3 นวัตกรรมเด่น ของ ม. นเรศวร

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้บูรณาการในการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และภาคเอกชนช่วยกันสานต่อนโยบายพลังประชารัฐ พัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านเกษตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมการเกษตร ผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยสู่ภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง

คุณสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงาน สวก.

คุณสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กล่าวว่า สวก. มุ่งสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและระบบวิจัย ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและนโยบายของรัฐบาล สนับสนุนให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศ โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ผู้บริหาร สวก. และคณาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ผ่านมา สวก. ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยกับมหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาโครงการวิจัยที่มีศักยภาพสูง ร่วมกับภาค เอกชนที่สนใจ ขณะนี้มีผลงานวิจัยที่พร้อมถ่ายทอดสู่ผู้ใช้ประโยชน์ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
1. โครงการการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดใบกฤษณา เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ
2. โครงการการวิจัยและพัฒนาการผลิตเห็ดถั่งเช่าสีทองเชิงพาณิชย์
3. โครงการสารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกันและพลังงานแบบเร่งด่วนสำหรับสุกร

สารสกัดใบกฤษณา “บำรุงเส้นผม”

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากธรรมชาติ กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ แถมเมืองไทยมีสมุนไพรหลากหลายชนิดที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง รองศาสตราจารย์ ดร. ภก. เนติ วระนุช ภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้นำสมุนไพรไทย คือ “กฤษณา” นำมาศึกษาวิจัย ภายใต้ชื่อ โครงการการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดใบกฤษณา เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ

สารสกัดใบกฤษณาช่วยบำรุงผิวหน้าและเส้นผม
ใบกฤษณา

กฤษณา เป็นพืชในวงศ์ Tymelaeaceae สกุล Aquilaria มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงตั้งแต่ 2 ถึง 30 เมตร ลำต้นตรง ทรงสูงโปร่ง เปลือกเรียบสีเทาหรือขาว จากการศึกษาพบว่า มีประมาณ 15 สายพันธุ์ ที่มีการบันทึก และมี 5 สายพันธุ์ ที่พบในประเทศไทย คือ A. malaccensis Lam. T, A. crassna Pierre ex Lecomte T, A. subintegra Ding Hou S/ST, A. hirta Ridl. S และ A. rugosa K. Le-Cong&Kessler

กฤษณา จัดว่าเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีการค้าขายมาอย่างยาวนาน เพราะสามารถนำมาผลิตน้ำมันที่มีกลิ่นหอมและมีราคาแพง ซึ่งสกัดมาจากยางของแก่นไม้เกิดการติดเชื้อจากเชื้อรา ที่ผ่านมา ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ ยังใช้กฤษณาเป็นส่วนประกอบในการปรุงยารักษาอาการไข้ การสมานแผล และการบำรุงร่างกาย

คณะวิจัยพบว่า ใบกฤษณามีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญ จำพวก xanthone glycosis, สารกลุ่ม benzophenone glycoside และสารกลุ่ม flavonoid glycoside ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณสมบัติยับยั้งเอนไซม์ ส่งผลต่อการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือด และสาร mangiferin ยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชนิดหนึ่ง ที่เป็นตัวการทำให้ขนาดของเซลล์เส้นผมเล็กลงและหลุดร่วงเร็วขึ้น

ภาวะผมร่วงเนื่องจากฮอร์โมนเพศชาย (Androgenic alopecia) พบได้ถึง 30% ในผู้ชายอายุ 30 ปี และมากถึง 50% ในผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปี สาเหตุหลักเกิดจากพันธุกรรมและฮอร์โมน ส่วนฮอร์โมนที่มีผลต่อภาวะผมร่วงคือ Dihydrotestosterone (DHT) และส่งผลต่อการอักเสบในรากผม ซึ่งมีรายงานพบว่า 55% ของผู้มีภาวะศีรษะล้านมีอาการอักเสบของรากผมนั่นเอง

ทีมวิจัยได้ค้นพบ สารต้านการอักเสบของสาร mangiferin ซึ่งพบมีปริมาณสูงในใบกฤษณา ผลการทดสอบในหนูทดลอง พบว่า สาร mangiferin สามารถช่วยให้ปอดของหนูต่อต้านการเหนี่ยวนำของการติดเชื้อได้โดยองค์ความรู้พื้นฐานนี้สำหรับโครงการศึกษาวิจัย สารสกัดจากกฤษณาเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาฤทธิ์ในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์รากผม ฤทธิ์ต้านการอักเสบต่อเซลล์รากผม รวมถึงฤทธิ์ในการยับยั้ง adrogenic hormone ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับดูแลเส้นผม

การผลิตเห็ดถั่งเช่าสีทองเชิงพาณิชย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง แนวทางพัฒนาการผลิตเห็ดถั่งเช่าสีทองเชิงพาณิชย์ เนื่องจากผลการศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่า เห็ดถั่งเช่า มีสาระสำคัญทางชีวภาพหลายชนิด ที่มีคุณสมบัติบำรุงไตและปอด กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ช่วยรักษาสมดุลของคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด ลดการอักเสบ และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา และต้านมะเร็งได้

โชว์นวัตกรรมการผลิตเห็ดถั่งเช่าสีทองเชิงพาณิชย์

จากการค้นพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพดังกล่าว ทำให้เห็ดถั่งเช่าเริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ และเป็นอาหารเสริมที่มีราคาสูงมาก มีการศึกษารวบรวมจำแนก เพาะเลี้ยง ปรับปรุงสายพันธุ์ และพัฒนาการผลิตเป็นการค้าในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และสิงคโปร์

เห็ดถั่งเช่าสีทอง พบในแหล่งธรรมชาติทั่วไป ที่ระดับอุณหภูมิระหว่าง 10-28 องศาเซลเซียส เห็ดถั่งเช่าสีทอง มีส่วนประกอบของสารอาหาร วิตามิน เกลือแร่ และยาหลายชนิดที่สูงกว่าเห็ดถั่งเช่าทิเบต การเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทอง สามารถทำได้ง่ายกว่าเห็ดถั่งเช่าทิเบต
การรับประทานเห็ดถั่งเช่าทำได้หลายวิธี รับประทานสดหรือแห้งก็ได้ โดยธรรมชาติของเห็ดถั่งเช่าเมื่อเก็บเกี่ยวดอกเห็ดออกจากอาหารที่เพาะเลี้ยงแล้ว ดอกเห็ดจะเหี่ยวลงอย่างรวดเร็ว จึงไม่นิยมเก็บดอกสดไว้รับประทาน ประกอบกับต้องใช้วิธีการเก็บรักษาดอกสดที่ค่อนข้างยุ่งยากและใช้ต้นทุนสูง

โชว์นวัตกรรมการผลิตเห็ดถั่งเช่าสีทองเชิงพาณิชย์

ดังนั้น นักวิจัยจึงมุ่งศึกษาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และคงคุณภาพของเห็ดถั่งเช่าสีทอง เพื่อการบริโภคและรักษาคุณสมบัติเสริมสุขภาพของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวน้อยมาก การเก็บรักษาเห็ดที่ผ่านการทำแห้งแล้วในสภาวะที่ไม่เหมาะสม อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อราชนิดอื่นๆ ได้

ปัจจุบัน ประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการคัดแยกสายพันธุ์เห็ดถั่งเช่าสีทอง เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและคงคุณภาพของเห็ดถั่งเช่า จากธรรมชาติได้ 15 ชนิด ซึ่งยังมีความแปรปรวนสูงในด้านความสามารถในการผลิตสาร codycepin ที่มีคุณภาพและปริมาณที่แตกต่างกันด้วย ปัญหาที่พบคือ ยังขาดองค์ความรู้พื้นฐานในการพัฒนาอาหารเพาะเลี้ยงเชื้อที่เหมาะสมที่กระตุ้นการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณของเส้นใย และการพัฒนาดอกเห็ด

ดังนั้น มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงมุ่งศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาเห็ดถั่งเช่าสีทองเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเห็ดถั่งเช่าแบบยั่งยืนพึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศ และการนำเทคนิคทั้งเทคนิคทางลักษณะทางสัณฐานวิทยาและเครื่องหมายดีเอ็นเอ มาใช้ประโยชน์สำหรับระบุเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ของถั่งเช่าที่พบในประเทศไทย

ผลงานวิจัยดังกล่าว อาจทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับระบุชนิดสายพันธุ์ที่ทำให้สามารถเลือกใช้สายพันธุ์ได้ตรงตามความต้องการในการผลิตดอกเห็ด หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพในเชิงการค้า นอกจากนี้ ยังเป็นฐานข้อมูลทางพันธุกรรมที่สำคัญสำหรับการปรับปรุงพันธุ์เชื้อราเห็ดถั่งเช่า ให้ผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีคุณภาพและปริมาณสูง ที่ผ่านมา สวก. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัยดังกล่าวให้แก่ บริษัท บิ๊ค เคมิคอล จำกัด ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงการค้าในอนาคต

กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้หมูแข็งแรง

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมสัตว์ปีกและสุกรของไทย พยายามลดหรืองดการใช้ยาปฏิชีวนะในการผลิตสัตว์ลง แต่ปัญหาที่ติดตามมาคือ เสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือการเจ็บป่วยของสัตว์ที่เลี้ยงทั้งในระบบปิดและระบบเปิด ดังนั้น รองศาสตราจารย์ ดร. วันดี ทาตระกูล ภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงรวบรวมนักวิจัยศึกษาค้นคว้าหาคำตอบ เกี่ยวกับ “สารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกันและพลังงานแบบเร่งด่วนสำหรับสุกร”

อาหารเสริมพลังงาน สำหรับสุกรจากน้ำมันเมล็ดในปาล์ม

เนื่องจาก “น้ำมันเมล็ดในปาล์ม” (Palm Kernel Oil; PKO) มีปริมาณ MCFAs สูง เป็นแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และเป็นพืชน้ำมันในกลุ่มน้ำมันลอริก (Lauric Oils) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อโรคหลายชนิด เช่นเดียวกับ “น้ำมันปาล์มดิบ” (Crude Palm Oil; CPO) มีองค์ประกอบของสารกลุ่ม Phytonutrients ซึ่งเป็นสารช่วยบำรุงสุขภาพ มีความเหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งพลังงานสำเร็จรูป (instant energy) สำหรับลูกสัตว์วัยอ่อนที่มีปัญหาอ่อนแอ เนื่องจากการหลั่งน้ำดีและเอนไซม์ได้น้อย “น้ำมันในเมล็ดปาล์มดิบ” สามารถใช้เป็นวัตถุเพิ่มเติมในอาหารสัตว์ (feed additives) หรือใช้เสริมให้สัตว์กินโดยตรง เพื่อสนับสนุนด้านสุขภาพและประสิทธิภาพของลูกสัตว์

ดังนั้น นักวิจัยได้มุ่งศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมพลังงานสูงสำหรับสัตว์เกิดใหม่และสัตว์วัยอ่อนจาก “น้ำมันเมล็ดในปาล์มและน้ำมันปาล์มดิบ” และโครงการการพัฒนาสูตรอาหารเสริมพลังงานสำหรับสัตว์เศรษฐกิจจากน้ำมันเมล็ดในปาล์มและน้ำมันปาล์มดิบ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวก.

รองศาสตราจารย์ ดร. วันดี ทาตระกูล โชว์ผลงานสารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับสุกร

ผลงานวิจัยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า ปาล์มน้ำมันสามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานฉุกเฉินให้กับลูกสุกรแรกเกิดที่น้ำหนักแรกเกิดน้อย เพิ่มน้ำหนักหย่านม และเพิ่มการกินได้ของสุกรหย่านมใหม่ได้ประมาณ 20% ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตในช่วงอนุบาลได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการวิจัยเพื่อนำมาผลิตเป็นสารเสริมภูมิคุ้มกันให้กับลูกสัตว์และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

องค์ความรู้เรื่องการนำเมล็ดในของปาล์มน้ำมัน (Palm kernel Oil; PKO) และน้ำมันปาล์มดิบ (Crude palm Oil; CPO) จากงานวิจัยดังกล่าว ถูกนำมาพัฒนาเป็นสูตรอาหารเสริมประเภทพลังงานสูงสำหรับสุกรแม่พันธุ์และสุกรระยะรุ่นที่สามารถต้านไวรัสและช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในการผลิตสุกร

ผลสำเร็จจากงานวิจัยดังกล่าว ถูกนำไปจดอนุสิทธิบัตร 2 เรื่อง คือ
1. อนุสิทธิบัตร “สารเสริมกรดไขมันอิ่มตัวขนาดกลางพลังงานสูง สำหรับสุกรหลังหย่านมจากน้ำมันเมล็ดในปาล์ม” และ
2. อนุสิทธิบัตร “น้ำมันผสมกรดไขมันอิ่มตัวขนาดกลาง สำหรับสุกรจากน้ำมันเมล็ดในปาล์ม

บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ในเครือเบทาโกร เล็งเห็นประโยชน์จากผลงานวิจัยดังกล่าว ที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของบริษัท ที่ต้องการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มสุกรที่จำหน่ายเชิงการค้าของบริษัท จึงได้เข้าร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรพัฒนาโครงการวิจัยสารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกันและพลังงานแบบเร่งด่วนสำหรับสุกร ที่มีคุณสมบัติ 3 ประการ ได้แก่
1. ประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของลูกสุกร
2. การตอบสนองของเซลล์ผนังลำไส้เล็ก และ
3. การตอบสนองภูมิคุ้มกันระดับยีน