บ้านห้วยห้อม กลางหุบเขา แม่ฮ่องสอน มีกาแฟ ฟาร์มแกะ และโฮมสเตย์

หลายคนอาจจะเคยได้ยิน บ้านห้วยห้อม ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะเกือบ 30 ปีมาแล้ว บ้านห้วยห้อมแห่งนี้เป็นแหล่งปลูกกาแฟขึ้นชื่อ ส่งให้กับร้านกาแฟแบรนด์ระดับบน ทั้งยังเป็นต้นตำรับกาแฟอาราบิก้าส่งให้กับโครงการหลวง นับตั้งแต่ยังไม่มีเครื่องกะเทาะเปลือกเมล็ดกาแฟ รวมถึงเครื่องคั่วบดเมล็ดกาแฟ เพื่อให้ได้กาแฟผงอย่างในปัจจุบัน

ผ้าคลุมไหล่ขนแกะ 100 เปอร์เซ็นต์

การเดินทางค่อนข้างลำบาก แม้กระทั่งปัจจุบันจากตัวอำเภอแม่ลาน้อยเข้าไปยังหมู่บ้านห้วยห้อม ก็ต้องใช้เวลานานชั่วโมงเศษ ผ่านเส้นทางที่นักท่องเที่ยวมุ่งมั่นไปในช่วงฤดูหนาว คือ ทุ่งดอกบัวตอง เลยเข้าไปอีกระยะหนึ่ง ตลอดเส้นทางไม่มี คำว่า พื้นราบ มีแต่ทางลาดชันและเขา

คุณมะลิวัลย์ นักรบไพร หญิงแกร่งที่ริเริ่มกิจกรรมทางการเกษตรหลายอย่างของหมู่บ้าน ให้การต้อนรับด้วยกาแฟอาราบิก้ารสชาติดี ชักชวนนั่งคุยบนชั้น 2 ของบ้าน ที่เทียบได้กับความสูงของตึก 5-6 ชั้น เพราะตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของภูเขาลูกเล็กๆ ใกล้ๆ หุบเขาใหญ่บริเวณนั้น

คุณมะลิวัลย์ นักรบไพร ทอผ้าให้ดู

คุณมะลิวัลย์ เล่าย้อนให้ฟังถึงอดีตที่มาของการทำไร่กาแฟ ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ปักหลักฐานที่ทำกินอยู่บริเวณนี้มากว่า 200 ปี คุณพ่อของคุณมะลิวัลย์ เป็นคนริเริ่มการทำการเกษตร เพราะมองว่าชนเผ่าควรมีที่มาของรายได้ กระทั่ง ปี 2514 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ เยือนบ้านห้วยห้อม จึงเป็นผลต่อมาให้ในปี 2519 มีเจ้าหน้าที่โครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนการทำแปลงเกษตรอย่างจริงจัง

“ก่อนหน้าที่โครงการหลวงจะเข้ามา มีมิชชันนารีช่วยส่งเสริม นำต้นพันธุ์กาแฟอาราบิก้ามาให้ทดลองปลูก และนำแกะมาให้เลี้ยง 5 ตัว ก็เป็นจุดเริ่มต้น เมื่อเจ้าหน้าที่โครงการหลวงเข้ามา จึงต่อยอดวิธีการปลูกกาแฟที่ถูกต้อง ส่งเสริมในเรื่องของการนำสารชีวภาพมาใช้แทนสารเคมี การปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงแกะ และการทอผ้าขนแกะเพื่อขายเป็นรายได้”

เมล็ดกาแฟอาราบิก้า

คุณมะลิวัลย์ เล่าถึงการทำไร่กาแฟของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงว่า แรกเริ่มไม่มีใครมีความรู้ แต่มิชชันนารีที่นำมาให้สอนให้เข้าใจว่า พืชทุกชนิดมีวิธีการปลูกที่ไม่ต่างกัน ต้องรดน้ำ ให้ปุ๋ย ให้ธรรมชาติช่วยดูแล โดยเฉพาะสภาพอากาศบนภูเขา และมีความหนาวเย็นต่อเนื่องตลอดปี เหมาะแก่การปลูกกาแฟ เมื่อถึงเวลาให้ผลผลิต เก็บผลผลิตแล้วก็ตัดแต่งกิ่งกาแฟ จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการของการเจริญเติบโตใหม่อีกรอบ

ในระยะแรกของการปลูกกาแฟ เมื่อได้ผลผลิต ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเก็บแล้ว ก็นำไปตำกะลาออก ขายเมล็ดด้านในของกาแฟ การคั่วบดก็ยังทำไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องมือ การขายก็ต้องอาศัยมิชชันนารีนำไปฝากขายในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อโครงการหลวงเข้ามาส่งเสริม ทำให้ได้งบประมาณจากหน่วยงานรัฐที่ดูแลส่งงบประมาณมาให้ จึงเริ่มซื้อเครื่องและอุปกรณ์เกี่ยวกับเมล็ดกาแฟ เพื่อให้จำหน่ายได้อย่างมีคุณภาพ

การยีขนแกะ

เมื่อเริ่มปลูกกาแฟเป็นเรื่องเป็นราว โดยครอบครัวของคุณมะลิวัลย์เริ่มต้น ถึงปัจจุบันมีพื้นที่ทำไร่กาแฟมากกว่า 2,000 ไร่ จากจำนวนชาวบ้านห้วยห้อมทั้งหมดกว่า 400 ครัวเรือน มีผลผลิตกาแฟออกสู่ตลาดราว 60 ตัน ทุกปี

เพราะการผลิตอย่างมีคุณภาพ ทำให้ตลาดกาแฟอาราบิก้าของชาวบ้านห้วยห้อม ไม่ใช่ตลาดระดับล่าง เมล็ดกาแฟเกือบทั้งหมดถูกจับจองรับซื้อโดยโครงการหลวง 10 ตัน และร้านกาแฟแบรนด์สตาร์บัค แบรนด์ระดับบนที่หลายคนติดใจอีก 30 ตัน ส่วนที่เหลือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟระดับโอท็อปของจังหวัด

การทำไร่กาแฟโดยอาศัยธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี ผลผลิตมีคุณภาพ ทำให้รายได้จากกาแฟต่อไร่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านห้วยห้อมแห่งนี้ มีมากถึงร้อยละ 90 จึงถือเป็นรายได้หลักของที่นี่

ไม้ผลอื่นๆ เป็นเพียงพืชเสริมรายได้ เช่น อะโวกาโด พลับ เสาวรส มะม่วง เป็นต้น

รายได้รองจากการทำไร่กาแฟของชาวบ้านห้วยห้อม คือ การทอผ้าขนแกะ

การเลี้ยงแกะ ก็เริ่มจากการส่งเสริมของมิชชันนารีพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้ทำไร่กาแฟในระยะแรก แต่เป็นการให้แกะมาเลี้ยงในระยะเริ่มแรกเพียง 5 ตัว จากนั้น เมื่อเห็นว่าการเลี้ยงแกะเป็นเรื่องทำได้ไม่ยาก ก็เพิ่มจำนวนแกะมากขึ้น และเมื่อโครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมให้ปลูกหญ้าสำหรับแกะ เช่น หญ้ารูซี่ และหญ้าเนเปียร์ ก็ทำให้การเลี้ยงแกะเป็นระบบมากขึ้น

ทุกๆ ครัวเรือน มีแกะเป็นของตนเอง และมีแกะซึ่งเป็นของชุมชน เลี้ยงไว้บนภูเขา บริเวณใกล้กับที่ปลูกหญ้ารูซี่และหญ้าเนเปียร์

แกะที่แต่ละครัวเรือนเลี้ยง จะทำโรงเรือนสำหรับแกะไว้ และปล่อยฝูงแกะให้ออกกินหญ้าในทุกวัน หรือหากไม่มีแรงงานเลี้ยงแกะ ก็จะเลี้ยงในโรงเรือน โดยแกะจำนวน 20 ตัว จะกินหญ้าสดประมาณ 10 กระสอบ ทุกวัน

คุณมะลิวัลย์ เล่าว่า การเลี้ยงแกะ ไม่ใช่เรื่องยาก เหมือนการเลี้ยงสัตว์ทั่วไป มีปศุสัตว์อำเภอเข้ามาทำวัคซีนให้เมื่อครบอายุ ในแต่ละวันแกะต้องการกินหญ้ามาก แต่ควรให้จำกัดเพราะแกะกินเข้าไปก็ถ่ายออก ไม่ได้มีประโยชน์อะไร และการเลี้ยงแกะไม่ได้ต้องการเนื้อแกะ แต่ต้องการขนแกะ ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาของการงอกของขน ก็สามารถตัดได้ไม่ว่าแกะอ้วนหรือผอม

“แกะ จะสามารถตัดขนได้เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป รอบการตัดขนแต่ละครั้งจะใช้ระยะเวลา 1 ปี การตัดใช้กรรไกรคมเลาะขนแกะออก นำไปรวมกันไว้ ขนแกะมีหลายสี ได้แก่ เหลือง ขาว ครีม และน้ำตาล แต่ละสีเมื่อตัดแล้วไม่จำเป็นต้องแยก เพราะไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก หลังตัดขนเสร็จ จะนำไปแช่น้ำทำความสะอาด โดยใส่ผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างจาน เสมือนการซักผ้า ขยี้ให้ขนแกะสะอาด แล้วนำไปปั่นให้แห้งด้วยเครื่องซักผ้า หรือตากแดดก็ใช้เวลาไม่นาน จากนั้นนำกลับมายีขนให้ฟูด้วยการใช้หวีคุณภาพจากต่างประเทศ แล้วจึงนำไปปั่นให้เป็นเส้นเหมือนการปั่นฝ้ายหรือปั่นไหม”

การตัดขนแกะ ทำในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นฤดูร้อน แกะจะรู้สึกสบายตัว และผลัดขนขึ้นใหม่

แกะที่อายุมากขึ้น ขนแกะจะมากขึ้นตามลำดับด้วย

ขนแกะที่นำไปปั่นเตรียมทอ จะถูกย้อมด้วยวัตถุดิบที่ให้สีจากธรรมชาติ เช่น ใบมะม่วงให้สีเหลือง เปลือกกาแฟให้สีกาแฟ เป็นต้น

หลังการย้อมสี ชาวบ้านจะนำไปทอเป็นของใช้ เช่น หมวก ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าห่ม เพื่อขายเป็นรายได้เสริม โดยผ้าทุกผืนจะนำมารวมไว้ที่บ้านของคุณมะลิวัลย์ เมื่อถูกขายออกไปจะถูกหักเปอร์เซ็นต์ไว้สำหรับการบริหารจัดการภายในกลุ่ม ซึ่งปัจจุบัน การขายผ้าขนแกะเปิดรับออเดอร์และขายผ่านเว็บไซต์ พร้อมจัดส่งถึงมือลูกค้าแล้ว

ประมาณ 15 ปีก่อน คุณมะลิวัลย์ มีโอกาสไปศึกษาดูงานการทำโฮมสเตย์ จึงนำกลับมาพัฒนาบ้านห้วยห้อม ทำให้ปัจจุบันหมู่บ้านห้วยห้อมเป็นโฮมสเตย์ที่น่ารัก และรองรับนักท่องเที่ยวได้ราว 200 คน

ด้วยความโดดเด่นเรื่องของธรรมชาติ บ้านห้วยห้อมรู้จักการนำเสนอจุดเด่นของตนเอง นำอาหารพื้นถิ่น การละเล่นพื้นถิ่น การเรียนรู้การทอผ้าขนแกะ และการทำการเกษตรอื่นๆ เช่นเดียวกับที่ชาวบ้านห้วยห้อมลงมือทำ ไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจปฏิบัติ หรือหากนักท่องเที่ยวต้องการเพียงการพักผ่อนก็ทำได้ เพราะการนอนพักนิ่งๆ ภายใต้อากาศบริสุทธิ์สดชื่นแบบบ้านห้วยห้อมหาไม่ได้ง่ายนัก

อัตราค่าบริการ ที่พักก็สนนราคาไม่สูง อาหารก็มีบริการ ขึ้นกับนักท่องเที่ยวว่าต้องการแบบไหน

ทั้งหมดทั้งมวล ไปหาความสุขได้ที่ บ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แนะนำให้ติดต่อไปก่อน ที่คุณมะลิวัลย์ นักรบไพร บ้านห้วยห้อม หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 089-555-3900, 095-448-2350 และ 089-854-0914

……………………………………………………………………………………………………………………………………….

เทคโนโลยีชาวบ้านจัดงานใหญ่ประจำปี! “นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรกรไทยยุค 5G”  ในวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ข่าวสด จำกัด แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาฟรี โดยผ่านการลงทะเบียน 2 ช่องทาง คือ https://www.eventpassinsight.co/mobile/registration/create/ifn/?code=5g หรือโทรศัพท์แจ้งความจำนงได้ที่ (02) 580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342 และ 2343 ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนาล่วงหน้า จะได้รับกล้ามะละกอเสียบยอดจากคุณทวีศักดิ์ กลิ่งคง และต้นกล้าดอกดาวเรืองจาก บริษัท East-West seed (ศรแดง) ฟรี