ปธ.บอร์ด อภ.ระดมนักกฎหมายหารือเร่งด่วน ปม ‘สิทธิบัตรกัญชา’ มีปัญหาแต่ไม่ยกเลิก

หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ โดยมีสาระสำคัญคือ ให้กัญชาและกระท่อม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในยาเสพติด ประเภท 5 ให้สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และนำไปใช้รักษาโรคภายใต้การดูแลของแพทย์ ในขณะที่มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย ออกมาวิตกว่า แม้กฎหมายผ่าน แต่ความเป็นจริงยังติดที่คำขอสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติ ที่ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาบอกว่า ยกเลิกไปแล้ว 3 ตัว จาก 10 ตัว ที่น่าจะมีปัญหาผิด พ.ร.บ. สิทธิบัตรฯ แต่ปรากฏว่าไม่มีการยกเลิก จนทำให้ ไบโอไทย เตรียมหารือเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย

สิทธิบัตรกัญชา-ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม  นพ. โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.)  กล่าวว่า ตามที่ สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ภาพใหญ่ถือว่ามีประโยชน์ที่จะได้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ขอย้ำว่า การคลายล็อกครั้งนี้ไม่ใช่เสรี มีการควบคุมเช่นเดิม เพียงแต่เปิดทางให้ใช้ประโยชน์เพื่อทางการแพทย์ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลในเรื่องปัญหาสิทธิบัตร ที่ต่างชาติมายื่นคำขอและก่อนหน้านี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เคยให้ข่าวว่า จะมีการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาที่เข้าข่ายขัด พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แต่ปรากฏว่า ไบโอไทยมีการตรวจสอบและเปิดเผยว่า ไม่มีการยกเลิกแต่อย่างไร เรื่องนี้จึงเกิดคำถามว่า ตกลงคืออะไรกันแน่

“ขณะนี้ได้มอบให้ทาง นพ. วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระดมทีมนักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตรกัญชาของ อภ. รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มาหารือร่วมกันว่า สรุปแล้วเมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ยกเลิกสิทธิบัตรที่มีปัญหา เราก็ต้องหาข้อมูลเพื่อหาทางออกให้ได้ เพราะเรามองว่าขัดต่อกฎหมายสิทธิบัตร เพราะกฎหมายระบุว่าห้ามยื่นจดว่ารักษาโรค หรือสารที่มาจากธรรมชาติ ทำไม่ได้ แต่เมื่อไม่มีการดำเนินการ จะส่งผลต่อการเดินหน้าพัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ของ อภ. หรือไม่ ตรงนี้ต้องชัดเจน เนื่องจากบอร์ด อภ. มีมติเดินหน้าผลิตสารสกัดกัญชาเพื่อทางการแพทย์ไปแล้วด้วยงบประมาณระยะสั้น 10 ล้านบาท เพื่อปลูกกัญชาใช้ทางการแพทย์เอง ซึ่งคาดว่าจะปลูกได้ครั้งแรกก่อนวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ เพราะตามโรดแมปต้องผลิตสารสกัด ซึ่งเป็นน้ำมันกัญชาออกมาได้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2562″ นพ. โสภณ กล่าว และว่า เมื่อผลิตน้ำมันกัญชาได้ ตามโรดแมปของ อภ. ก็จะเดินหน้าสร้างโรงงานกึ่งอุตสาหกรรม 130 ล้านบาท ต่อไป

ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า  นอกจากนี้  ยังมีข้อกังวลเรื่องการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาหุ้นร่วมกับภาครัฐได้ เพราะมองว่าต้องอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศนั้น ที่ผ่านมาทาง อภ. ไม่เห็นด้วย ถ้าต่างชาติเข้ามาหุ้นก็จะมีผลประโยชน์ไปตลอด ซึ่งแตกต่างจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ต่างชาติเองจ้องจะเข้ามาในประเทศไทยอยู่แล้ว แม้แต่ อภ. ต่างชาติก็ต้องการเข้ามาเหมือนกัน มีเรื่องผลประโยชน์เยอะ อยู่ที่คนอนุญาตว่าจะเขียนกติกาอย่างไร แล้วกฎหมายก็ออกมาแบบนี้ ส่วนจะมีความเชื่อมโยงกับกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้มีการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรของต่างชาติเลยสักคำขอเดียวหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ เพราะที่ผ่านมา อภ. สอบถามอะไรไปก็ไม่เคยตอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากอนาคตร่วมทุนต่างชาติ ทาง อภ. ต้องทบทวนการเดินหน้าสร้างโรงงานสกัดน้ำมันกัญชาหรือไม่ นพ. โสภณ กล่าวว่า หากมีการเปิดร่วมทุนต่างชาติจริงๆ ซึ่งมีเงินทุน มีเทคโนโลยีเข้ามา ฝั่งต่างชาติก็จะได้เปรียบ เพราะเขาวิ่งไปก่อนหน้าไทยนานแล้ว ถ้าร่วมเอกชนก็จะไปได้ไว ขณะที่ อภ. จะเดินหน้าอะไรต้องเป็นไปตามระเบียบที่มีความล่าช้า กว่าจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนาสายพันธุ์ก็เสียเปรียบแล้ว แต่คิดว่าคงไม่ถึงขั้นล้มเลิกโครงการที่ทำอยู่ แต่ต้องทบทวนเรื่องขนาดว่าจะทำแค่ไหน เพื่อรองรับความต้องการใช้ในเมืองไทยกี่เปอร์เซ็นต์ จะเริ่มต้นอย่างไร หากดูแลคนครึ่งหนึ่ง ก็ลงทุนระดับหนึ่ง หากดูแลแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ต้องทำขนาดไหน เรื่องนี้ลำบาก เพราะคนอื่นเขาวิ่งนำ แล้วเราวิ่งตาม เพราฉะนั้นจะลดขนาดจากแผนเดิมหรือไม่ก็ต้องไปศึกษาความต้องการ และความเป็นไปได้อีกครั้ง แต่ต้องทำให้เร็วเป็นหลัก

ผศ.ดร. วิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้วิจัยพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ให้แก่ อภ. กล่าวว่า การที่ต่างชาติมายื่นจดสิทธิบัตรกัญชานั้นไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติด ส่วนเรื่องโรคที่จะมีการจดครอบคลุมเรื่องของมะเร็ง ก็ถือว่ามีความผิดตาม มาตรา 9 (4) อยู่แล้ว และหากปล่อยให้ต่างชาติจดสิทธิบัตร ไทยก็ไม่สามารถเดินหน้าทำอะไรได้ และโดยส่วนตัวไม่เข้าใจว่าทำไมถึงยากเย็นนักในการที่จะถอนการขอจดสิทธิบัตร ทั้งที่เห็นชัดในเรื่องขอกฎหมายแล้ว การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญายิ่งล่าช้ายิ่งทำให้ผลการพัฒนายาให้ผู้ป่วยยิ่งล่าช้าและลำบาก