ชวนชิม “ กล้วยตากบางกระทุ่ม ” รสอร่อย ฝีมือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร บ้านเกาะคู จ.พิษณุโลก

อำเภอบางกระทุ่ม ได้รับการยกย่องว่า เป็นแหล่งผลิตกล้วยตากคุณภาพดี มีรสหวาน กลิ่นหอม นุ่ม อร่อยระดับแนวหน้าของประเทศ แถมมีรางวัลเป็นเครื่องการันตีคุณภาพมากมายนับไม่ถ้วน ส่งผลให้ “ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ” ของท้องถิ่นแห่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญของจังหวัดพิษณุโลกมาจนถึงปัจจุบัน

สืบสานตำนานกล้วยตาก

คุณอ้อ หรือ คุณศิลาพร สิงหลักษณ์ เป็นแกนนำกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร บ้านเกาะคู เธอเล่าว่า  ครอบครัวคุณอ้อสืบทอดกิจการกล้วยตากจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานถึง 84 ปีแล้ว  ปัจจุบัน คุณอ้อ นับเป็นทายาทรุ่น 2 ที่สืบทอดกิจการกล้วยตากจากบรรพบุรุษ

คุณอ้อโชว์สินค้ากล้วยตาก ที่มีชื่อเสียงของตำบลบางกระทุ่ม

เมื่อปี 2474 นางโป๊ว ผู้เป็นย่าของกำนันประภาส(คุณพ่อของคุณอ้อ) ได้นำหน่อกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องจำนวน  2 หน่อ มาจากเมือง แปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงทรา เพราะติดใจในรสชาติความอร่อยของกล้วยพันธุ์นี้ ระยะแรก ตั้งใจปลูกขายเพื่อขายกล้วยหวี เพื่อเป็นรายได้เลี้ยงดูครอบครัว โดยขายส่งผลกล้วยให้กับพ่อค้าที่มาทางเรือ จากจังหวัดต่างๆ

พ่อค้ารับซื้อเฉพาะกล้วยหวีงามๆ เพราะขายได้ราคาดี แต่กล้วยตีนเต่า หวีเล็ก ปลายเครือมักขายไม่ได้ ย่าโป๊วจึงนำกล้วยที่เหลือจากการขายไปเลี้ยงปลา แต่เนื่องจากจำนวนกล้วยตกเกรดเหล่านี้มีจำนวนมาก  ย่าโป๊วจึงคิดค้นวิธีเพิ่มมูลค่ากล้วย โดยทดลองนำกล้วยไปตากเหมือนกับการตากผักกาดเค็มแล้วเก็บใส่ไหไว้กินในครอบครัว ที่เหลือก็แจกจ่ายให้ญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมเยือนนำไปรับประทานทาน ปรากฎว่ากล้วยตากของย่าโป๊วมีรสชาด หอมหวาน ใครทานก็ติดใจ จึงกลายเป็นที่มาของกล้วยตากที่เลื่องชื่อของอำเภอบางกระทุ่มในเวลาต่อมา

ส่งเสริมปลูกกล้วยมะลิอ่อง 

ธุรกิจกล้วยตากของครอบครัวคุณอ้อ เริ่มพัฒนาเข้าสู่ระบบสากลมากขึ้น จากฝีมือการบริหารงานของคุณพ่อ คือ กำนันประภาส สิงหลักษณ์  เริ่มจากส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนหันมาปลูกกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องในพื้นที่เกาะคู อำเภอบางกระทุ่ม โดยกำนันประภาสแจกจ่ายพันธุ์กล้วยมะลิอ่องให้ชาวบ้านได้ปลูกกันอย่างกว้างขวาง

ชาวบ้านนิยมปลูกกล้วยน้ำว้ามะลิอ่องในระยะปลูก 2.5 x 3 เมตร จะปลูกได้ประมาณ 200  – 250 ต้นต่อไร่  ทั่วไปนิยมปลูกโดยวางหน่อกล้วย ลงในหลุม และกลบดินที่เหลือลงในหลุม กดดินบริเวณโคนหน่อกล้วยให้แน่น ปักไม้หลักและผูกเชือกยึด เพื่อป้องกันลมโยก หาฟางข้าว หญ้าแห้งคลุมบริเวณโคนต้นและรดน้ำให้ชุ่ม

คุณอ้อโชว์หน่อกล้วยน้ำว้ามะลิอ่องที่

หลังจากปลูกประมาณ 3-4 เดือน จะมีหน่อขึ้นมารอบ ๆ โคน ตัดไปเรื่อยจนกว่าจะเริ่มออกปลี หรือหลังปลูกแล้วประมาณ 7-8 เดือน ควรมีการไว้หน่อทดแทน 1-2 หน่อ โดยหน่อที่ 1 และที่ 2 ควรมีอายุห่างกัน 4 เดือน เพื่อให้ผลกล้วยมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเลือกหน่อที่อยู่ตรงกันข้ามขยายพันธุ์โดยแยกหน่อ  ขยายพันธุ์ด้วยเหง้าหรือเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ปัจจุบันกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง นิยมปลูกเพื่อรับประทานผลสดและแปรรูปกันอย่างกว้างขวาง เนื่องกล้วยน้ำว้าพันธุ์นี้มีคุณสมบัติที่โดดเด่น เพราะ เป็นกล้วยพันธุ์ที่โตเร็ว มีความต้านทานโรคและแมลง ให้ผลมาก เนื้อละเอียด ไส้กล้วยอ่อนเป็น สีขาว มีความหวานสูง จึงเป็นกล้วยพันธุ์ที่ดีที่สุดสำหรับนำมาทำกล้วยตาก

กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับใช้ทำกล้วยตากมากที่สุด เพราะมีขนาดผลกลมสั้น เปลือกบาง ผิวสวย เนื้อละเอียด หวานแบบธรรมชาติ ไส้สีขาว และไม่มีเมล็ด  กล้วยมะลิอ่องหนึ่งเครือมีประมาณ 7-10 หวี กล้วยหนึ่งหวี จะมีประมาณ 10-16 ผล นับว่า กล้วยมะลิอ่อง สามารถให้ผลผลิตได้เป็นจำนวนมาก จึงนิยมนำ ไปทำกล้วยตาก จนกลายเป็นอาชีพสำคัญ ของชาวเมืองจังหวัดพิษณุโลก

กล้วยตากเกาะคู

เกาะคู เป็นพื้นที่ราบ มีน้ำล้อมรอบ เนื้อที่ราว 200 ไร่ กลายเป็นแหล่ปลูกกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องคุณภาพดี  ส่งไปขายในตลาดนครสวรรค์  ลพบุรี และอยุธยา ขณะเดียวกันกำนันประภาสก็รับซื้อกล้วยน้ำว้ามะลิอ่องจากเกษตรกร เพื่อนำมาแปรรูปและจำหน่ายในชื่อ “ กล้วยตากเกาะคู” และ “กล้วยตากบางกระทุ่ม”  ที่ได้รับความนิยมจากตลาดในวงกว้าง สร้างงาน สร้างอาชีพที่มีรายได้มั่นคง รวมทั้งสร้างชื่อเสียงให้แก่ชุมชนท้องถิ่นตลอดระยะเวลากว่า  30 ปีที่ผ่านมา

ผลงานดังกล่าว ทำให้กำนันประภาสได้รับรางวัลสิงห์ทอง ในฐานะผู้นำอาชีพก้าวหน้าระดับ จังหวัดพิษณุโลกและได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการพัฒนาชุม ชน จากสถาบันราชภัฏพิบูล-สงคราม จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.2537

กล้วยตาก พลังแสงอาทิตย์ 

ในอดีต ชาวบ้านจะนิยมทำกล้วยตากโดยการตากเเดดตามธรรมชาติ ต่อมากำนันประภาสได้ริเริ่ม การทำตากกล้วยในตู้อบพลังแสงอาทิตย์เป็นรายแรก  ทำให้การผลิตกล้วยตากมีความทันสมัย สะอาด ถูกหลักอนามัย ได้มาตรฐาน OTOP 5 ดาว กลายเป็นสินค้าขายดี เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและส่งออกมากขึ้น

โรงอบพลังแสงอาทิตย์ที่ได้รับสนับสนุนงบก่อสร้างจากภาครัฐ
ภายในโรงงานผลิตกล้วยตากบางกระทุ่ม

แหล่งเรียนรู้ “ปลูก-แปรรูป ” กล้วยน้ำว้าแบบครบวงจร

กำนันประภาส และครอบครัวสิงหลักษณ์ ได้ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน เนื้อที่  15 ไร่ 88 ตารางวา บริเวณบ้านเกาะคู หมู่ที่ 1  ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินแปลงดังกล่าว ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 29  ธันวาคม 2536 เพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีอาชีพผลิตกล้วยตากในพื้นที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก

ต่อมา  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการรับโอนที่ดินดังกล่าวมาดูแล ร่วมกับสำนักงาน กปร. เพื่อใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว และได้จัดตั้ง โครงการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตกล้วยตากบ้านเกาะคู ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก เพื่อดำเนินการพัฒนา และส่งเสริมการผลิตกล้วยตากบ้านเกาะคู โดยสนับสนุนส่งเสริมการรวมกลุ่มชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง

แปลงปลูกกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง

โครงการดังกล่าว ได้ให้การสนับสนุนในด้านวิชาการ และแนวทางการพัฒนาตลาด  รวมทั้งพัฒนาคุณภาพพันธุ์กล้วย  พัฒนาตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับอบกล้วยตากเพื่อจำหน่าย  โดยสร้างเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบกรีนเฮาส์ (พาราโบลาร์โดม)ที่มีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 20 เมตร รวมพื้นที่การทำแห้ง 160 ตารางเมตร สามารถอบกล้วยตากได้ครั้งละประมาณ 1,400 หวี

ทางกลุ่มแม่บ้านเกาะคู มีการควบคุมกระบวนการผลิตกล้วยตากในระบบสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร(GMP)ตามมาตรฐานCodex  สามารถผลิตกล้วยตากที่มีคุณภาพดีและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและส่งออก

ทางกลุ่มแม่บ้าน ร่วมกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกล้วยในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เช่น ผงกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ที่เหมาะสำหรับผลิตเป็นขนมคุกกี้  และชาเปลือกกล้วยน้ำว้า เพื่อสุขภาพ  สนใจแวะเยีียมชมกิจการแปรรูปกล้วยตากเกาะคู สามารถติดต่อคุณอ้อ หรือ คุณศิลาพร สิงหลักษณ์ บ้านเลขที่ 137 หมู่ที่ 3 ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก โทร.094-830-8310