะไม่หวือหวา

“สุราษฎร์ธานีเป็นเมืองที่มีความสุขมากที่สุด เราเป็นเมืองคนดี ไม่ใช่เมืองคนดุ เป็นจังหวัดที่ไม่มีเจ้าพ่อ การตีรันฟันแทงกันน้อย วันนี้เรามีพร้อมทุกอย่างทั้งป่า เขา แม่น้ำ ทะเล อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ จึงอยากจะเชิญชวนมาเที่ยวกันดู” ผู้บริหารหอการค้าเมืองร้อยเกาะกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์