มจพ.โชว์ นวัตกรรม“ ODL ผงแร่จากธรรมชาติ” หยุดก๊าซพิษในอุตสาหกรรมแปรรูปยาง

“ยางพารา” เป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่นำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศไทยในแต่ละปี แต่ต้องยอมรับว่า กระบวนการผลิตและแปรรูปยางพารา ได้สร้างมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะ โรงงานแปรรูปยางแท่ง ที่ปล่อยกลิ่นเหม็นจากเตาอบยาง และโรงงานแปรรูปน้ำยางข้น ที่ใช้แอมโมเนียเป็นส่วนประกอบในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตตั้งแต่การรับน้ำยางสด การปั่นแยกน้ำยาง ซึ่งการใช้แอมโมเนียเข้มข้นสูงในปริมาณมาก ทำให้มีการระเหยของแอมโมเนียสู่สิ่งแวดล้อม สร้างกลิ่นเหม็น เป็นมลพิษทางอากาศ สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่พักอาศัยรอบโรงงานด้วยเช่นกัน

องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดบึงกาฬ เจ้าภาพหลักในการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยางพารา จึงได้จัดเวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้านในหัวข้อ “ การแก้ไขปัญหากลิ่นและน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมยางพารา” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยเชิญ ผศ.ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มาพูดคุยเกี่ยวกับผลงานวิจัย “ODL ผงแร่จากธรรมชาติ” นวัตกรรมใหม่ของ มจพ. ที่แก้ไขปัญหาด้านกลิ่นที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยางพารา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นวัตกรรม “ODL ผงแร่จากธรรมชาติ”

ผศ.ดร. ระพีพันธ์ กล่าวว่า บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด จังหวัดระยอง ประสบปัญหาด้านกลิ่นในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา จนถูกชาวบ้านท่ี่พักอาศัยรอบโรงงานร้องเรียนผ่านหน่วยงานภาครัฐ หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็เสี่ยงถูกปิดโรงงานได้ ที่ผ่านมา ทางบริษัทไทยฮั้วพยายามแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นโดยการฉีดพ่นน้ำจุลินทรีย์แต่ไม่ได้ผล จึงติดต่อ มจพ. ให้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ผศ.ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี

มจพ. พบว่า ปัญหากลิ่นเหม็นในโรงงาน มีต้นเหตุจาก ก๊าซแอมโมเนีย และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (แก๊สไข่เน่า) ซึ่งมีพลังงานประจุไฟฟ้าลบ มจพ. จึงได้นำ “ODL ผงแร่จากธรรมชาติ” ที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุธรรมชาติหลายชนิดที่มีพลังงานประจุไฟฟ้าบวกมาใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย ODL ผงแร่จากธรรมชาติ ทำปฏิกิริยาอย่างเฉียบพลันกับประจุไฟฟ้าลบ ให้เกิดการแตกตัวและจับคู่โมเลกุลใหม่ทำให้กลิ่นเน่าเหม็นในโรงงานแปรรูปยางหมดไปอย่างรวดเร็ว

มจพ. ทดลองนำ ODL ผงแร่จากธรรมชาติ ในอัตรา 1 ก.ก. ไปละลายน้ำและฉีดพ่นบริเวณปล่องควันของโรงงานและโกดังเก็บยางก้อนถ้วย ในช่วงเช้าและเย็น ปรากฏว่า กลิ่นเหม็นค่อยลดลงภายใน 7 วัน หลังจากนั้นได้ประเมินผลจากชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่รอบโรงงาน ปรากฏว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้สึกพึงพอใจเพราะกลิ่นเหม็นที่เคยเป็นมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมหายไปเกือบหมด

“ ODL ผงแร่จากธรรมชาติ” ไม่มีอันตรายต่อคนและสัตว์ ผ่านการรับรองจากศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมนาโนและไบโอพลาสติก สำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ผศ.ดร. ระพีพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ODL ผงแร่จากธรรมชาติ กลายเป็นสินค้าโกอินเตอร์ไปแล้ว เพราะมีเอกชนรายหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ ขอซื้อนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ดับกลิ่นเหม็นบุหรี่ภายในห้องพักโรงแรมที่ประเทศสิงคโปร์ ผลงานชิ้นนี้ สามารถประยุกต์ใช้ในฟาร์มปศุสัตว์ประเภทต่างๆ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล อุตสาหกรรมแปรรูปน้ำมันปาล์ม ฯลฯ ได้ผลดีเช่นเดียวกัน

สารจับยาง IR

นอกจากนี้ มจพ. ยังมีนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมยางพารา ได้แก่ “สารจับยาง IR” (INNnnovation Rubber) คุณสมบัติของสาร IR เป็นสารประกอบอินทรีย์ใช้จับโมเลกุลเนื้อยาง เพื่อให้แยกส่วนออกจากน้ำ สามารถใช้ได้กับน้ำยางสด ที่มีค่า DRC ต่ำได้ทั้งหมด สารจับยาง IR มีประสิทธิภาพการจับเนื้อยางมากถึง 99.99% ไม่มีผลต่อคุณสมบัติเชิงกลของยางพารา สารจับยาง IR สามารถแยกเนื้อยางออกจากน้ำยางได้ทุกชนิด เช่น น้ำยางที่โดนฝน น้ำยางสดผสมแอมโมเนีย น้ำยางข้น และหางน้ำยาง เป็นต้น

สารจับยาง IR เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาภาคการผลิตได้อย่างดี เพราะบ่อยครั้งที่เจอฝนตกระหว่างกรีดยาง ทำให้น้ำยางได้รับความเสียหายจนต้องทิ้งยางไป สารจับยางตัวนี้ช่วยให้ชาวสวนยางไม่ต้องกลัวฝนอีกต่อไป เพราะหยดสารจับยางในถ้วยยาง จะช่วยให้ยางจับเป็นก้อนได้ทันที ผลงานชิ้นนี้ ใช้งานง่าย สะดวก ที่สำคัญมีราคาถูก และคุ้มค่ากับการใช้งาน

นวัตกรรมผงน้ำใส SC (Super Clear)

อีกหนึ่งนวัตกรรมของ มจพ. ที่น่าจับตามองคือ ผงน้ำใส SC (Super Clear) เป็นผงเร่งตกตะกอนแบบเฉียบพลัน เป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดและการบำบัดน้ำเสีย เหมาะสำหรับภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

ผู้สนใจสามารถแวะเยี่ยมผลงานนวัตกรรมใหม่ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้ในงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

“ผักกางมุ้งอินทรีย์” สร้างรายได้เสริม
ให้ชาวสวนยางบึงกาฬได้ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ คณะผู้จัดงานยังได้จัดเวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน พร้อมความรู้ สู่การสร้างรายได้ ในหัวข้อเสวนา “ปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์ อีกหนึ่งรายได้เสริมของเกษตรกรชาวสวนยาง” โดยเชิญ คุณยุทธการ บุญประคม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวไรซ์เบอร์รี่อู่คำ บึงกาฬ มาร่วมแบ่งปันความรู้สร้างอาชีพเสริมรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยผู้สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

คุณยุทธการ กล่าวว่า หลังจากเจอปัญหาราคายางพาราตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้หลักจากการทำสวนยาง ประสบความเดือดร้อนมากเพราะขาดแคลนรายได้เลี้ยงดูครอบครัว จึงรวมตัวกันปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่เพื่อเป็นรายได้เสริม

คุณยุทธการ บุญประคม

ต่อมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายกระตุ้นการใช้จ่ายของเกษตรกรในระดับฐานราก และช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยสนับสนุนเงินลงทุนเริ่มต้นให้กับเกษตรกรในชุมชน 9,101 แห่ง แห่งละ 2.5 ล้านบาท

คุณยุทธการ ในฐานะแกนนำกลุ่มเกษตรกรที่มีสมาชิกกว่า 40 ราย ได้ยื่นของบประมาณ 2.5 ล้านบาท สำหรับดำเนิน “แปลงผักกางมุ้งอินทรีย์” เพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในท้องถิ่น

เมื่อโครงการได้รับการอนุมัติ ก็นำมาใช้ก่อสร้างโรงเรือนปลูกผักกางมุ้ง จำนวน 5 โรงเรือน ในเนื้อที่ 2 ไร่บนที่ิดินสาธารณะของชุมชน ในระยะแรกสมาชิกปลูกผักหลากหลายชนิดปรับเปลี่ยนตามฤดูกาล ได้แก่ ผักกวางตุ้ง แตงกวา ผักบุ้ง คะน้า บร็อกโคลี่ ผักสลัด ผักชี ฯลฯ

ต่อมาสมาชิกโครงการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ปลูกผักบุ้ง ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด เพราะใช้เวลาปลูกดูแลในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 25 วัน เท่านั้น ก็สามารถเก็บผักบุ้งออกขายได้แล้ว โดยขายส่งในราคา กก.ละ 25 บาท ขายปลีกในราคา กก. ละ 30 บาท ลูกค้าหลักคือ ร้านอาหารหมูกระทะ และตลาดสดในท้องถิ่น

“ผักบุ้งกางมุ้งอินทรีย์ เป็นผักปลอดสารพิษ ใบสวย ไม่มีแมลงรบกวน รสชาติหวาน กรอบ อร่อย ขายดีจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด แม้ห้างแม็คโครบึงกาฬจะติดต่อขอซื้อสินค้าก็ต้องปฏิเสธไป เพราะผลิตให้ไม่ทันจริงๆ ทุกวันนี้ ใครอยากได้ผักบุ้งอินทรีย์ ต้องสั่งจองกันล่วงหน้าเท่านั้น ถึงจะได้กิน” คุณยุทธการ กล่าว

ปัจจุบัน ผักบุ้ง ที่ปลูกกลางแจ้ง มักมีปัญหาโรคพืชรบกวน เช่น เชื้อราสนิม ราใบจุด และราน้ำค้าง ทำให้ใบผักบุ้งไม่สวย ขายไม่ได้ราคา เกษตรกรจึงนิยมฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรค ดังนั้น ผู้บริโภคที่ซื้อผักบุ้งในท้องตลาดทั่วไป มักเสี่ยงเจอปัญหาสารพิษตกค้างได้ แต่ผักบุ้งกางมุ้ง ปลูกดูแลแบบเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ มีต้นทุนต่ำและเกษตรกรสามารถปลูกผักอย่างต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี

โครงการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์ในชุมชนแห่งนี้ ทางกลุ่มได้แบ่งพื้นที่ให้สมาชิกแต่ละรายดูแลรับผิดชอบคนละ 1 แปลง โดยโรงเรือน 1 หลัง จะแบ่งพื้นที่ปลูกผักเป็น 3 แปลง  แปลงละ 1 ตารางเมตร จะเก็บผลผลิตออกขายได้ครั้งละ 4 กก./แปลง

สำหรับผลผลิต 1 โรงเรือน จะมีรายได้ รุ่นละ 6,000-7,000 บาท ทางกลุ่มจะแบ่งรายได้ให้สมาชิก 50% และหักเงินอีก 50% เป็นรายได้เข้ากลุ่มเพื่อเป็นกองทุนสวัสดิการสำหรับดูแลสมาชิกในอนาคต และค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือและโรงเรือนผักกางมุ้งต่อไป

การปลูกผักกางมุ้ง เริ่มต้นจากการเตรียมดิน ตีดินให้ร่วนซุยพร้อมใส่ปุ๋ยน้ำจุลินทรียบำรุงดิน ตากดิน 7 วัน ก่อนปลูก เตรียมเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งศรแดง มาล้างทำความสะอาดและนำไปแช่น้ำหมักจุลินทรีย์ 1-2 คืน เมื่อเมล็ดพันธุ์งอกก็นำไปโรยในแปลงที่เตรียมไว้ หลังปลูก 7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกจากฟาร์มหมูหลุมบำรุงดิน และจะใช้ปุ๋ยน้ำหมักจุลิทรีย์ฉีดพ่นบำรุงใบ โดยผสมน้ำหมักจุลินทรีย์ร่วมกับการให้น้ำในระบบท่อสปริงเกลอร์ช่วงเช้าและเย็นในแต่ละวัน

เมื่อต้นผักบุ้งอินทรีย์อายุได้ 20- 22 วัน ก็เริ่มเก็บผลผลิตออกขาย เพราะเป็นระยะเวลาที่ผักบุ้งมีรสชาติกรอบ อร่อย ระวังอย่าปล่อยให้ผักบุ้งมีอายุเก็บเกี่ยวเกิน 25 วัน เพราะจะทำให้เนื้อผักบุ้งเหนียว กินไม่อร่อย ปัจจุบัน ทางกลุ่มเปิดฟาร์มแห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์ ผู้สนใจสามารถแวะเยี่ยมกิจการได้ โดยติดต่อประสานงานล่วงหน้ากับ คุณยุทธการ บุญประคม หมายเลขโทรศัพท์ (084) 519-4669