“แก้วพะเนาว์ ออร์แกนิค ฟาร์ม”เทคนิค ปลูกผักอินทรีย์ 365 วัน ให้รวย

“แก้วพะเนาว์ ออร์แกนิค ฟาร์ม” ซึ่งตั้งอยู่บ้านเลขที่ 2 หมู่ที่ 2 ตำบลนาภู อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม ของ “ปลิว” หรือ คุณพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ในโครงการ “Young Smart Farmer”

ปัจจุบัน คุณปลิว อายุ 26 ปี เขาเรียนจบปริญญาตรี สาขาส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ความจริง พ่อแม่เขาไม่มีใครสนับสนุนให้ลูกทำอาชีพเกษตรกรรม เพราะมองว่าอาชีพเกษตรกรรมมีอนาคตที่ลำบาก แต่เขากลับมองเห็นความยั่งยืนของอาชีพนี้ หากสามารถพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เข้ามาใช้ในการทำงาน คุณปลิว บอกว่า การทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้เรื่องการวิเคราะห์ดิน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะเกษตรกรต้องรู้เข้าใจดินก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับพืชผลที่ลงทุนไป นอกจากนี้ ต้องเรียนรู้เข้าใจเรื่องตลาดทั้งในประเทศและส่งออก หากจำเป็นต้องค้าขายกับต่างประเทศในอนาคต จึงยิ่งต้องยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรมากขึ้น

ความสำเร็จในเส้นทางอาชีพเกษตรกรรมในวันนี้ คุณปลิว บอกว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในเรื่องความพอเพียง โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาปรับใช้ จนเกิดความแม่นยำในการเก็บเกี่ยว รวมถึงระบบน้ำหยดเพื่อให้น้ำกระจายไปสู่พืชอย่างสม่ำเสมอ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การทำปุ๋ยหมัก และเพาะปลูกพืช เพื่อการป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ การปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการกัดเซาะหน้าดินรวมถึงการอนุรักษ์น้ำ

ขณะเดียวกัน คุณปลิวได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง โดยการแบ่งปันวิธีการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวพืชผลไปจนถึงวิธีสร้างกำไรตลอดทั้งปีด้วยการวางแผนอย่างชาญฉลาด โดยคุณปลิวคิดว่า ทุกคนควรรักในสิ่งที่ตัวเองทำและมีความมุ่งมั่น เพื่อจะได้นำไปสู่ความสำเร็จและไปถึงจุดหมายที่ต้องการ ผมรักในสิ่งที่ตัวเองทำและพร้อมมุ่งมั่นและทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นในชุมชน

ทุกวันนี้ คุณปลิว ตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อมาขายผลผลิต เขาใช้วิธีการจัดส่งผักให้สดตลอดเวลา และได้แบ่งปันวิธีนี้ให้กับเกษตรกรผู้อื่น เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี เขาหวังว่าสิ่งที่ทำจะช่วยสร้างเครือข่ายของเกษตรกรในชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้เกษตรกรรุ่นต่อไปมีอาชีพที่ยั่งยืนและมีชีวิตที่ดีขึ้น

 แก้วพะเนาว์ ออร์แกนิค ฟาร์ม

คุณปลิว ลงนามความร่วมมือกับ หอการค้ามหาสารคาม จัดทำ โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ที่บ้านหนองบัว ตำบลนาภู อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม จนประสบผลสำเร็จ มีผลผลิตขายได้ทุกวัน และมีเงินหมุนจากผลผลิตตลอด 365 วัน

คุณปลิว เล่าว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนและเกษตรกรรักบ้านเกิด โดยทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทาง รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการศึกษาดูงาน และเพิ่มขีดความสามารถให้เกษตรกร เยาวชน และผู้สนใจที่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม

บนพื้นที่ 22 ไร่ ของคุณปลิวใช้ปลูกผัก ปลูกไผ่นอกฤดู เพาะเห็ดในโรงเรือน ซึ่งทุกกิจกรรมจะเน้นความปลอดภัยไปจนถึงขั้นมาตรฐานอินทรีย์ รวมทั้งเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และสร้างเครือข่ายให้สมาชิกในหมู่บ้านได้เดินตามรอยพ่อหลวง เพื่อชีวิตที่มีความสุขและยั่งยืน คุณปลิวได้แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและได้จุดประกายให้เข้าใจถึงกลยุทธ์การเก็บเกี่ยว แบบระบุช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกพืชผัก และสร้างปฏิทินเพาะปลูกตลอดปี 365 วัน โดยปลูกพืชคละชนิดกัน ไล่ไปตามอายุเก็บเกี่ยว โดยอาศัยปฏิทินเพาะปลูกที่คิดขึ้นเอง ทำให้โรคและแมลง “งง” จนมากินผักไม่ถูก

เคล็ดลับปลูกผัก 365 วัน ของคุณปลิวอยู่ที่ แบ่งพื้นที่ปลูกออกเป็น 60 แปลง แปลงละครึ่งงาน ในพื้นที่ดังกล่าวจะยกร่องปลูกพืชสลับชนิดกัน 7 แปลง แต่ละแปลงปลูกพืชสลับแถว สลับแปลงกัน เช่น ขึ้นฉ่าย ผักสลัด หอมแบ่ง ผักโขมแดง ผักบุ้งจีน กะเพรา โหระพา ผักพื้นบ้าน เป็นต้น โดยทยอยปลูกพืชแต่ละชนิดห่างกัน แปลงละ 1 วัน จนครบ 60 วัน

นอกจากนี้ ยังปลูกพืช 7 ชนิด 7 แถว ห่างกัน 1 สัปดาห์ เริ่มจากสัปดาห์แรก ปลูกขึ้นฉ่าย ที่มีอายุเก็บเกี่ยว 60 วัน สัปดาห์ที่ 2 ปลูกผักสลัด อายุเก็บเกี่ยว 50 วัน สัปดาห์ที่ 3 ปลูกหอมแบ่ง อายุเก็บเกี่ยว 45 วัน สัปดาห์ที่ 4 ปลูกผักโขมแดง อายุเก็บเกี่ยว 35 วัน สัปดาห์ที่ 5 ปลูกผักบุ้งจีน อายุเก็บเกี่ยว 30 วัน สัปดาห์ที่ 6 ปลูกผักสวนครัวที่มีอายุเก็บเกี่ยว 6 เดือน เช่น กะเพรา โหระพา สัปดาห์ที่ 7 ปลูกผักพื้นบ้าน เช่น สะระแหน่ พริก ฯลฯ

เมื่อครบระยะเวลาเก็บเกี่ยวพืชผักเสร็จ คุณปลิวจะพลิกดินกลบตอทิ้งไว้ 3 วัน เพื่อเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดินก่อนเริ่มปลูกผักรอบใหม่ โดยไม่ปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำที่เดิม เพื่อป้องกันโรคแมลงรบกวน ผลผลิตที่ได้คุณปลิวป้อนเข้าสู่ตลาดใน 3 ช่องทาง คือ ขายในแบรนด์ ออร์แกนิค เฟรช ในห้างเดอะมอลล์ และแมกซ์แวลลูทั่วประเทศ แบรนด์แก้วพะเนาว์ ออร์แกนิค ฟาร์ม ขายในจังหวัดมหาสารคาม และตลาดหน้าฟาร์ม ส่วนแบรนด์ The Kreenana ขายส่งถึงบ้านในจังหวัดนครราชสีมา วางแผนการผลิตและการตลาดในลักษณะนี้ สร้างรายได้เข้ากระเป๋าสูงถึง 8 แสนบาท/ไร่ ทีเดียว

 

อบรมยุวเกษตร ทำโครงการ “ธนาคารใบไม้”

คุณปลิว และสำนักงานเกษตรอำเภอยางสีสุราช ได้ร่วมกันส่งเสริมให้กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเหล่าหมากดำ ตำบลนาภู อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม จัดทำโครงการธนาคารใบไม้ โดยมอบหมายให้เด็กนักเรียนเก็บใบไม้นำมาทำปุ๋ยหมัก ขายในราคากิโลกรัมละ 5 บาท สร้างรายได้เสริมแก่นักเรียนและโรงเรียนได้อีกทางหนึ่ง

คุณปลิว บอกว่า การจัดสร้างธนาคารใบไม้ เป็นการหยุดเผาใบไม้ ลดปัญหามลพิษ เพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมาเก็บใบไม้เพื่อทำปุ๋ยหมักแบบไม่ต้องพลิกกอง ตามสูตรวิศวกรรมแม่โจ้ เป็นเรื่องง่ายที่เด็กทุกเพศทุกวัยทำได้ โดยใช้เศษใบไม้ทุกชนิด จำนวน 3 ส่วน นำมาหมักรวมกับปุ๋ยคอก 1 ส่วน ใช้ระยะเวลาหมักประมาณ 2 เดือน โดยไม่ต้องพลิกกอง เพราะหมักในตะกร้าตาข่าย ช่วยระบายความร้อน เมื่อหมักครบระยะเวลาที่กำหนด จะได้ปุ๋ยใบไม้สำหรับใช้ปรุงดินสำหรับปลูกพืชผักอินทรีย์

คุณปลิว กล่าวว่า การปลูกผักอินทรีย์ ต้องใช้ ดิน 1 ส่วน และ ปุ๋ยใบไม้ 1 ส่วน จึงจะช่วยให้พืชเติบโตได้ดี ปัจจุบัน คุณปลิวรับซื้อปุ๋ยใบไม้ทั่วไป ขายในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ล่าสุด คุณปลิวได้แนะนำให้ทางโรงเรียนแยกหมักปุ๋ยตามชนิดของพืช เช่น ปุ๋ยใบก้ามปู เพราะใบไม้ชนิดนี้จะให้ธาตุไนโตรเจนสูง ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชเป็นอย่างดี  รวมทั้งแนะนำให้ผลิตปุ๋ยใบมะขาม เพราะใบไม้ชนิดนี้มีธาตุโพแทสเซียม (K) ช่วยเพิ่มความหวานผลไม้ได้ดีเยี่ยม โดยคุณปลิวยินดีรับซื้อปุ๋ยใบก้ามปู และปุ๋ยใบมะขาม ในราคาสูงกว่าปกติ คือ กิโลกรัมละ 8-9 บาท ซึ่งจะช่วยให้เด็กนักเรียนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย และเพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการ นิสสันได้สมทบ 999 เท่า ของยอดขายของใบไม้ที่ได้ให้แก่ชมรมยุวเกษตรของโรงเรียนท้องถิ่นอีกด้วย

หากใครสนใจอยากแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการทำเกษตร สามารถติดต่อกับคุณปลิวได้ ทางอีเมล :[email protected] หรือทางเฟซบุ๊ก Pongpat Kaewpanao, นายพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ หรือทางแฟนเพจ (Fanpage) : แก้วพะเนาว์ Organic Fram