เกษตรกรบึงกาฬจัดสรรสวนยางพารา สร้างรายได้หลักแสนต่อปี

คุณบุญนาค ศรีสว่าง ปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกรดีเด่นของจังหวัดบึงกาฬ นับเป็นบุคคลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการทำสวนเกษตรผสมผสาน ช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุน ทำให้เขาไม่ขาดแคลนรายได้ เมื่อเผชิญหน้ากับภาวะราคายางพาราตกต่ำในวันนี้ ดังนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬและจังหวัดบึงกาฬซึ่งเป็นผู้จัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 จึงได้เชิญ คุณบุญนาค มาเป็นวิทยากรเวทีปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อแบ่งปันความรู้ ในหัวข้อ “จัดสรรสวนยางพารา สร้างรายได้หลักแสนต่อปี” เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2561

คุณบุญนาค เป็นอดีตทหารอากาศ ที่ลาออกมาทำอาชีพเกษตรกรรม เพราะใจรัก ที่ผ่านมา เขามีรายได้หลักจากอาชีพการทำสวนยางพารา และมีรายได้เสริมจากการทำสวนผลไม้ที่ปลูกแบบผสมผสาน แต่วิกฤตราคายางตกต่ำในทุกวันนี้ ทำให้ตัวเลขรายได้จากธุรกิจสวนผลไม้กำลังวิ่งแซงหน้ารายได้ธุรกิจสวนยางไปเสียแล้ว

คุณบุญนาค ศรีสว่าง ปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกรดีเด่นของจังหวัดบึงกาฬ

คุณบุญนาค เริ่มต้นทำสวนผลไม้ ตั้งแต่ปี 2518 โดยปลูกละมุดพันธุ์มะกอก มะพร้าวน้ำหอม เขาเป็นเกษตรกรคนแรกที่นำต้นเงาะโรงเรียนจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาปลูกที่จังหวัดบึงกาฬ เมื่อ 40 กว่าปีก่อน (สมัยนั้นอำเภอศรีวิไล อยู่ในจังหวัดหนองคาย) จนหลายคนหาว่าเขาบ้า เพราะใครๆ ก็ทำพืชไร่ ปลูกข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง ไม่เคยมีใครปลูกไม้ผลมาก่อน ปรากฏว่าเขาทำได้สำเร็จ ต้นเงาะโรงเรียนที่นำมาปลูกให้ผลผลิตคุณภาพที่ดี กลายเป็นสินค้าเด่นดังประจำจังหวัดบึงกาฬ ทุกวันนี้ ใครอยากกินเงาะโรงเรียนคุณภาพดี ต้องนึกถึงเงาะอำเภอศรีวิไลของคุณบุญนาคเป็นที่แรก เพราะมีรสหวาน เนื้อแห้งกรอบอร่อย

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้เขาเกิดขวัญกำลังที่จะนำผลไม้เด่นชนิดอื่นๆ เช่น มังคุด ทุเรียน รวมทั้งสะตอ มาปลูกบนที่ดินของเขา ซึ่งกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ทะลุหลักแสนต่อปีทีเดียว แค่รายได้จากการขายสะตอฝักสด ซึ่งเป็นสะตอพันธุ์ดานอย่างเดียว ก็สร้างรายได้หลักหมื่นบาทต่อต้นแล้ว

คุณบุญนาค กล่าวว่า ปัจจุบัน เขามีรายได้หลักจากการทำสวนยางพารา โดยแบ่งปันรายได้คนละครึ่งกับแรงงานกรีดยาง สำหรับภาวะราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้ ราคายางก้อนถ้วย อยู่ที่ กิโลกรัมละ 18 บาท หากพึ่งรายได้จากการปลูกยางพาราแต่เพียงอย่างเดียวคงอยู่ไม่ได้ โชคดีที่เขาจัดสรรพื้นที่มาทำสวนเกษตรผสมผสาน ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นนานาชนิดไว้ในสวนแห่งนี้ ทำให้มีรายได้เข้ามาหลายทาง ตลอดทั้งปี ช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดี

การทำสวนเกษตรผสมผสานของเขา ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าจะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นกี่ต้น ปลูกมากเท่าไรอาศัยความสะดวกของพื้นที่เป็นหลัก ตรงไหนมีพื้นที่ว่างเหมาะสมเขาก็จะนำพันธุ์ไม้ผลมาปลูกตามอัธยาศัย โดยธรรมชาติแล้ว ต้นมังคุดและต้นทุเรียน เป็นไม้ผลโตช้า ที่สู้แดดไม่ค่อยได้ ดังนั้น การปลูกในระยะแรก ควรสร้างร่มเงาให้กับไม้ผลทั้งสองชนิด หลังผ่านปีที่ 3 ไปแล้ว ต้นมังคุดและต้นทุเรียนจะเติบโตแข็งแรง ไม่ต้องดูแลอะไรมาก

การทำสวนผลไม้ของเขาใช้ปุ๋ยเคมีน้อย เพราะเขามองว่าปุ๋ยเคมีหากใช้ในปริมาณมาก เสี่ยงทำให้ดินแข็ง พืชเจริญเติบโตได้ไม่ดี สวนแห่งนี้จึงเน้นปลูกดูแลพันธุ์ไม้โดยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยน้ำหมักจุลินทรีย์ เป็นหลัก แต่จะเสริมปุ๋ยเคมีสูตรหวานในอัตราที่เหมาะสมเพื่อบำรุงผลผลิตให้มีรสหวานตามที่ต้องการ

หากเกษตรกรชาวสวนยางพารารายใด ต้องการมีรายได้เสริมจากการทำสวนเกษตรผสมผสานเช่นเดียวกับเขา คุณบุญนาคให้คำแนะนำว่า ควรเริ่มต้นปลูกพืชผักสวนครัว และปลูกกล้วยก่อน เพื่อเป็นรายได้รายวันและรายเดือน เพราะการทำสวนไม้ผล ต้องใช้เวลาปลูกดูแล 4-5 ปี จึงเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ นอกจากนี้ ควรเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ไก่ ไว้ในสวนด้วย เพื่อเป็นปุ๋ยคอกในสวนและมีรายได้หมุนเวียนจากการขายไข่และขายเป็ด ไก่

คุณบุญนาค กล่าวเสริมว่า ในยุคนี้ การปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยงในการลงทุนมากเกินไป การทำสวนเกษตรผสมผสานน่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะสมมากกว่า หากใครสนใจอยากเรียนรู้เรื่องการทำสวนเกษตรผสมผสานของคุณบุญนาค ศรีสว่าง สามารถติดต่อได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 087-491-7831

ตามรอยพ่อ กับเกษตรทฤษฎีใหม่  

นอกจากนี้ คณะผู้จัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 ยังได้เชิญ คุณจันทร์ที ประทุมภา ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตร เศรษฐกิจพอเพียงปี 2554 จังหวัดนครราชสีมา  มาวิทากรบนเวทีปราชญ์ชาวบ้านเพื่อแบ่งปันความรู้ ในหัวข้อ “ตามรอยพ่อ กับเกษตรทฤษฎีใหม่

คุณจันทร์ที เป็นเกษตรกรที่นำความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับตนเองจนประสบความสำเร็จ สามารถปลดหนี้สินก้อนโตได้สำเร็จในปีที่ 5 และเหลือเงินออม ทำให้เขาได้รับรางวัลชนะเลิศด้านเกษตรทฤษฎีใหม่จากการประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 1 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

คุณจันทร์ที ประทุมภา ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน

คุณจันทร์ที เล่าว่า เขาเรียนจบประถมศึกษาปีที่ 4 ทำงานเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ ด้วยความขยันหมั่นเพียร สะสมเงินทุนตั้งตัวเป็นนักธุรกิจ มีกิจการโรงสี และมีฟาร์มเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์และสุกรขุน ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดีในขณะนั้น ต่อมามีเพื่อนชวนทำอาชีพนายหน้าจัดหาคนไปทำงานต่างประเทศ เขาเรียกเก็บเงินจากแรงงานให้เพื่อนไป 250,000 บาท เพื่อเป็นค่าประกันและค่าทำวีซ่า แต่เพื่อนกลับโกงเงินดังกล่าวไป ทำให้เขาต้องแบกรับภาระหนี้ทั้งหมด จึงตัดสินใจขายทรัพย์สินและจำนองที่ดินเพื่อล้างหนี้ เขาเปลี่ยนอาชีพจากนักธุรกิจ มาเป็นแรงงานรับจ้างรายวัน ยอมทำงานรับจ้างทุกอย่างให้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว

ต่อมา คุณจันทร์ที มีโอกาสไปทำงานก่อสร้างที่ประเทศสิงคโปร์ 1 ปี มีเงินเก็บ 150,000 บาท นำมาไถ่ถอนที่ดินคืน เพื่อเริ่มต้นทำอาชีพเกษตรกรรมอีกครั้ง แม้จะได้ที่นาคืนมา แต่ขาดเงินทุนหมุนเวียน จึงไปกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรนำมาลงทุน ก็มีรายได้พออยู่ไปวันๆ ปีที่สอง เขาหันไปกู้หนี้นอกระบบ หนี้สินมีแต่เพิ่มพูน แต่ยังหาทางปลดหนี้ไม่ได้

เขามีโอกาสศึกษาดูงานเกษตรผสมผสานของ “พ่อผาย สร้อยสระกลาง” ปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่น ที่ทำเกษตรผสมผสาน มีรายได้สม่ำเสมอและยั่งยืนทำให้เขาเกิดความประทับใจ จึงเริ่มต้นทำเกษตรผสมผสาน เมื่อปี 2534 เนื่องจากขาดแคลนเงินทุน เขาจึงต้องใช้หนึ่งสองและสองมือของแรงงานในครอบครัวทำงานขุดสระน้ำ เนื้อที่ 2 งานด้วยมือ โดยใช้เวลาถึง 3 เดือน จึงเริ่มเก็บกักน้ำสำหรับใช้ในไร่นาได้ตามที่ต้องการ เขาปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก แต่ยังมีรายได้ไม่มากนัก

ต่อมาเขามีโอกาสพัฒนาต่อยอดไปเรียนรู้เรื่องหลักเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมพัฒนาชุมชน ตั้งแต่ปี 2540-2541 เขาได้น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในไร่นาจนประสบผลสำเร็จ  เขาได้แบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกิน จำนวน 22 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีที่ดินทำนา 10 ไร่ ทำเกษตรผสมผสานตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ 10 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 2 ไร่

หัวใจสำคัญของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ คือแหล่งน้ำ เขาลงทุนขุดสระน้ำกว่า 10 บ่อ และปลูกพืชแบบผสมผสาน มีทั้งพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย พืชสมุนไพร และเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ปลา เป็นแหล่งอาหารของครอบครัว เพื่อลดรายจ่าย พึ่งพาตัวเองได้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่า ” อัตตาหิ อัตตโน นาโถ”

คุณจันทร์ที กล่าวว่า ก่อนปลูกเขาไปสำรวจตลาดก่อนว่า ผู้ซื้อต้องการอะไร จึงปลูกสินค้าที่ตลาดต้องการ เมื่อนำไปขาย ปรากฏว่า แม่ค้าไม่รับซื้อเพราะมีแหล่งผลิตที่ส่งขายให้ประจำอยู่แล้ว เขาก็ไม่ท้อถอยเพราะปลูกเอง ขายเองก็ได้ ทุกวันนี้ สินค้าของเขาผลิตไม่พอขาย เพราะปลูกดูแลแบบเกษตรอินทรีย์ ผักสดๆ คุณภาพดี ขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาด สินค้าของเขาขายดีมาก มีลูกค้าขาประจำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน คุณจันทร์ที จัดทำแปลงเกษตรแบบประณีต ในพื้นที่ 1 ไร่ ภายใต้แนวคิด “สร้างผืนป่าในไร่นา”  เพื่อเป็นตัวอย่างของการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปรับคันนาให้ใหญ่ขึ้น ปลูกพืชสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจหลากหลายบนคันนา จากเดิมที่เคยเป็นที่นาแห้งแล้ง ใช้เวลาแค่ปีเดียว กลายเป็นป่าธรรมชาติที่มีความสมดุลทางธรรมชาติ มีเห็ดป่าหลากหลายชนิด ทั้งเห็ดระโงกขาว เห็ดระโงกเหลือง เห็ดโคน ฯลฯ ให้เก็บกิน เก็บขาย ได้ตลอดทั้งปี

พืชผักสวนครัว ถูกใช้เป็นอาหารบริโภคในครัวเรือน เหลือกินก็ขายเข้าตลาด ทำให้มีรายได้ทุกวัน เลี้ยงปลา หมู เป็ด ไก่ ขายสร้างรายได้รายเดือน ส่วนรายได้รายปีมาจากการขายข้าวนาปี ผลไม้และการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต ประเภท มะพร้าว กล้วย เสาวรส สร้างรายได้ทะลุหลักหมื่นต่อเดือน ส่วนไม้ยืนต้น เช่น ต้นยางนา ที่ปลูกไว้ เป็นเงินออมวัยเกษียณและเป็นมรดกให้ลูกหลาน ต้นยางนาที่ปลูก เขาขยายพันธุ์เองใช้เงินลงทุนไม่ถึง 10 บาท ผ่านไป 20 ปี เมื่อตัดไปขาย สร้างรายได้ 15,000 บาท ต่อต้น ทีเดียว

“เมื่อก่อนผมเคยทุกข์ยากลำบากจากภาระหนี้สินก้อนโตจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่หลังจากปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตน้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ทำไร่นาแบบเกษตรผสมผสาน ก็ประสบความสำเร็จ  สามารถปลดหนี้สินและมีรายได้ที่ยั่งยืน ความสุขในชีวิตของผมในวันนี้คือ เปิดบ้านเป็นศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรังบูรพา เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ประชาชนที่สนใจได้เรียนรู้เรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนแนวความคิด ให้รู้จักพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองในชุมชนได้ เพื่อปลดหนี้ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนเช่นเดียวกับผม” คุณจันทร์ที กล่าวในที่สุด