หวาย พืชดั้งเดิมที่น่าส่งเสริมเป็นรายได้บนที่สูง

หวาย เป็นพืชป่าตระกูลปาล์มที่เป็นเถาเลื้อยและมีหนาม เจริญเติบโตและกระจายพันธุ์ได้ดีในป่าเขตร้อนและกึ่งร้อน ใช้เป็นพืชอาหาร สมุนไพร เฟอร์นิเจอร์ และงานหัตถกรรมต่างๆ สามารถเป็นรายได้เสริมในชุมชนเป็นอย่างดี ปัจจุบันหวายเริ่มหายากและใกล้สูญพันธุ์

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ศึกษาพัฒนาการปลูกหวายและการแปรรูป เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งอาหารในท้องถิ่น เกษตรกรสามารถปลูกและขยายพันธุ์หวายให้เพียงพอต่อการบริโภคและใช้ประโยชน์ที่เป็นรายได้ของครอบครัว มีการพัฒนาคุณภาพของหวายให้เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ด้านหัตถกรรม

หวาย ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความหลากหลายทางพันธุกรรมหวายมากที่สุดในโลก ในประเทศเราพบอยู่ประมาณ 60 ชนิด กระจายอยู่ทั่วทุกภาค มีการเรียกชื่อแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น เช่น หวายหนามขาว หวายหนามดำ หวายฝาดหรือหวายบุ่น หวายไส้ไก่หรือหวายขม หวายหก หวายน้ำล้อม หวายหม่นหรือหวายหยวก หวายเล็ก หวายติ้วดีดหรือหวายหางหนู หวายหลวง หวายหอม หวายสกลนคร หวายที่นิยมบริโภค คือ หวายพันธุ์หนามขาว เนื่องจากมีรสชาติอร่อยและหน่อใหญ่ หวายไส้ไก่นิยมใช้มัดสิ่งของ

จากพื้นที่ศึกษาวิจัยที่บ้านปางแดงใน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าปะหล่อง นิยมนำหวายมาทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรี ทำเป็นที่คาดเอวคล้ายเข็มขัด มีการลงรักเพื่อเพิ่มความคงทนและสวยงาม สานเป็นตะกร้าหรือเข่งบรรจุสิ่งของที่เรียกว่า ก๋วย ทำเป็นซองใส่มีด จากการศึกษาที่ชุมชนบ้านห้วยเป้า ส่วนใหญ่เป็นคน

พื้นเมืองและไทใหญ่ นำเส้นหวายทำประโยชน์หลายอย่าง เช่น ซองใส่มีด ชะลอม กระบุง ขันโตก ใช้แทนเชือกมัดสิ่งของ ใช้เป็นพืชสมุนไพรช่วยเจริญอาหารและเป็นยาอายุวัฒนะ

ที่จังหวัดน่าน บ้านโป่งคำ ส่วนใหญ่ปลูกหวายเพื่อการบริโภคจากหน่อหวาย ปลูกในครัวเรือนและปลูกเพื่อการค้า ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นจะนำหน่อหวายมาเผาเพื่อลดความขมก่อนนำไปประกอบอาหาร เช่น ตำหวาย แกงหวายใส่ไก่ แกงแคหวาย หวายผัดน้ำมันหอย ฯลฯ ใช้หวายเป็นสมุนไพร ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องของหญิงหลังคลอดบุตร ชุมชนมีทักษะในการสานหวายให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ตะกร้า ถาดใส่ผลไม้ พาน เก้าอี้ ซองใส่มีด ขันโตก ชุดรับแขก ฯลฯ แต่รูปแบบผลิตภัณฑ์ยังคงเป็นแบบพื้นบ้านดั้งเดิม

จากการศึกษาเรื่องหวายของคณะดังกล่าว พบว่า หวายเริ่มใกล้จะสูญพันธุ์เนื่องจากป่าไม้และสภาพแวดล้อมถูกทำลายเพื่อปลูกพืชอื่น จึงควรหาแนวทางส่งเสริมให้ชุมชนได้เลือกพันธุ์หวายที่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ ด้านบริโภคและเป็นวัตถุดิบของงานหัตถกรรม เพิ่มผลผลิตและคุณภาพ พัฒนาการแปรรูปหวายเพื่อเป็นอาหาร มีการจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อให้ชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหวายเป็นรายได้ของชุมชนอย่างยั่งยืน