มธ. จับมือ อภ. เร่งพัฒนาผลิตยาสมุนไพร จาก ‘ไพล’ ช่วยผู้ป่วยโรคภูมิแพ้-หอบหืด

ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดค้นผลิตภัณฑ์ยารักษาอาการภูมิแพ้-หอบหืดจาก “ไพล” สมุนไพรดั้งเดิมของประเทศไทย ด้าน“องค์การเภสัชกรรม”ให้ทุนสนับสนุนกว่า 10 ล้านบาท มุ่งหวังให้คนไทยใช้ยาคุณภาพดีราคาถูกได้ ภายใน 2 ปี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ องค์การเภสัชกรรม เพื่อต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมยาสมุนไพรชนิดแคปซูลที่ได้จาก “ไพล” ซึ่งมีสรรพคุณรักษาอาการโรคภูมิแพ้และหอบหืด

ศาสตราจารย์ พญ. อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า นวัตกรรมยาสมุนไพรจาก ไพลเกิดขึ้นจากการพบผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และหอบหืดในประเทศไทยจำนวนมาก แต่ยาที่มีประสิทธิภาพกลับต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาแพง ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงริเริ่มนำจุดเด่นของสมุนไพรไทยมาผลิต เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาในราคาถูกลง และพบว่า ไพลซึ่งมีแหล่งปลูกในไทยเพียงประเทศเดียว มีคุณสมบัติลดอาการภูมิแพ้ได้ดี จึงคิดค้นร่วมกับนักวิจัยจากหลายสถาบันและโรงพยาบาล อาทิ โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลวชิระ รวมระยะเวลาการพัฒนายาสมุนไพรชนิดนี้ถึง 12 ปี

“การลงนาม MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การเภสัชกรรมครั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตยาสมุนไพรจากไพลให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น โดยองค์การเภสัชกรรมมอบทุนสนับสนุนต่อยอดงานวิจัยจำนวนมากกว่า 10 ล้านบาท เพื่อดำเนิน 4 โครงการ ให้ครบสมบูรณ์ นำไปสู่การผลิตตัวยาที่คิดค้นโดยคนไทย เพื่อคนไทย รวมถึงคนทั่วโลก ได้ใช้ยาคุณภาพดี ราคาถูก จากสมุนไพรที่ทุกคนยอมรับ”

ศาสตราจารย์ พญ. อรพรรณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้งานวิจัยยาสมุนไพรจากไพล ได้ก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว โดยมีการทดลองในคนไข้กลุ่มใหญ่ ประมาณ 400-500 คน เพื่อสร้างความมั่นใจและนำไปสู่การขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต่อไป ซึ่งจากการทดสอบในเบื้องต้นได้ผลดีมากสามารถลดอาการภูมิแพ้ทั้งอาการคัดจมูก ไอ จาม คันตา ผื่นแพ้ผิวหนัง และหอบหืด

ด้าน นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการพัฒนาพืชสมุนไพรไทยให้เป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร องค์การเภสัชกรรมจึงได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ด้านสมุนไพร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐโดยมุ่งเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดสมุนไพรที่มีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีผลการศึกษาวิจัยทางพรีคลินิกและทางคลินิกรองรับเพื่อยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพร สามารถมีข้อมูลขึ้นทะเบียนเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรแผนปัจจุบัน อีกทั้งยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป โดยองค์การเภสัชกรรมมีการพัฒนาและเตรียมความพร้อมตลอดเวลา ทั้งในด้านบุคลากร เทคโนโลยีการสกัดสารสำคัญจากสมุนไพร การควบคุมคุณภาพ ตลอดจนโรงงานผลิตยาได้การรับรองมาตรฐาน PIC/S GMP

องค์การเภสัชกรรมจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาแคปซูลสารสกัดไพลในการรักษาโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคหอบหืด จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะขยายกำลังการผลิตสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรมภายใต้มาตรฐานการผลิตที่ดี (GMP) เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาทางคลินิก โดยองค์การเภสัชกรรมพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยทางคลินิกแบบสหสถาบันให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยของ
มหาวิทยาลัยให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรแผนปัจจุบัน และผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของแพทย์และประชาชนทั่วไปในการรักษาโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และในอนาคตจะศึกษาวิจัยทางคลินิกเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคหอบหืดต่อไป

“การร่วมมือทางการวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายและยกระดับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมีข้อมูลทางวิชาการรองรับทั้งในด้านคุณภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัย ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีราคาสูงและประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาให้กับประเทศ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติต่อไป” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าว

ปัจจุบัน การคิดค้นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่ได้จากไพล มีการจดสิทธิบัตรยาเรียบร้อยแล้ว นับเป็นยาตัวแรกและตัวเดียวที่ใช้สมุนไพรเป็นตัวยาหลักไม่ใช่ตัวยาผสม โดยเชื่อว่าอีกไม่เกิน 2 ปี จะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ และส่งออกไปต่างประเทศในอนาคต