พัทลุง FMD ระบาดหนัก ”โคเนื้อ” ผู้เลี้ยงตื่นหวั่นปิดข่าวแอบลักลอบขน

นายหมี่รัน ขำนุรักษ์ เลขานุการกลุ่มผู้เลี้ยงโค อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังเกิดการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) ในโคเนื้อและโคพื้นบ้าน จ.พัทลุง อย่างหนัก โดยมีโคเนื้อและโคพื้นบ้านติดโรคไม่ต่ำกว่า 500-600 ตัว มีลูกโคเสียชีวิตประมาณ 30 ตัว ส่งผลให้ตลาดหลักที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปฏิเสธไม่นำเข้าเนื้อโคเนื้อ รวมถึงโคพื้นบ้านที่มีชีวิต ตลาดโคเนื้อ โคพื้นบ้าน และเนื้อชำแหละจาก จ.พัทลุง 1-2 เดือนแล้ว จากปกติส่งไปขายประมาณ 100 ตัว/วัน

คิดเป็นเม็ดเงินสูญหาย วันละ 2 ล้านบาท หรือ 90 ล้านบาท/เดือนแล้ว และมีแนวโน้มเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลให้กลุ่มผู้เลี้ยงโค อ.ตะโหมด ซึ่งมีสมาชิกผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคพื้นบ้านกว่า 100 ตัว เร่งดำเนินการป้องกัน เนื่องจากโรคปากและเท้าเปื่อยยังแพร่ระบาดมาไม่ถึงพื้นที่ อ.ตะโหมด อ.กงหรา จ.พัทลุง ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้ขอให้ทางเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ และกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคพื้นบ้าน ร่วมมือกันวางมาตรการเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลรักษา โดยยุติการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่สามารถแพร่โรคได้ เนื่องจากราคาโคแต่ละตัวเฉลี่ยมีตั้งแต่ระดับราคา 10,000-20,000 บาท ถึง 50,000 บาท ต่อตัว

“โรคปากและเท้าเปื่อยแพร่ระบาดมาประมาณ 2 เดือนแล้ว ยิ่งช่วงนี้ฝนตกต่อเนื่อง การแพร่ระบาดรวดเร็วมาก เนื่องจากมีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับโรค ยากที่จะรักษา และจะต้องรักษายาวนาน ตอนนี้ผู้เลี้ยงต่างตื่นตัว จึงขอให้อย่าปกปิดข่าว บอกความจริง เพื่อหามาตรการป้องกัน มิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก โดยสาเหตุเกิดจากช่วงที่ผ่านมามีการลักลอบนำโคจากภาคกลางมาที่ จ.พัทลุง ดังนั้น จังหวัดจะต้องเน้นหนักในการตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสัตว์จากพื้นที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดขยายผลลุกลาม และจะต้องดูแลพ่อค้าวัวให้ดี”

แหล่งข่าวจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้ระดมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จากทุกอำเภอ ประมาณ 100 นาย เข้าดูแลรักษาฉีดวัคซีนโคที่เกิดเป็นโรคปากเท้าเปื่อยที่ อ.เมือง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โดยประมาณ 500-600 ตัว คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในระยะเวลา 1 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ สภาพภูมิอากาศด้วย หากฝนไม่ตกต่อเนื่อง อุณหภูมิเหมาะสมด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน จ.พัทลุง มีโคเนื้อ โคพื้นบ้าน และโคนม รวมกันประมาณ 70,000 ตัว

“ปัจจัยสำคัญในการป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยที่เกิดประสิทธิภาพ จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เลี้ยง พ่อค้าโค ในการเคลื่อนย้าย และขณะนี้ทางจังหวัดพัทลุงได้ประกาศห้ามมีการเคลื่อนย้ายโค จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันและรักษาโรคปากเท้าเปื่อย”