สศก. ปลื้ม งบกองทุน เอฟทีเอ 25 ล. ช่วยยกระดับ โคเนื้อ-โคขุน จนแข่งขันได้กับต่างชาติ

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่ทางกองทุน เอฟทีเอ ได้อนุมัติงบกว่า 25 ล้านบาท ตั้งแต่ ปี 2559-65 ให้กับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุนในเขตปฏิรูปที่ดินปางศิลาทอง จำกัด จ.กำแพงเพชร เพื่อให้สมาชิกมีอาชีพ มีรายได้ เกษตรกรมีความรู้ ทักษะในการเลี้ยงโคแม่พันธุ์ และโคขุนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดทำแปลงหญ้า ปลูกพืชอาหารสัตว์ คิดสูตรอาหารและนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นอาหารโคเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการของสหกรณ์

ทั้งนี้ จากที่กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุนเอฟทีเอ) ได้อนุมัติงบประมาณให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อไปแล้ว 7 โครงการ 176 ล้านบาท เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะกรอบการค้าไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งปี 2563 จะสิ้นสุดมาตรการปกป้องพิเศษ (เอสเอสจี) ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าเนื้อโคจากออสเตรเลียไม่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า ส่งผลให้ราคาเนื้อโคนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาถูกลง

นางอัญชนา กล่าวต่อว่า จากการติดตามของผลการดำเนินงาน ตั้งแต่ ปี 2559-61 สศก. พบว่า เกษตรกรที่เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร การเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ จำนวน 100 ราย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 96 มีการนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการเลี้ยงโคได้ตามมาตรฐานที่กำหนด และมีสมาชิกที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ มีความสนใจที่จะเข้าร่วมและหันมาสนใจอาชีพเลี้ยงโคเพิ่มขึ้น

นางอัญชนา กล่าวว่า ด้านกิจกรรมการเลี้ยงโคเนื้อ พบว่า การเลี้ยงโคเนื้อแม่พันธุ์ สหกรณ์ได้จัดหาโคแม่พันธุ์ให้สมาชิกครบ 250 ตัว เพื่อผลิต โคขุนต้นน้ำ แก้ปัญหาการขาดแคลนโค โดยปัจจุบันมีลูกโคที่เกิดใหม่เพิ่มขึ้น รายละ 4 -5 ตัว และสหกรณ์ได้จัดหาโคเพศผู้เพื่อเลี้ยงเป็นโคขุน ให้แก่สมาชิก จำนวน 400 ตัว ซึ่งภายหลังการขุนเป็นระยะเวลา 6 เดือน พบว่า เกษตรกรสมาชิก มีกำไรจากการจำหน่ายโคขุนให้แก่สหกรณ์ ประมาณ 5,600 บาท/ตัว สูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการที่มีกำไร ไม่เกิน 4,000 บาท/ตัว

ทั้งนี้ สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการจะจำหน่ายโคให้กับสหกรณ์ในราคาประกัน โดยสหกรณ์ประกันราคาโคขุนที่กิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งราคาตลาดทั่วไปรับซื้อโคขุนที่ กิโลกรัมละ 85 บาท โดยเกษตรกรยังมีรายได้จากการรวบรวมมูลโคในฟาร์มและจำหน่ายมูลโค รายละ 1,000-2,000 บาท ต่อเดือน จึงนับได้ว่าโครงการดังกล่าวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาคุณภาพในการผลิตสินค้าโคเนื้อให้สามารถแข่งขันกับโคเนื้อที่นำเข้าจากต่างประเทศได้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์