เผยเคล็ดลับการดูแล ช่อดอกมะม่วงให้ติดผลดก

ในการฉีดเปิดตาดอกมะม่วง เกษตรกรส่วนมากจะใช้ ไทโอยูเรีย ผสมกับโพแทสเซียม-
ไนเตรต (13-0-46)

ที่สวน คุณจรัญ อยู่คำ จะใช้ สูตรเปิดตาดอก ไทโอยูเรีย 1 กิโลกรัม+สาหร่าย-สกัด 300 ซีซี (ต่อน้ำ 200 ลิตร) ฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน แล้วรอดูการเปลี่ยนแปลงของตายอด โดยปกติแล้ว ตาดอกจะเริ่มแทงหลังเปิดตาดอกครั้งแรก ประมาณ 10-15 วัน แต่ถ้าเริ่มแทงใน วันที่ 3-4 โอกาสเป็นใบอ่อนจะสูงมาก

 กรณีเปิดตาดอกแล้วเป็นใบ สามารถแก้ไขได้ แต่ใบอ่อนที่ออกมาต้องมีความยาวไม่เกิน
1 เซนติเมตร หรือยังไม่คลี่ใบ ให้ใช้

ครั้งที่ 1
– ปุ๋ย 10-52-17   500  กรัม
– ไฮเฟต             500  ซีซี

(ต่อน้ำ 200 ลิตร)

ฉีดพ่นโดยห้ามใส่อาหารเสริม จำพวกสาหร่าย-สกัด หรือ จิ๊บ โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้มีปริมาณใบอ่อนออกมามาก จากนั้นเว้น 3 วัน แล้วซ้ำด้วย สูตรที่ 2

ครั้งที่ 2
– ปุ๋ย 10-52-17   500  กรัม
– ไฮเฟต              300  ซีซี

(ต่อน้ำ 200 ลิตร)

หลังฉีด ครั้งที่ 2 เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของตาใบอย่างชัดเจน ใบจะหยุดนิ่งแล้วเริ่มเปลี่ยนเป็นตาดอก สูตรนี้เกษตรกรจำนวนมากใช้แล้วได้ผลดี แต่ต้องดูว่าความยาวของตาใบ ต้องไม่เกิน 1 เซนติเมตร จะได้ผลดีที่สุด

การดูแลต้นมะม่วง กรณีออกดอกพร้อมกัน

จำไว้ว่า ใบอ่อนเสมอ ดอกจะเสมอ การดูแลจะง่าย เมื่อเราเห็นช่อดอกเริ่มแทงออกมา ให้ดูแลตามขั้นตอน ดังนี้

ระยะเดือยไก่
ระยะเดือยไก่

ระยะเดือยไก่ เป็นระยะแรกของการออกดอก เราจะสังเกตเห็นตาดอกที่ออกมาเริ่มแตกและบิดเป็นเหมือนเดือยของไก่ แต่ถ้ายอดแตกออกมาเป็นทรงหอกหรือตั้งชู นั่นคือ อาการแตกใบอ่อน ไม่ใช่ออกดอก จำไว้ ต้องแทงแล้วบิดถึงจะเป็นช่อดอก การดูแลระยะเดือยไก่ การให้น้ำ ระยะนี้ถ้าฝนตกปกติ ไม่ต้องเปิดน้ำให้ แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงจะต้องรดน้ำเพื่อให้ดอกออกมาสมบูรณ์และยาวมากขึ้น

การให้ปุ๋ย ทางดินจะใส่ปุ๋ย สูตร 9-25-25 หรือ 8-24-24 อัตรา ต้นละ 1 กิโลกรัม ถ้าเป็นพื้นที่ดินเหนียว อาจใช้สูตร 12-24-12 ก็ได้

การให้ปุ๋ยทางดิน จะทำให้ดอกสมบูรณ์ติดผลง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่ใส่จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องเร่งให้ช่อดอกสมบูรณ์ที่สุดจึงจำเป็นต้องให้อาหารที่เพิ่มพลังการติดผล ตัวหลักๆ เลยก็คือ ปุ๋ยสูตร 10-52-17 เป็นปุ๋ยเร่งดอกสูตรดั้งเดิมที่เป็นที่นิยมของเกษตรกรทั้งในอดีตและปัจจุบัน ปุ๋ยสูตรนี้หาซื้อง่าย มีขายตามร้านเคมีเกษตรทั่วไป อัตราการใช้ 25-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน หรือจนกว่าดอกจะโรย สำหรับเกษตรกรยุคใหม่ อาจเลือกใช้ปุ๋ยบำรุงดอกสูตรใหม่ๆ ที่ผลิตโดยบริษัทเคมีเกษตรชั้นนำก็ได้ ปุ๋ยบำรุงดอกที่สามารถเลือกใช้แทนปุ๋ยสูตร 10-52-17 ก็อย่าง เช่น ปุ๋ยเฟอร์ติไจเซอร์ (3-16-36) ปุ๋ยซุปเปอร์เค (6-12-24)

ฮอร์โมนที่นิยมใช้ช่วงเดือยไก่ ได้แก่ โปรดั๊กทีฟ ฮอร์โมนช่วยเพิ่มปริมาณดอก ดอกสมบูรณ์ ก้านดอกยาว เพิ่มเปอร์เซ็นต์การติดผล ป้องกันดอกและผลอ่อนร่วง แนะนำให้ใช้ 3 ระยะ คือ เดือยไก่ ก้างปลา และดอกโรย เอ็นเอเอ (NAA) เช่น บิ๊กเอ เป็นฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มจำนวนดอกสมบูรณ์เพศ เหมาะมากสำหรับแปลงมะม่วงที่ออกดอกช่วงฤดูหนาว หรือออกดอกเต็มต้น บางครั้งเราจะพบว่าแม้มะม่วงจะออกดอกทั้งต้น แต่ก็ไม่ติดผล ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศทำให้ดอกมะม่วงแปรผัน การฉีดพ่น NAA จึงช่วยแก้ปัญหาเรื่องเพศของมะม่วงได้เป็นอย่างดี การใช้ NAA ที่ถูกต้อง ให้ฉีดพ่นช่วงเดือยไก่ ความยาวช่อดอก 2-3 เซนติเมตร และฉีดพ่นเพียงครั้งเดียวจะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณดอกสมบูรณ์เพศได้มากกว่าต้นที่ไม่ได้พ่น 4-5 เท่าตัว จิบเบอเรลลิน ห้ามใช้ช่วงก่อนดอกบาน

ข้อควรระวัง  เกษตรกรหลายท่านเข้าใจผิดในการใช้ฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน ว่าฉีดแล้วทำให้ช่อยาว ติดผลดี ความเข้าใจนี้คลาดเคลื่อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การใช้จิ๊บในมะม่วงให้ฉีดช่วงดอกใกล้โรย หรือช่วงติดผลเล็กๆ เท่านั้น ฮอร์โมนจิบเบอเรลลินจะไปช่วยขยายขนาดผล ลดการหลุดร่วงของผลอ่อน แต่หากใช้ฉีดพ่นในระยะก่อนดอกบาน จะทำให้ช่อมะม่วงมีดอกตัวผู้มากขึ้น การติดผลจะยากขึ้น

ระยะดอกต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ใช้ยาให้เป็น
ระยะดอกต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ใช้ยาให้เป็น

อาหารเสริมที่จำเป็นช่วงดอก “มะม่วงเล่นยาก ให้ฉีดฮอร์โมนอาหารเสริมให้ตาย ถ้าอากาศไม่อำนวยก็ไม่ติดนะ แต่ถ้าอากาศดี ไม่ต้องฉีดอะไรก็ติดเองได้” คำพูดเหล่านี้มักได้ยินจากปากของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเสมอๆ เป็นคำพูดที่มีส่วนจริงและไม่จริง เพราะเมื่อสอบถามบรรดาเซียนๆ มะม่วง ต่างพูดเหมือนกันว่า “จะต้องบำรุงช่วงช่อดอกให้ดี มีฮอร์โมนอาหารเสริมเท่าไร ใส่ไม่อั้น เพราะเราไม่สามารถล่วงรู้อนาคตได้เลยว่า ต่อไปเมื่อถึงช่วงดอกมะม่วงเราจะบาน สภาพอากาศจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น เราจะคอยแต่พึ่งอากาศไม่ได้ ต้องเตรียมความสมบูรณ์ให้ช่อดอกมะม่วงก่อน”

อาหารเสริมที่นิยมใช้ ได้แก่ แคลเซียม-โบรอน มีประโยชน์ในด้านการติดผลดี ดอกสมบูรณ์ ไม่หักร่วงง่าย เกษตรกรจะเลือกใช้เป็นอันดับต้นๆ สาหร่าย-สกัด ช่วยให้ช่อสมบูรณ์ ยาวเร็ว สดใส ช่วยเพิ่มขนาดของผลอ่อน สังกะสี ช่วยเร่งความเขียว เร่งการติดผล แมกนีเซียม ช่อสด แข็งแรง เร่งการติดผล  การใช้อาหารเสริมเกษตรกรต้องศึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดให้ดี เพราะบางครั้งเราซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มา 5-6 ขวด เวลาเอามาดูจริงๆ กลับเป็นอาหารเสริมชนิดเดียวกัน เกษตรกรต้องดูให้ดี อย่าเชื่อแต่คำโฆษณาเชิญชวน เพราะจะทำให้เราสูญเงินโดยใช่เหตุ

ดอกบานหน้าฝนต้องมีความเข้าใจในการดูแล
ดอกบานหน้าฝนต้องมีความเข้าใจในการดูแล

ช่วงช่อดอกดูแลเต็มที่ ในช่วงช่อดอกมะม่วงจะต้องการอาหารมาก ดังนั้น ในช่วงนี้ คุณจรัญจะเน้นอาหารเสริมทางใบเป็นหลัก ตัวที่ใช้ประจำก็คือ สารโกรแคล อัตรา 1 ลิตร ผสมกับสารโปรดั๊กทีฟ อัตรา 1 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง และให้สังเกตดูที่ก้านช่อว่าสมบูรณ์หรือไม่ (ก้านช่อที่สมบูรณ์จะต้องมีสีแดงเข้ม ถ้าขาวซีดต้องเร่งอาหารเสริม) ในช่วงช่อดอกจะต้องดูแลให้ดี เพราะศัตรูทั้งหลายจะมารุมทำลายช่วงนี้ และจะทำให้ผลผลิตเสียหาย ซึ่งศัตรูที่พบมากที่สุดก็คือ เพลี้ยไฟ และโรคแอนแทรกโนส

เพลี้ยไฟทำลาย
เพลี้ยไฟทำลาย

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงที่ทำความเสียหายแก่ดอกและผลอ่อน หากระบาดมาก ดอกมะม่วงจะแห้งไม่ติดผล หรือหากทำลายในระยะผลอ่อนก็จะทำให้ผลลาย ขายไม่ได้ราคา ยาที่กำจัดเพลี้ยไฟได้ดีมีอยู่หลายตัว แต่จะต้องฉีดสลับกัน เพื่อป้องกันการดื้อยา คุณจรัญจะเลือกจับกลุ่มยาหลายชนิด แล้วฉีดสลับกัน เช่น ใช้ยาเมโทมิล กับโปรวาโด สลับกับยาไซฮาโลทริน หรือใช้ยาคาร์โบซัลแฟน (เช่น โกลไฟท์) สลับกับ สารฟิโพรนิล เป็นต้น เมื่อคุมเพลี้ยไฟจนผลอ่อนมีขนาดเท่านิ้วมือก็ปลอดภัย

โรคแอนแทรกโนส
โรคแอนแทรกโนส

โรคแอนแทรกโนส เป็นโรคที่ทำลายรุนแรง หลายคนเรียกว่า โรคช่อดำ คุณจรัญจะเน้นการป้องกันโดยใช้ยา 2 ตัว บวกกัน คือ ฟลิ้นท์ อัตรา 200 กรัม ผสมกับ แอนทราโคล อัตรา 2 กิโลกรัม ฉีดพ่นสลับกับสารเอ็นทรัส อัตรา 500 ซีซี ต่อน้ำ 1,000 ลิตร หรือ สารเมอร์แพน อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่นจนถึงระยะผลอ่อน

“การใช้ยาในช่วงดอกถือว่าสำคัญมาก เจ้าของสวนจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและจะต้องดูให้ออกว่า ช่วงนี้ศัตรูอะไรลงทำลาย หรือต้องพยากรณ์ว่า ช่วงนี้เราจะต้องฉีดยาอะไร ถ้าเราดูศัตรูผิดหรือจัดยาไม่ถูกกับโรค ฉีดพ่นกี่ครั้งก็ยังเสียหาย ไม่สามารถขายผลผลิตได้ ยิ่งถ้าสวนไหนผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกจะต้องรู้ถึงระยะเวลาในการฉีด ต้องซื่อสัตย์และควบคุมให้ดี เพราะนอกจากจะต้องทำผลผลิตให้สวยมีคุณภาพแล้ว จะต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย” คุณจรัญ กล่าวเสริม

มะม่วงคุณภาพ สามารถส่งออกในราคาที่สูง
มะม่วงคุณภาพ สามารถส่งออกในราคาที่สูง

เมื่อถามถึงรายได้ในการผลิตมะม่วงในแต่ละปี คุณจรัญ อยู่คำ เจ้าของ “สวนโชคอำนวย” บ้านเลขที่ 63 หมู่ที่ 1 ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร โทร. (099) 271-1303 กล่าวว่า มะม่วงเป็นไม้ผลที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี แม้จะมีความเสี่ยงในเรื่องของสภาพอากาศ ภัยธรรมชาติก็ตาม ราคาซื้อขายในแต่ละปีที่มีปัจจัยแตกต่างกันไปในแต่ละปี แต่ในภาพรวมการปลูกและผลิตมะม่วงยังถือว่าเป็นอาชีพเกษตรกรรมที่ยังสร้างรายได้ดี แต่การเลือกปลูกมะม่วงสายพันธุ์ต่างๆ ก็สร้างรายได้แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง พื้นที่ปลูกมะม่วง 1 ไร่ (อายุต้น 4 ปีขึ้นไป) จะให้ผลผลิตราว 1,500-2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งที่ผ่านมาจะขายมะม่วงได้ดังนี้

ถ้าเป็นมะม่วงมัน เช่น ฟ้าลั่น จะขายได้ราคาเฉลี่ย 18-25 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ ประมาณ 27,000-50,000 บาท ต่อไร่ มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 จะขายได้เฉลี่ย 25-40 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ประมาณ 37,500-80,000 บาท ต่อไร่ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จะขายได้ราคาเฉลี่ย 25-60 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ประมาณ 37,500-120,000 บาท ต่อไร่ ซึ่งสำหรับราคาขายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองอาจจะมีราคาสูงมากกว่านี้ ซึ่งในบางปีราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 100 บาท ทีเดียว