ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต “กล้วยไข่” ผลงาน “วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร”

“กล้วยไข่” เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดกําแพงเพชร เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกกล้วยไข่พันธุ์กําแพงเพชร ในระยะห่าง 2x2 เมตร มีการตัดแต่งหน่อทุกระยะการเจริญเติบโตและหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต แปลงปลูกกล้วยไข่จะให้ปุ๋ย 2 ครั้ง คือ หลังปลูกประมาณ 1 เดือน และหลังเก็บเกี่ยว 1 เดือน ปุ๋ยเคมีที่นิยมใช้ คือ ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15, 46-0-0 ใส่ครั้งละ 0.5-1 กิโลกรัม ต่อต้น ส่วนปุ๋ยอินทรีย์จะใช้มูลไก่และกากชานอ้อย อัตรา ไร่ละ 1,000 กิโลกรัม

ด้านการเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะอาศัยการสังเกตก่อนเก็บผลผลิต โดยใช้วิธีการนับอายุดูสี ดูเหลี่ยมของผล ดูขนาดผลและนับวันกล้วยไข่ออกดอกบานถึงวันเก็บเกี่ยวประมาณ 45 วัน เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมซื้อขายกล้วยไข่โดยใช้หน่วยในการขายเป็น “ตั้ง” มีเป็นส่วนน้อยที่ทําการซื้อขายโดยชั่งเป็นกิโลกรัม กล้วยไข่คุณภาพดี ต้องมีขนาดหวีสมบูรณ์ 6 หวี ในแต่ละหวี มีไม่น้อยกว่า 12 ผล

“ปุ๋ยอินทรีย์” ตัวช่วยลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต

ปัจจุบัน เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่อยากได้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยลดต้นทุน และเพิ่มปริมาณผลิตผล ควบคู่กับการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ครูพิมลพรรณ พรหมทอง หรือ “ครูเอ๋” โทร. 086-421-3130 ครูวิทยาศาสตร์ของวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ศึกษาเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่ ทั้งด้านความสูง ระยะเวลาในการออกหน่อและจำนวนหน่อของต้นกล้วย ระยะเวลาในการออกปลีของต้นกล้วยไข่ รวมทั้งจำนวนหวีต่อเครือของต้นกล้วยไข่

ที่ผ่านมา เกษตรกรนิยมขยายพันธุ์กล้วยไข่ โดยวิธีการใช้หน่อ โดยทั่วไปการปลูกกล้วยไข่เพื่อเลี้ยงหน่อ ทำได้โดยการใช้ระยะปลูกปกติ และใส่ปุ๋ยไนโตรเจนทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 30 กรัม ถึง 60 กรัม ช่วยทำให้หน่อได้ประมาณ 8-10 หน่อ ต่อต้น ต่อปี วิธีการดังกล่าวต้องใช้เวลานานและสิ้นเปลืองแรงงาน เสี่ยงต่อการเกิดโรคและแมลงเข้าทำลาย หน่อที่ได้มีขนาดไม่สม่ำเสมอกันเป็นปัญหาต่อการเก็บเกี่ยว และการกำหนดปริมาณผลผลิตเป็นอย่างมาก จึงได้นำเอาเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ทำให้ได้ต้นพืชตรงตามพันธุ์ สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากในระยะเวลาจำกัด ต้นพืชที่ได้ยังปลอดโรค แมลงที่ติดไปกับต้นพันธุ์ วิธีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จึงเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลดี

ดังนั้น ครูเอ๋ จึงสนใจศึกษาเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับต้นกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชรที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพราะการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและสภาพแวดล้อม ทำให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ควบคู่กับการเพิ่มผลผลิตไปพร้อมๆ กัน

ดร. ทองคำ ตินะลา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร (ยืนตรงกลาง)

ครูเอ๋ ได้ศึกษาชนิดของปุ๋ยอินทรีย์ต่างชนิดกัน ได้แก่ มูลสุกรเปียก มูลสุกรแห้ง มูลวัวเปียก มูลวัวแห้ง มูลวัวแห้งมาก มูลไก่เปียก มูลไก่แห้ง และมูลไก่แห้งมากมาทดลอง โดยนำมูลสัตว์ ในอัตรา 1 กิโลกรัม ผสมกับ น้ำ 1 ลิตร ราดให้ห่างบริเวณโคนต้น ระยะ 30 เซนติเมตร ทุกๆ 30 วัน แล้วหาค่าเฉลี่ยบันทึกผลการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่แต่ละต้น ทุกๆ สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 8 เดือน ในแปลงทดลองจริง เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่า มูลชนิดใดมีความเหมาะสม ช่วยให้ต้นกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชรมีการเจริญเติบโตในส่วนที่เป็นลำต้น (ความสูง) และส่งผลดีต่อระยะเวลาการออกหน่อ จำนวนหน่อ ระยะเวลาการออกปลีและจำนวนหวีต่อเครือของต้นกล้วยไข่

ผลการทดลองพบว่า ต้นกล้วยไข่ที่เจริญเติบโตดีมีจำนวนหน่อมากที่สุด คือ ต้นกล้วยไข่ที่ใช้ปุ๋ยมูลวัวแบบแห้งมาก ปุ๋ยมูลสุกรแบบแห้ง และปุ๋ยมูลไก่แบบแห้ง มีการเพิ่มจำนวนหน่อมากที่สุด จำนวน 9 หน่อ ขณะที่ต้นกล้วยไข่ที่ใช้ปุ๋ยมูลสุกรแบบแห้งมาก ปุ๋ยมูลวัวแบบแห้ง และมูลไก่แบบเปียก มีจำนวนหน่อ 8 หน่อ ส่วนต้นกล้วยไข่ที่ใช้ปุ๋ยมูลสุกรแบบเปียก มูลวัวแบบเปียกและมูลไก่แบบแห้งมาก มีจำนวน 7 หน่อ

เครือกล้วยไข่

ในด้านความสูง พบว่า กล้วยไข่ที่ใช้ปุ๋ยมูลวัวแบบเปียก มีความสูงมากที่สุดเป็น อันดับ 1 คือ 309 เซนติเมตร ที่ได้ผลดีรองลงมาคือ ปุ๋ยมูลไก่แบบแห้งมาก ต้นกล้วยไข่มีความสูงเป็น อันดับ 2 คือ 307 เซนติเมตร ส่วนต้นกล้วยไข่ที่ใช้ปุ๋ยมูลวัวแบบแห้ง และมูลวัวแบบแห้งมาก มีความสูง 300 เซนติเมตร

ครูเอ๋ บอกว่า ปุ๋ยอินทรีย์แต่ละชนิด มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่แตกต่างกันออกไป หากต้องการให้ต้นกล้วยไข่มีการเติบโตด้านความสูง ควรใช้ปุ๋ยมูลวัวแบบเปียก ด้านระยะเวลาการออกหน่อ ควรใช้ปุ๋ยมูลไก่แบบแห้ง หากต้องการให้ต้นกล้วยไข่มีจำนวนหน่อมาก ควรใช้ปุ๋ยมูลวัวแบบแห้งมาก หรือปุ๋ยมูลสุกรแบบแห้ง และปุ๋ยมูลไก่แบบแห้ง หากต้องการให้ต้นกล้วยไข่ออกปลีเร็ว ควรใช้ปุ๋ยมูลวัวแบบแห้ง หากต้องการให้ต้นกล้วยไข่มีจำนวนหวีต่อเครือมาก ควรใช้ปุ๋ยมูลไก่แบบเปียก และมูลไก่แบบแห้ง

ผลงานได้รางวัลสมาคมวิทยาศาสตร์-อาชีวศึกษา-เอสโซ่ ปี 2560

ประการต่อมา ครูเอ๋ แนะนำให้เกษตรกรนำปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ให้ตรงกับระยะเวลาของต้นกล้วยไข่ ในช่วงต้นฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งดินมีความชื้น มีความชุ่มชื้นในฤดูฝนเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตทางลำต้นและออกปลีจนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตกล้วยไข่ในช่วงฤดูฝนพอดี ผลงานวิจัยของครูเอ๋ แสดงให้เห็นว่า การเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่พันธุ์กำแพงเพชรที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต่างชนิดกัน สามารถนำไปใช้งานได้จริงอย่างดีเยี่ยม

มีดตัดกล้วยไข่

กลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร ประกอบด้วย น.ส. พรทิพย์ ชมชื่น นายนฤเบศ แสงเพชร และนายสุรศักดิ์ พรมเอ๋ว ได้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง มีดตัดกล้วยไข่ ภายใต้การดูแลของครูเอ๋ ในฐานะครูที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์

ครูพิมลพรรณ พรหมทอง หรือ ครูเอ๋ (เสื้อสีแดง) กับนักศึกษา โชว์มีดตัดกล้วยไข่

การตัดเครือกล้วยไข่ หากใช้มีดโดยทั่วไป เกษตรกรจะใช้ระยะเวลาตัดเครือกล้วยไข่ประมาณ 1 นาที 40 วินาที แต่มีดตัดกล้วยไข่ของทีมนักศึกษา ช่วยให้ทำงานได้เร็วกว่าเดิม เฉลี่ย 1 นาที 20 วินาที ทั้งนี้ประสิทธิภาพการตัดเครือกล้วยไข่จะได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้ใช้งานเป็นหลัก

ทีมนักศึกษาได้ออกแบบ มีดตัดกล้วยไข่ ที่มีความคมมากกว่ามีดทั่วไป และปลอดภัยต่อการใช้งานของเกษตรกร โดยใช้เงินลงทุนทำมีดแค่พันกว่าบาท เมื่อนำมาทดลองใช้ตัดเครือกล้วยไข่ ก็ทำงานได้ง่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทำให้ผลกล้วยเสียหาย แถมยังชะลอความสุกแก่ของผลกล้วยไข่ให้ช้าลง เหมาะสำหรับให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่นำไปใช้งานในสวน เพราะทำงานได้เร็วกว่ามีดทั่วไป แถมปลอดภัยกว่ามีดทั่วไป

วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร

หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หมวดวิชาวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โทร. 055-711-090 ต่อ 620 www.kpt.ac.th ในวันและเวลาราชการ