ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่สถานการณ์ด้านราคาที่ตกต่ำลงช่วงหลายปี
ที่ผ่านมา กับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ทำให้ชาวสวนยางประสบปัญหาหนัก รัฐบาลต้องผลักดันหลากหลายมาตรการเพื่อยกระดับราคายางให้สูงขึ้น ทั้งการแปรรูปเพื่อส่งออก การคิดค้นนวัตกรรมถนนจากยางพารา กระตุ้นให้เกิดการใช้ยางพาราในระดับชุมชน ลดปริมาณยางพาราที่จะออกสู่ตลาด
การเสวนา “ถนนยางพาราดินซีเมนต์ ทางรอดของการใช้ยางพารา” ภายในงานวันยางพารา จังหวัดบึงกาฬ ประจำปี 2562 ซึ่งจัดโดยจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ และหน่วยงานราชการกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดมุมมองส่องอนาคตยางพาราไทย
“นิพนธ์ คนขยัน” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า จากช่วงที่ผ่านมาแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำตามข้อเสนอ แก้ปัญหาข้อจำกัดเรื่องการใช้ยางภายในประเทศ ที่ยังไม่มีระเบียบให้ท้องถิ่นซื้อน้ำยางพาราไปทำถนน ล่าสุดแม้มีหนังสือสั่งการออกมากำหนดระเบียบให้ท้องถิ่นสามารถซื้อน้ำยางสำหรับใช้ก่อสร้างถนน แต่ยังติดปัญหาข้อกฎหมายอื่น ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางจะไม่ได้อะไรเลยจากระเบียบฉบับนี้
สาเหตุมาจากราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง ฉบับที่ 4 ลงนามโดย นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ให้ซื้อยางพาราในราคากลางตลาดหาดใหญ่ กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นหลัก ซึ่งราคากลางอยู่ที่ราว 35 บาท น้อยกว่าราคาที่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเคยเสนอไว้ที่ 65 บาท
“ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี” รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หรือ มจพ. กล่าวว่า ในส่วนราคากลาง 65 บาท ซึ่งเป็นราคาที่กระทรวงพาณิชย์คำนวณออกมาจากทั่วประเทศว่า ยางพารามีต้นทุนที่ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ที่ 62 บาท/กก. อีก 3 บาท เป็นการคำนวณให้เขามีเงินออม
ดังนั้น ราคา 65 บาท/กก. จึงเป็นการคำนวณต้นทุนการผลิตยางที่เกษตรกรอยู่ได้ หากได้ตามราคาที่เสนอจะช่วยเหลือชาวสวนยางได้ แต่หากไม่มีการแก้ไขให้ราคาเป็นแบบเดิม นอกจากไม่ได้ช่วยอุดหนุนเกษตรกรรายย่อยแล้ว ยังยากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกรชาวสวนยางที่ยังทำยางก้อนถ้วยอยู่เป็นส่วนใหญ่อีกด้วย
ขณะเดียวกัน ดร. ระพีพันธ์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า น้ำยางมี 2 ประเภท คือ น้ำยางข้นที่ต้องส่งเข้าโรงงานเอกชน และน้ำยางสดที่ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงงาน สามารถส่งให้หน่วยงานท้องถิ่นได้เลย ทำให้มีการตัดช่วงไม่ต้องส่งน้ำยางเข้าโรงงาน ซึ่ง มจพ. ทำถนนได้ทั้งน้ำยางสด และน้ำยางข้น แต่พบว่า น้ำยางสดมีคุณสมบัติดีกว่า
และจากการวิจัยถนนยางพาราดินซีเมนต์ การทำถนนใช้อุปกรณ์ไม่มาก สามารถทำโดยชุมชน ทำให้เงินหมุนในหมู่บ้านทั้งหมดตามโครงการ หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งถนนยางพารา หนึ่งกิโลเมตร ซึ่งประเทศไทยมีกว่า 72,000 หมู่บ้าน จะทำให้ยางพาราถูกดูดซับออกไปจากท้องตลาดเกิน 50%
“สำหรับถนนยางพาราเป็นโมเดลที่เริ่มต้นเมื่อ 3 ปีก่อน ในทางวิชาการมีคนสอบถามเยอะว่า ใส่ไปแล้วได้อะไร นอกจากช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งจากการวิจัยพบว่า คุณสมบัติเด่นที่สุดคือ ทำให้น้ำไม่ซึม ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ถนนทรุดและพัง จึงกล้าการันตีว่าถนนจากยางพาราคงทนขึ้นกว่าถนนลาดยางปกติอย่างน้อย 1 เท่า แถมมีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น ดังนั้น ระเบียบที่ออกมาหากยังมีข้อจำกัดก็น่าจะแก้ไขเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง ปลุกเศรษฐกิจฐานรากที่มีปัญหาให้กระเตื้องขึ้น”
จึงต้องจับตาและรอลุ้นว่า ถนนยางพารา 7.2 หมื่น กม. จะเดินหน้าได้ราบรื่นหรือสะดุดลงกลางคัน จากปมระเบียบกฎหมายกับราคากลางที่ไม่จูงใจ และไม่ได้ช่วยให้ชาวสวนยางอยู่รอดได้