แนะเคล็ดลับการทำสวนทุเรียนนอกฤดู

ปีนี้ถือเป็นปีทองของทุเรียนไทย เพราะขายผลผลิตได้ราคาสูงกว่าทุกปี สร้างแรงจูงใจให้คนไทยหันมาสนใจปลูกทุเรียนกันมากขึ้น แต่การทำสวนทุเรียนให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของต้นทุเรียนเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีป้อนตลาดในอนาคต

ในฉบับนี้  จะพาไปเรียนรู้เคล็ดลับการผลิตทุเรียนนอกฤดู ของ “ คุณสุเนตร สุทธิสถิตย์  ” (โทร.089-936-1214)ตั้งอยู่พื้นที่บ้านจำรุง หมู่ 7  ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแถลง จังหวัดระยอง  เกษตรกรต้นแบบที่มีประสบการณ์ปลูกทุเรียนมากว่า 20 ปี มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 600 ต้น จำนวน 4 แปลง กระจายอยู่ในพื้นที่ตำบลกองดิน ตำบลบ้านนา ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแถลง และตำบลน้ำเป็น อำเภอเขาชะเมา

สวนทุเรียนเนื้อที่กว่า 30 ไร่แห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเนินฆ้อ ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองกว่า 200 ต้น เป็นต้นทุเรียนอายุ 30 ปี จำนวน 100 ต้น  อายุ 11 ปีจำนวน  30 ต้น อายุ  7 ปี จำนวน 50 ต้น อายุ 6 ปีจำนวน 15 ต้นและอายุ  3 ปีจำนวน 5 ต้น สำนักงานเกษตรอำเภอแถลง ยกย่องให้สวนแห่งนี้ เป็นแปลงสาธิตการผลิตทุเรียนนอกฤดูของอำเภอแถลง

คุณสุเนตร (ซ้าย)และคุณพ่อ กับต้นทุเรียนหมอนทอง อายุ 30ปี

คุณสุเนตรเป็นเกษตรกรที่ขยันทำงาน ที่นี่เน้นดูแลจัดการสวนทุเรียนแบบประณีต ตั้งแต่เริ่มมีดอก คอยตัดแต่งกิ่ง ควบคุมทรงต้นให้ต้นทุเรียนมีโครงสร้างต้นที่แข็งแรง รับน้ำหนักผลผลิตได้ดี พร้อมกับดูแลป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูสม่ำเสมอ  ทำให้ต้นทุเรียนออกดอกเต็มที่และเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ

 “ อากาศแปรปรวน ” อุปสรรคสำคัญของสวนทุเรียน

คุณสุเนตรบอกว่า  ภาวะอากาศแปรปรวน ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของสวนทุเรียน ปีนี้ ต้นทุเรียนทยอยออกดอกติดผล 5 รุ่น เก็บเกี่ยวรุ่นละ 1 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม –เมษายน –พฤษภาคม –มิถุนายน –กรกฎาคม ทำให้เกษตรกรต้องเสียเวลาในการดูแลจัดการสวนมากขึ้นกว่าเดิม  แต่จุดดีคือ ขายทุเรียนได้ในราคาสูงเพราะผลผลิตไม่กระจุกตัวเหมือนกันปีก่อน

สวนทุเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เจอผลกระทบจากภาวะอากาศแปรปรวนดอกกำลังบาน เจอฝนช่วงปีใหม่ ดอกร่วงกันหมด ปีนี้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แค่ 5-6 ตันเท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยทำได้ถึง 20 ตัน แต่สวนทุเรียนของคุณสุเนตรปีนี้กลับมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 32 ตัน จากเดิมที่เคยทำได้30 ตันเมื่อปีก่อน เพราะคุณสุเนตรดูแลจัดการสวนตามคำแนะนำของอาจารย์ดนัย อังศุสิงห์ อดีตนักวิชาการด้านอารักขาพืช กรมส่งเสริมการเกษตร หรือที่รู้จักกันในนาม “หมอทุเรียน”

อาจารย์ดนัยแนะนำให้คุณสุเนตรใช้ “ฟอส ครอป. เค ”เป็นปุ๋ยน้ำตัวใหม่ในรูปฟอสฟอรัสแอซิค เป็นทั้งสารอาหารพืช และเป็นวัคซีนป้องกันโรคช่วยให้ต้นทุเรียนมีขั้วดอกเหนียวไม่ร่วงง่าย สารฟอสไฟด์ ช่วยแก้ไขปัญหาโรครากลำต้นกิ่งผลเน่า จากเชื้อราไฟทอปธอร่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณสุเนตรสาธิตการฉีดวัคซีนต้นทุเรียน

แนะเคล็ดลับเพิ่มผลผลิตทุเรียน     

ภัยธรรมชาติ นับเป็นอุปสรรคต่อการปลูกดูแลต้นทุเรียน ทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเจอปัญหาอุปสรรคมากมายทั้งเรื่องดอกและผลที่เสียหายจากลมพายุ ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ต้นโทรม เพราะขาดการดูแลอย่างถูกวิธี ชาวสวนทุเรียนส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ไม่สามารถทำให้ต้นทุเรียนออกดอกได้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร

อาจารย์ดนัย ศึกษาจากฐานข้อมูลปริมาณน้ำฝนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มักมีปัญหาฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนกรกฎาคม และมีฝนตกหนักในเดือนสิงหาคม – กันยายน ปริมาณฝนหมดในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นเผชิญกับภาวะอากาศหนาวเย็นลงอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้ไม้ผลออกดอกพร้อมๆ กัน

ลมหนาวยังมีอิทธิพลให้ไม้ผลที่แตกใบอ่อนในเดือนพฤศจิกายนออกดอกรุ่นหลังในเดือน มกราคม แต่จะมีปริมาณไม่มากนัก เพราะพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ออกดอกหมดแล้วในเดือนธันวาคม ถึงจะแตกใบอ่อนมาจากเดือนตุลาคมก็ออกดอกได้  สำหรับเดือน มกราคม เป็นระยะที่ไม้ผลกำลังอยู่ในระยะดอกบานเป็นส่วนใหญ่ มักพบปัญหาด้านแมลงศัตรูพืชระบาดรุนแรง โดยเฉพาะเพลี้ยไฟที่แมลงพาหะของอาการทุเรียนหนามจีบหรือหัวจีบ และการระบาดของไรแดงรวมถึงเพลี้ยแป้ง เพลี้ยต่าง ๆ ทำให้หนามทุเรียนล้มได้

อาจารย์ดนัย อังศุสิงห์

เดือนมีนาคม – 15 เมษายน  เป็นระยะเวลาที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนนอกฤดู (กลุ่มทำสาร) และมังคุดที่ออกดอกรุ่นแรกในวันที่ 25 พฤศจิกายน -10 ธันวาคม ราคาและการตลาดคงดี เพราะมีปริมาณผลลิตเข้ารุ่นแรกในปริมาณน้อย เดือนเมษายน-พฤษภาคม ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน เป็นต้นไปจนถึง 20 พฤษภาคม ผลผลิตของไม้ผลต่าง ๆ จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้นอันเป็นผลมาจากลมหนาวในเดือนธันวาคม

เดือนมิถุนายน ไม้ผลโดยรวมเริ่มมีปริมาณผลผลิตลดน้อยลงเป็นเหตุให้ความต้องการตลาดเริ่มสูงขึ้น ราคาขายขยับสูงขึ้น แต่เกษตรกรมักเจอปัญหาผลผลิตเสียหาย เนื่องจากมีปริมาณฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลต่อคุณภาพเช่น ทุเรียนเนื้อแข็งเป็นไต มังคุดอาการยางไหลไส้เหลือง และโรคผลเน่าของไม้ผลต่างๆ

ภาวะเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทย นับเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้เป็นอย่างมาก เพราะมีฝนตกต่อเนื่องผิดฤดูกาล ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ซึ่งเป็นระยะที่ไม้ผลควรจะออกดอก แต่กลับแตกใบอ่อนเป็นจำนวนมาก

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ เกิดสภาวะลมหนาวเย็นและกระแสลมแรงมาก จนทำให้ผลไม้ร่วงหล่นเสียหาย ดอกที่กำลังบานก็ไม่สามารถติดผลได้ ยังประสบกับสภาวะภัยแล้งทุกพื้นที่ จากสภาพความเสียหายดังกล่าว ทำให้ไม้ผลจำนวนมากไม่ให้ผลผลิตและ บางส่วนเสียหายมากจนต้องได้รับการจัดการดูแลอย่างดี

อาจารย์ดนัยมีข้อแนะนำเรื่องการเตรียมแปลงไม้ผลก่อนเข้าสู่ฤดูการผลิตต่อไปดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การจัดการฟื้นฟูสภาพต้นทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต  (เดือน พฤษภาคม-มิถุนายน โดยประมาณ) หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนต้องประเมินสภาพความสมบูรณ์ของต้นว่าอยู่ในระดับใด เพื่อส่งผลต่อขั้นตอนการจัดการฟื้นฟูสภาพต้นโดยดูจากสภาพใบ

ขั้นตอนที่ 2  การปรับโครงสร้างสวนการตัดแต่งกิ่งและการควบคุมโรครากลำต้นเน่า การตัดแต่งกิ่ง เป็นประเด็นสำคัญในความหมายตรงนี้ จะแตกต่างกันออกไปจากการตัดแต่งเพื่อปรับโครงสร้างสวนเพราะการตัดแต่งตรงนี้เป็นการตัดแต่ง เพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนการเจริญเติบโต ของต้นทุเรียน เช่น การตัดกิ่งแขนง, การตัดแต่งดอก,การตัดแต่งผล และการตัดแต่งกิ่งเพื่อส่งเสริมการออกดอก

ตัดแต่งกิ่งเปิดให้แสงแดดและลมถ่ายเทได้สะดวก

เคล็ดลับเพิ่มผลผลิตทุเรียนของอาจารย์ดนัย มีหลักการง่ายๆ ดังนี้ เริ่มจากการตัดกิ่งแขนง  โดยทั่วไป กิ่งแขนง คือกิ่งที่มีขนาดเล็กจะเกิดขึ้นภายในกิ่งใหญ่ โดยจะเกิดด้านข้างของกิ่งหรือด้านล่างกิ่งใหญ่ แขนงมีประโยชน์มากโดยสามารถที่จะสังเคราะห์แสงสำหรับต้นที่ไม่มีใบนอกทรงพุ่มหรืออาการเจ็บป่วยจากอาการยอดแห้งใบ แคระแกรน และที่สำคัญยังเป็นตัวดึงพลังงานที่ใบด้านนอกส่วนยอดผลิตแล้วให้ไหลลงมาสะสมตามกิ่งแขนงเพื่อสร้างตาดอกอีกด้วย จึงพบว่ามีการออกดอกได้ดีและทั่วต้น

อาจารย์ดนัยแนะนำหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ 1. ไม่ทำการตัดแต่งต่อ หากพบว่าทุเรียนต้นนั้นไม่สมบูรณ์ ไม่มีใบด้านนอกและขาดความสมบูรณ์หรือมีการระบาดของโรครากลำต้นเน่า, โรคใบแก้วหรือใบด่างเหลือง  เมื่อพบว่าเป็นระยะที่ทุเรียนเริ่มมีการออกดอกในระยะไข่ปลาหรือตาปู และจะตัดแขนงได้เมื่อดอกมีปริมาณมากพอ อยู่ในระยะเหยียดตีนหนูขึ้นไป

อาจารย์ดนัยแนะนำให้ทำการตัดแต่งกิ่งแขนงต่อ ใน 5 กรณีคือ1.เมื่อต้องการให้ทุเรียนแตกใบอ่อนหรือเมื่อใบอ่อนเริ่มแตกและต้องการเร่งให้ต้นแตกใบอ่อนดีขึ้น 2.  เมื่อต้องการให้ทุเรียนออกดอกในรุ่นธรรมชาติ โดยมีส่วนประกอบสำคัญคือ ต้นสมบูรณ์ ใบแก่ อากาศเริ่มมีความหนาวเย็น หรือมีสภาวะฝนทิ้งช่วง  3. เมื่อต้องการเตรียมต้นเพื่อผลิตทุเรียนนอกฤดู 4. เมื่อมีการตัดแต่งดอกทุเรียน ให้ดอกมีความสมบูรณ์ ไม่เป็นที่หลบอาศัยของศัตรูพืช  5.  หลังจากต้นออกดอกแล้วหรือติดผลแล้ว มีการแตกแขนงภายใน ตามตำแหน่งตาดอกหรือผลอ่อนที่หลุดร่วง มักเป็นแขนงที่ท้องกิ่งด้านล่าง

อาจารย์ดนัยแนะนำวิธีการป้องกันโรคในสวนทุเรียน โดยปรับปรุงระบบหัวจ่ายน้ำ ไม่ให้น้ำเหวี่ยงโดนบริเวณลำต้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤษภาคม ควรทำต้นทุเรียนแห้งนานถึง 6 เดือน วิธีนี้่จะช่วยลดการระบาดของโรคลำต้นเน่าให้ลดลงอย่างมาก ยกเว้นต้นที่มีอาการรากเน่าอยู่แล้ว แต่ควรเปิดหัวเหวี่ยงเข้าต้นเพียงเล็กน้อย ป้องกันอาการเปลือกแตกต้นโทรม หากเป็นไปได้ ควรปรับให้ปุ๋ยทางระบบน้ำ และให้สารเคมีหรือยาฆ่าเชื้อได้จะเป็นผลดีอย่างมาก

น้องแอน พีอาร์เจียไต๋โชว์ผลทุเรียน

ขั้นตอนที่ 3  การจัดการใบเพื่อเตรียมความพร้อมของต้น โดยทั่วไปการผลิตทุเรียนมีแนวทางปฎิบัติ 3 ประการคือ การผลิตทุเรียนนอกฤดูรุ่นธรรมชาติและรุ่นหลัง หรือรุ่นล่า คือออกดอกเก็บเกี่ยวช้ากว่าแปลงอื่น ๆ ซึ่งตามลักษณะของพื้นที่และในสภาพต้นทุเรียนในแปลงเดียวกัน อาจมีความพร้อมที่แตกต่างกันได้ เกษตรกรต้องบริหารจัดการต้น ให้สภาพใบโดยรวมมีความสมบูรณ์และมีปริมาณใบที่ใกล้เคียงกัน ตรงจุดนี้คือความหมายสำคัญของการเตรียมความพร้อมของต้น

ขั้นตอนที่ 4 การเตรียมความพร้อมของต้นและใบชุดสุดท้ายก่อนการออกดอก  อาจารย์ดนัย อธิบายเพิ่มเติมว่า ความหมายของใบที่ 2 หรือ 3 ทำความเข้าใจได้ยากโดยแต่ละคนจะเรียกไม่เหมือนกัน แต่หากได้ดำเนินการมาจากขั้นตอนที่ 3 แล้วเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจะทราบดีว่า “ใบสุดท้าย” คือใบรุ่นใดซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในการผลิตทุเรียนนอกฤดูรุ่นธรรมชาติหรือรุ่นล่าหรือรุ่นหลัง จะแตกต่างกันทั้งวัน เดือน ปี แต่การจัดการเหมือนกันคือ “การสะสมความสมบูรณ์ของต้นให้พร้อมต่อการออกดอก”

อาจารย์ดนัยให้ข้อสังเกตว่า ใบอ่อนทุเรียนชุดสุดท้ายนี้จะแตกต่างกัน ทุเรียนที่ผลิตนอกฤดู (ทำสาร) จะแตกใบอ่อนในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ทุเรียนที่ทำการผลิตหัวธรรมชาติ  จะแตกใบอ่อนในเดือน กันยายน ทุเรียนที่ทำการผลิตธรรมชาติ  จะแตกใบอ่อนในเดือน ตุลาคม ส่วนทุเรียนที่ทำการผลิตรุ่นหลัง  จะแตกใบอ่อนในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

หากมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับการผลิตทุเรียนนอกฤดู หรือการดูแลไม้ผลอื่นๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากอาจารย์ดนัยได้ที่เบอร์โทร.092-656-9529 เวลา 8.00-13.00 น. ได้ทุกวัน