เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ ของชาวนาต้นแบบ

“ข้าว” เป็นสินค้าที่ทำรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ประเทศไทยมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว และคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ข้าวไทยกลายเป็นสินค้าขายดี  อุตสาหกรรมข้าวไทยในเวทีตลาดโลกต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น  ภาครัฐจึงจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทยโดยส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพดี ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ  นำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน ควบคู่กับเพิ่มผลผลิต ส่งเสริมการแปรรูปข้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

“ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตข้าวไทยสู่ตลาดโลก ” ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยกลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการผลิตและการตลาด มาถ่ายทอดแนวคิด บทเรียนการตลาด  วิธีการบริหารจัดการแปรรูปข้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้แก่เกษตรกรและชาวนารุ่นใหม่ได้นำความรู้ที่ได้ไปทดลองปรับใช้ในไร่นาของตัวเอง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันข้าวไทยในเวทีตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศยกย่อง “ เกษตรกรต้นแบบ ” เป็นรายภาค ประกอบด้วยเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบภาคเหนือ ได้แก่  “ ดร.ตะวัน ห่างสูงเนิน ” ผู้นำแนวคิด “ Rainbow Farm ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์จากการเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมอย่างยั่งยืน ”  ส่วนเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบภาคกลางคือ “ อาจารย์เชาว์วัช หนูทอง ” เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานี จังหวัดลพบุรี   สำหรับเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบภาคอีสานมี 2 ท่านได้แก่ “ คุณบุญมี สุระโคตร ” วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง อ.ราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และ  “ คุณสุวรรณ สิมมา ” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร  เครือข่ายเกษตรกรต้นแบบภาคใต้ คือ  “ ผู้ใหญ่นัด อ่อนแก้ว ”ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

 “ ผู้ใหญ่นัด อ่อนแก้ว ”  พัฒนา “ ข้าวสังข์หยด” ขายดีติดตลาด

“ ข้าวกล้องพันธุ์สังข์หยด” เมล็ดเรียวเล็ก ที่มีเยื่อหุ้มสีแดงอมน้ำตาล  คุณค่าทางโภชนาการสูง และมีรสชาติหอมนุ่มอร่อย ว่าเป็นสินค้าขายดีติดตลาดทั้งประเทศและส่งออก  จุดเริ่มต้นของ “ ข้าวสังข์หยด ” เป็นเพียงข้าวพื้นเมืองภาคใต้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณบ้านเขากลาง จังหวัดพัทลุง ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสังข์หยดประสบปัญหาเรื่องการผลิตและการตลาด เพราะได้ผลผลิตน้อย แต่มีต้นทุนการผลิตสูง แถมขายข้าวไม่ได้ราคา  ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ไม่พอเพียงสำหรับดูแลครอบครัว

ผู้ใหญ่นัด อ่อนแก้ว แกนนำชุมชนบ้านเขากลาง ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงเสนอจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นเมื่อปี 2534 และจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในปี 2548  เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการเก็บรวบรวมผลผลิตกันเอง และสร้างอำนาจต่อรองราคาสินค้ากับพ่อค้าคนกลางรวมทั้งสร้างโรงเรือนเก็บข้าวเปลือก สร้างโรงสีข้าวระบบ GMP ขนาด 12 ตัน/วัน ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้บริหารจัดการสินค้าอย่างเป็นระบบมากขึ้น

ผุ้ใหญ่นัด อ่อนแก้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง
ข้าวสังข์หยดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว

สินค้าข้าวสังข์หยด ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ แห่งนี้ มีคุณภาพมาตรฐานมากระดับสากลเพราะผลิตในระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติการทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agriculture Practice: GAP)  ภายใต้การดูแลควบคุมของศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ทำให้สินค้าจากชุมชนแห่งนี้ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคในวงกว้าง  ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลางมีพื้นที่ปลูกข้าวสังข์หยดอินทรีย์กว่า 100 ไร่  ปัจจุบันสินค้าของกลุ่มฯ ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย และยุโรป ฯลฯ หากใครสนใจเยี่ยมชมกิจการข้าวสังข์หยดของกลุ่มฯ สามารถติดต่อ ผู้ใหญ่นัด อ่อนแก้ว ที่เบอร์โทร. 087-2866446   ได้ตลอดเวลา

 เชาว์วัช หนูทอง ต้นแบบเทคโนโลยีการปลูกข้าว “ นาโยน”

อาจารย์เชาว์วัช หนูทอง เป็นอดีตอาจารย์วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ที่ต้องการดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตัวเอง เพราะวิถีชีวิตผูกพันกับการเกษตรมาตลอดแถมรับประทานอาหารมังสวิรัติมาตั้งแต่อายุ 19 ปี ทำให้อาจารย์เชาว์วัช ตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีตกค้างจากการทำเกษตรโดยเฉพาะการทำนาข้าว ประกอบกับอาจารย์มีพื้นเพเป็นลูกชาวนา จึงผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรทำนาข้าวอินทรีย์ และปลูกผักอินทรีย์เต็มตัว โดยมุ่งหวังผลิตข้าวคุณภาพดี ปลอดสารพิษให้คนไทยได้รับประทาน

การทำนาของอาจารย์ไม่ธรรมดา เพราะก่อนปลูกข้าว อาจารย์จะปูพรมให้ผืนนาก่อน ซึ่งพรมกลายเป็นตัวช่วยขจัดวัชพืชในแปลงนา และช่วยบำรุงดินโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายแถมได้  ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นด้วย  นอกจากนี้อาจารย์ยังเป็นต้นแบบในการนำเสนอเทคโนโลยีการปลูกข้าวแบบใหม่ที่เรียกว่า นาโยนแบบเกษตรอินทรีย์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ช่วยประหยัดต้นทุน ทั้งเรื่องของเมล็ดพันธุ์ข้าว และแรงงาน ไม่ต้องใช้สารเคมี เพราะนาโยนกล้าสามารถควบคุมหญ้าได้ ลดเวลาการปลูกข้าวน้อยลงถึง 15 วันช่วยให้เก็บเกี่ยวเร็วขึ้น หลังการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ที่ได้จะมีความสมบูรณ์ สวยงาม ขายได้ราคาดี

อาจารย์เชาว์วัช หนูทอง เกษตรกรต้นแบบภาคกลาง

ปัญหาขาดแคลนแรงงานทำนา ทำให้อาจารย์เกิดแนวคิดการทำนาในที่ร่ม และทำนาช่วงกลางคืน โดยเพาะต้นกล้าข้าวในโรงเรือนและนำถาดเพาะต้นกล้าไปอนุบาลไว้กลางแจ้ง เปิดสปริงเกอร์รดน้ำเช้า – เย็น เมื่อครบ 15 วัน จึงยกถาดต้นกล้าข้าวออกจากแปลงอนุบาล แล้วถอนต้นกล้าออกจากถาด ใส่ไว้ในตะกร้า ตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงเช้าวันใหม่  จึงค่อยนำกล้าข้าวไปโยนในแปลงนาที่เตรียมดินไว้ “ทำนากลางคืน” ช่วยให้การทำนาเป็นเรื่องง่ายขึ้น เพราะชาวนาไม่ต้องทนเหนื่อยทำงานตากแดดในช่วงกลางวันอีกต่อไป

อาจารย์เชาว์วัช ได้รับการยกย่องว่าเป็น “วิศวกรชาวนา” เพราะได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำนา เช่น สร้างเครื่องดำนาโดยใช้แรงงานเพียงคนเดียวปลูกข้าวได้มากกว่า 10 ไร่ รวมถึงประดิษฐ์เครื่องอัดก๊าซชีวภาพ เครื่องทำปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และเตาน้ำสัมคว้นไม้ ฯลฯ  ผลงานดังกล่าวช่วยให้การทำนาเป็นเรื่องง่ายและเป็นคำตอบของการพึ่งพาตัวเอง

“ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์” จากผลงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งความหวังของอาจารย์เชาว์วัช ที่จะเพิ่มพูนรายได้ของชาวนาไทยในอนาคต เพราะข้าวพันธุ์นี้ ต่อยอดจากข้าวดอกขาวมะลิ 105 ทนทานต่อปัญหาภัยแล้ง ให้ผลผลิตมากกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไปประมาณ 400-500 กก.ต่อไร่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นกว่า  2 เดือน ที่สำคัญสามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี จึงให้ผลผลิตมาก เหมาะสำหรับปลูกเพื่อป้อนตลาดส่งออกในอนาคต

ปัจจุบันอาจารย์เชาว์วัช เปิดบ้านเลขที่ 134 หมู่ 2 ตำบล ท่าวุ้ง อำเภอ ท่าวุ้ง จังหวัด ลพบุรี เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ แบบครบวงจร ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานี” ผู้สนใจสามารถแวะเยี่ยม  ศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา หรือติดต่อกับอาจารย์ได้โดยตรงที่เบอร์โทร. 089-8011394

บุญมี สุระโคตร ปลูกข้าวตามหลัก“ปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียง”

ลุงบุญมีเติบโตในครอบครัวชาวนา ทำอาชีพมาสารพัดทั้ง ช่างเย็บผ้าโหล ช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างตัดผม และช่างเดินสายไฟ สุดท้ายได้ค้นพบตัวเองว่าสิ่งที่อยากทำที่สุดคือ “ทำนา ปลูกข้าว” ในวิถีเกษตรอินทรีย์ ลุงบุญมีน้อมนำปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในผืนนาของตัวเอง ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์คุณภาพดี ที่มีต้นทุนต่ำ สร้างแรงจูงใจให้ชาวนาในพื้นที่ใกล้เคียงหันมาปลูกข้าวอินทรีย์เช่นเดียวกับ ลุงบุญมี

ลุงบุญมีมองว่า “การทำนาจะต่างคนต่างทำไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจต่อรองทางการค้า” จึงได้ชักชวนเกษตรกรในชุมชนบ้านอุ่มแสงหรือกลุ่มเกษตรทิพย์ ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ มารวมกลุ่มกันทำการเกษตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการ และต่อรองกับระบบทุนนิยม พยายามพึ่งพิงตนเอง และคนในชุมชนเป็นหลักให้เกษตรกรรู้จักตัวตนของตนเอง รู้เรื่องดิน ถ้าไม่รู้เรื่องดินจะทำเกษตรอินทรีย์ยาก ทำให้ระบบนิเวศในชุมชนกลับมาสมดุลและสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้งด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์  ”

บุญมี สุระโคตร เกษตรกรต้นแบบภาคอีสาน

ปัจจุบันลุงบุญมีเป็นประธานกลุ่มผู้ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ แห่งบ้านอุ่มแสง ต.ดู่ อ.ราษีไศล ศรีสะเกษ โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรแก่เกษตรกรทั่วไป จะได้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลผลิต พร้อมกับใส่ใจสิ่งแวดล้อม รักษาระบบนิเวศน์ให้สมดุล สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด

ทางกลุ่มฯ มีสมาชิกกว่า 600 รายมีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์รวมกันกว่า 800 ไร่ ที่นี่ปลูกข้าวอินทรีย์หลายชนิด ทั้งข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวลืมผัว ข้าวกล้องหอมมะลิอินทรีย์ ฯลฯ โดยไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ iFOAM สินค้าของกลุ่มจำหน่ายในชื่อตราสินค้า “ลุงบุญมี” จำหน่ายในราคา กก.ละ 100 – 120 บาท  ปรากฎว่าขายดีเป็นที่ยอมรับในตลาดในวงกว้าง เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการตลาดทางกลุ่มฯ ได้แปรรูปสินค้าจากข้าวอินทรีย์ เช่น ไอศกรีมข้าว และผลิตภัณฑ์อื่นๆ  ผลงานที่ผ่านมา ทำให้ลุงบุญมีได้รับการยกย่องให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2554

ลุงบุญมีพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้และเคล็ดลับสู่ความสำเร็จแก่เกษตรกรทุกราย หากใครสนใจศึกษาดูงานติดต่อโดยตรงทางเบอร์โทร 08-6868-1139,  082-368-5152 ขอสายลุงบุญมีได้เลย