ผลิตภัณฑ์น่าซื้อ “กระเป๋าผ้าด้นมือ” ฝีมือชนเผ่าม้ง แรงบันดาลใจจากขุนเขา

ทุกวันนี้ ชาวไทยภูเขาที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล ที่การคมนาคมไม่สะดวก ก็มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาผ่านช่องทาง “ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และการทำงานด้วยความเสียสละ ของ คุณครูอาสา กศน. หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “ครูดอย” ที่ตั้งใจทำงานช่วยเหลือเด็กเยาวชนและชาวบ้านที่ด้อยโอกาสให้สามารถอ่านออกเขียนได้ โดยพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียนและชุมชน ช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชน พร้อมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้อื่นได้

ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง (ศศช.)

ปี 2523 กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในสมัยนั้น ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ขึ้น โดยส่งครูอาสาสมัคร กศน. หรือ ครูดอย จำนวน 1-2 คน ไปทำงานอยู่กับชาวเขาในชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างพลเมืองที่ดีของชาติ ครูอาสาจะทำหน้าที่ให้บริการการศึกษาและพัฒนาชุมชนแก่ผู้ใหญ่ในเวลากลางคืน และสอนเด็กตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 ในตอนกลางวัน

โครงการ ศศช. ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เป็นที่ประทับใจของคนไทยและต่างชาติ ทำให้โครงการดังกล่าวได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโก เมื่อปี 2537 ในฐานะแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน กศน. จึงขยายโครงการ ศศช. ไปยังชุมชนทุรกันดารทั่วประเทศ ประมาณ 773 แห่ง

ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านแม่แรม

ปี 2535 ครูอาสาสมัคร กศน. คนหนึ่ง ในพื้นที่โครงการ ศศช. บ้านใหม่ห้วยหวาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้เขียนบรรยายถึงความยากลำบากในการทำหน้าที่ครูดอยในถิ่นกันดารลงตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พร้อมขอรับการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน และสิ่งของเครื่องใช้ในการสอนเด็กเยาวชน บังเอิญ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ได้ทรงอ่านข่าวครูอาสาสมัคร กศน. ในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวจึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 80,000 บาท ให้สร้างอาคารเรียน และทรงรับ ศศช. ทุกแห่ง ไว้ในพระอุปถัมภ์จนถึงปัจจุบัน

ช่วงปี 2539 กศน. ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี จึงได้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ขอพระราชทานชื่อของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.)  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นพระราชสมัญญานามของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี แต่ กศน. ยังคงใช้ชื่อย่อศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวว่า  “ศศช.” มาจนถึงทุกวันนี้

ศศช. บ้านแม่แรม 

หมู่บ้านท่องเที่ยว “บ้านแม่แรม” หมู่ที่ 12 ตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เปรียบเสมือน “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” เพราะที่มีชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่ จำนวน 1,499 คน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของชาวเขาเผ่าม้งได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ม้ง ที่จัดขึ้นประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขสนุกสนาน มีการละเล่นการตีลูกข่าง โยนลูกช่วงระหว่างหนุ่ม-สาว ฯลฯ

หมู่บ้าน “บ้านแม่แรม” ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาสลับกับที่ราบ ชาวเขาเผ่าม้งส่วนใหญ่นับถือผี รองลงมา นับถือศาสนาคริสต์ รอบหมู่บ้านแวดล้อมด้วยป่าชุมชนแบบร้อนชื้น ชาวเขาเผ่าม้งทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก เช่น ปลูกข้าว ข้าวโพด ทำไร่กะหล่ำ ปลูกพริก ฯลฯ ปัจจุบัน ระบบคมนาคมที่ดีขึ้นทำให้ชาวบ้านมีโอกาสเรียนรู้ชุมชนภายนอกเพิ่มขึ้น และมีช่องทางในการนำผลผลิตออกขายสู่ตลาดในวงกว้างมากขึ้น

นอกจากผลผลิตทางการเกษตรแล้ว กลุ่มสตรีชาวเขาเผ่าม้งทุกช่วงวัยยังมีฝีมือด้าน “งานปักผ้าด้วยมือ” ผลงานแต่ละชิ้น ตกแต่งด้วยลวดลายม้งที่ประณีต จึงสวยงามสะดุดตา สามารถพบเห็นฝีมือการปักผ้าที่สวยงามได้ทั่วไปบนชุดเสื้อผ้าชาวเขาเผ่าม้งที่สวมใส่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทุกวันนี้ สตรีชาวเขาเผ่าม้งตั้งแต่วัยรุ่นถึงวัยทำงานสนใจเรียนรู้ การทำผ้าด้นมือ เพื่อเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้หาเลี้ยงครอบครัว

แม่ชาวม้งอุ้มลูกสะพายหลังมาเรียนรู้การทำผ้าด้นมือ

กระเป๋าผ้าด้นมือฝีมือชาวเขาเผ่าม้ง บ้านแม่แรมศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง (ศศช.) บ้านแม่แรม ตระหนักถึงความสนใจและความต้องการของสตรีชาวเขาเผ่าม้งในชุมชนแห่งนี้  ที่ต้องการเรียนรู้ การทำผ้าด้นมือเพื่อเป็นอาชีพเสริม รวมทั้งปรับปรุงงานฝีมือการตัดเย็บให้มีความประณีตมากขึ้น

ดังนั้น กลุ่มผู้เรียน กลุ่มแม่บ้านและครูอาสาสมัคร กศน. จึงได้ร่วมกันวางแผนจัดกิจกรรมการเย็บปักผ้าด้นมือลวดลายชาวม้ง ซึ่งเป็นงานละเอียด ประณีต และรักษาเอกลักษณ์ลวดลายชาวเขาเผ่าม้ง ที่แตกต่างจากชุมชนคนพื้นที่ราบทั่วไป

บรรยากาศในห้องเรียนการทำผ้าด้นมือ

“คุณอัจจิมา วรรณเลิศ” ครูอาสาสมัคร สังกัดสำนักงาน กศน. จังหวัดแพร่ เล่าว่า ศศช. บ้านแม่แรม จัดโครงการอบรมอาชีพ “การทำผ้าด้นมือลวดลายชาวเขา” เพื่อให้กลุ่มสตรีบ้านแม่แรมธำรงคุณค่าของการเย็บปักผ้าด้วยลวดลายชาวเขา และช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าปักชาวเขาเผ่าม้งให้มีความหลากหลาย เพิ่มช่องทาง เพิ่มรายได้ ในการหาเลี้ยงครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

คุณครูอาสาสมัคร กศน. และกลุ่มผู้เรียนเป้าหมายได้ร่วมประชุมวางแผนและศึกษารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าด้นมือ ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ซื้อทุกกลุ่มอาชีพ วิเคราะห์แนวโน้มตลาด กลุ่มสินค้าที่ขายง่ายและเร็ว นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งกลุ่มอาชีพผ้าด้นมือ หาวิทยากรที่มีความรู้เฉพาะด้านมาสอน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้การทำผ้าด้นมือในรูปแบบที่หลากหลาย และมีประสบการณ์ในการขายสินค้า เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สู่ตลาด

ร่างแบบกระเป๋าก่อนตัดเย็บ
ครูอัจจิมา (ขวาสุด) กับลูกศิษย์ชาวเขาเผ่าม้ง

วิทยากรจัดการเรียนรู้การทำผ้าด้นมือ เพื่อเพิ่มคุณค่าการปักผ้าลวดลายม้งทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยนำลวดลายม้งที่มีความละเอียด ประณีต สวยงาม มาประดับตกแต่ง กระเป๋าสตางค์ พวงกุญแจ  กระเป๋าเครื่องสำอาง กระเป๋าถือสำหรับสุภาพสตรี ให้มีความสวยงามหลากหลายมากขึ้น ปัญหาอุปสรรค ที่พบก็คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากสมาชิกกลุ่มยังขาดประสบการณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการจำหน่ายและการเติบโตของกลุ่มในอนาคต

“สมาชิกกลุ่มพยายามหารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ทันยุค ทันสมัย พัฒนาฝีมือการทำผ้าด้นมือที่มีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างต่อเนื่อง นำมาปรับใช้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันในการหาตลาดกับชุมชนอื่นๆ ได้ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นที่รู้จักของผู้ซื้อ เพิ่มโอกาสการขายและเพิ่มช่องทางการตลาดได้มากขึ้น” คุณครูอัจจิมา กล่าวในที่สุด