กล้วยหอมทอง บ้านช่องหลำ กระบี่ ผลิตได้คุณภาพ ส่งขายญี่ปุ่น

กล้วยหอม นอกจากกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังประกอบไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติ 3 ชนิด คือ ซูโครส ฟรุกโตส และกลูโคส อีกทั้งยังมีเส้นใยอาหาร รวมทั้งวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ หลายชนิด มีส่วนช่วยลดอาการท้องผูก โรคโลหิตจาง และยังช่วยรักษาแผลในลำไส้เรื้อรัง รักษาโรคความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยและเหมาะสำหรับผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่มีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมกระจายอยู่ทั่วประเทศ

“ก่อนจะปลูกอะไร ต้องหาตลาดก่อน” แนวคิดของ คุณจตุพงษ์ สังข์นุ่น หรือ น้องนาน อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 9 บ้านช่องหลำ ตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ เกษตรกรหัวก้าวหน้า เล่าว่า เดิมทำสวนมะละกอเรดเลดี้มาก่อน แต่เมื่อมะละกอหมดอายุ จึงคิดหาพืชใหม่มาทดลองปลูก เพราะปลูกมะละกอในพื้นที่ซ้ำๆ ผลผลิตจะไม่ดีและมีโรคมาก

สนใจปลูกกล้วยหอมทอง จึงค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต พบว่า กล้วยหอมทอง เป็นพืชที่น่าสนใจและมีสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวบรวมผลผลิตที่ได้มาตรฐานส่งขายประเทศญี่ปุ่น จึงตัดสินใจเข้าไปขอความรู้และสมัครเป็นสมาชิกปลูกกล้วย ซึ่งพอดีกับทางสหกรณ์กำลังมีโครงการขยายพื้นที่ปลูกเพื่อให้มีผลผลิตส่งอย่างต่อเนื่องพอดี

ปลูกแซมปาล์มน้ำมัน

โดยทางสหกรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจพื้นที่และวางระบบการผลิตให้ก่อน เริ่มแรกคุณจตุพงษ์ลองปลูก 12 ไร่ ประมาณ 5,000 ต้น ดูแลกล้วยไปตามระบบของสหกรณ์จนออกเครือและเก็บเกี่ยว ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน เก็บผลผลิตได้ 40 ตัน ส่งให้กับสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร แบ่งเป็น 2 ราคา คือ 12.50 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 70 ของผลผลิต และราคา 17.50 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 30 รวมที่ขายได้คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 560,000 บาท

คุณจตุพงษ์ เล่าว่า ตนมีพื้นที่ 21 ไร่ มะละกอเรดเลดี้ เป็นพืชทำเงินตัวแรกที่ทำให้มีเงินทุนมาขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในสวน แต่หลังจากมะละกอหมดอายุหาต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพมาปลูกต่อไม่ได้ ต้นแคระแกร็น และมีโรคมาก จึงหาพืชตัวอื่นมาปลูกแทน ลองปลูกกล้วยหอมทอง 12 ไร่ ชมพู่ทับทิมจันท์ 4 ไร่ และแซมด้วยตะไคร้ระหว่างต้นชมพู่ มีนะนาวในวงท่อ 50 ท่อ ขุดสระเก็บน้ำ ประมาณ 2 ไร่

ตะไคร้แซมชมพู่ทับทิมจันท์

ซึ่งกล้วยหอมทองที่ทดลองปลูกปรากฏว่าได้คุณภาพตามมาตรฐานส่งออกของทางสหกรณ์ เพราะทำตามที่เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ได้แนะนำไว้ ปัจจุบันกำลังวางแผนการผลิตเพื่อให้สามารถส่งได้อย่างต่อเนื่อง และชักชวนเพื่อนและญาติมาร่วมปลูกด้วย เพื่อให้มีปริมาณและมีผลผลิตส่งในช่วงที่ของตนขาด

คุณจตุพงษ์ บอกว่า กล้วยหอมปลูกไม่ยาก โดยก่อนปลูกกล้วยต้องมีการปรับพื้นที่ โดยเริ่มแรกไถตากหน้าดิน 3 เดือน เพื่อฆ่าเชื้อโรคในดิน จากนั้นลงหน่อกล้วยไปเรื่อยๆ พื้นที่ 1 ไร่ ใช้หน่อกล้วย 400 ต้น ปลูกระยะ 2×2 เมตร ส่วนหญ้าจะใช้วิธีการตัดหญ้า ซึ่งที่นี่จะไม่ใช้สารเคมีฆ่าหญ้า และสารกำจัดแมลง

ผลผลิตคุณภาพ

หลังเปลี่ยนสวนมะละกอมาปลูกกล้วยหอมทอง คุณจตุพงษ์ บอกว่า แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพราะกล้วยไม่ต้องใช้สารเคมี ปลูกทิ้งไว้ ออกหวี ออกเครือ…แต่ต้องปลูกและดูแลในแบบที่สหกรณ์กำหนด ทั้งใช้ปุ๋ยชีวภาพ การตัดแต่งใบ ซึ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะใบกล้วยแห้งต้องตัดออกให้หมด เพื่อป้องกันใบสีกับผลกล้วย ซึ่งจะทำให้ผิวไม่สวย กำจัดวัชพืชให้สวนโล่งโปร่ง อากาศถ่ายเทง่าย เพื่อป้องกันการเกิดเพลี้ยแป้ง…ส่วนการให้น้ำ ติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ และให้น้ำสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง อย่าให้ขาดน้ำ ต้นจะแกร็นไม่โต และถ้าออกลูกจะมีขนาดเล็ก

ในกล้วย 1 กอ ให้เลือกเอาเฉพาะต้นสมบูรณ์ไว้เพียง 1 ต้น ถ้าไว้มาก จะเกิดการแย่งอาหารกันเอง ทำให้เครือเล็ก ผลกล้วยไม่ได้ขนาด และเมื่อกล้วยออกเครือหวีแก่ 70-75% ก็สามารถตัดขายได้

อย่างนี้ส่งต่างประเทศ

ต้นทุนการปลูกกล้วยหอมทอง ปลอดสารเคมี พื้นที่ 1 ไร่

จำนวน 400 หน่อ
1. ค่าเตรียมดิน 1,700 บาท
2. ค่าหน่อพันธุ์ 3,200 บาท
3. ค่าแรงปลูก 1,200 บาท
4. ค่าน้ำมันตัดหญ้า (8 ครั้ง) 1,200 บาท
5. ค่าแรงตัดหญ้า (8 ครั้ง) 400 บาท
6. ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง (รดน้ำ) 3,000 บาท
7. ค่าปุ๋ยคอก 2,400 บาท
8. ค่าปุ๋ยเคมี 3,000 บาท
รวมต้นทุน 16,100 บาท
ต้นทุน/ต้น 40.25 บาท 16,100 (ต้นทุน)/400 (หน่อ) ต้นทุนที่ไม่มีระบบน้ำ 32.75 บาท/ต้น

ดูแลดี

การให้ปุ๋ย
1. ใส่ปุ๋ย ครั้งที่ 1 เมื่อกล้วยหอม อายุ 1 เดือน ด้วย สูตร 46-0-0 หรือ 25-7-7 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 80-100 กรัม/ต้น
2. ใส่ปุ๋ย ครั้งที่ 2 เมื่อกล้วยหอม อายุ 3 เดือน ด้วย สูตร 46-0-0 หรือ 25-7-7 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 250 กรัม/ต้น
3. ใส่ปุ๋ย ครั้งที่ 3 เมื่อกล้วยหอม อายุ 5 เดือน ด้วย สูตร 5-15-20 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 250 กรัม/ต้น
4. ใส่ปุ๋ย ครั้งที่ 4 เมื่อกล้วยหอม อายุ 6-7 เดือน เพื่อบำรุงคุณภาพผลผลิต ด้วยสูตร 13-13-21 อัตรา 50-100 กรัม

การแต่งหน่อ
หลังจากปลูกกล้วย ประมาณ 3-5 เดือน ให้แต่งหน่อเพื่อให้ต้นแม่มีความสมบูรณ์

การตัดแต่งทางใบ
ควรตัดแต่งทางใบ เมื่อกล้วยมีอายุ 3-5 เดือน ตัดเฉพาะใบที่หมดอายุการใช้งาน โดยเหลือไว้ไม่ต่ำกว่า 8-10 ใบ

การออกปลี
เมื่อปลูกกล้วยไปแล้ว ประมาณ 6-8 เดือน กล้วยจะมีลำต้นขนาดใหญ่ พร้อมออกปลีโดยจะแตกใบยอดสุดท้าย ซึ่งมีขนาดสั้นและเล็กมาก ชูก้านใบชี้ขึ้นท้องฟ้า เรียกว่า “ใบธง” หลังจากนั้น กล้วยจะแทงปลีกล้วยสีแดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน และกาบปลีจะบานจนสุดหวี

การตัดปลี
หลังจากกล้วยออกปลีระยะหนึ่ง หวีที่อยู่ปลายเครือจะเริ่มเล็กลงและผลจะสั้น ขนาดของผลไม่สม่ำเสมอกัน ซึ่งเรียกว่า “หวีตีนเต่า” จะตัดแต่งปลายเครือถัดจากหวีตีนเต่า 3 ชั้น เพื่อไว้สำหรับปลายเครือเมื่อถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว

การค้ำยันต้น
ต้องใช้ไม้ค้ำยันหรือดามกล้วยทุกต้นที่ออกปลีแล้ว เพื่อป้องกันลำต้นล้ม และตรวจดูการค้ำยันให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง

การเก็บเกี่ยว
หลังจากตัดปลีกล้วยออกจากเครือแล้ว ประมาณ 53 วัน จะได้เนื้อกล้วยประมาณ 70-75% จึงตัดกล้วยทั้งเครือ แล้วนำมาหุ้มด้วยแผ่นโฟม ขนาด 3 มิลลิเมตร เพื่อป้องกันกล้วยช้ำระหว่างการขนส่ง

หมายเหตุ
ควรมีการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยชีวภาพ ร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมี ทุกครั้งเพื่อลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมี

มาตรฐานกล้วยหอมทอง
1. เป็นแปลงกล้วยของสมาชิกที่ไม่ใช้สารเคมี
2. สีเนื้อของกล้วยความแก่อยู่ที่ประมาณ 70-75%
3. กล้วยที่ส่งออก จะต้องมีน้ำหนักต่อลูก อย่างน้อย 110 กรัม/ลูก
4. รอยแผล ช้ำ ปานแดง และลูกลาย บนผิวกล้วยนั้นรวมแล้วไม่เกิน 20%

สำหรับท่านใดที่สนใจกล้วยหอมคุณภาพ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณจตุพงษ์ สังข์นุ่น เลขที่ 99 หมู่ที่ 9 บ้านช่องหลำ ตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ โทรศัพท์ 065-348-8756