สร้างความมั่นคงด้านน้ำตามรอยเท้า “ พ่อ ”

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เครดิตภาพ กรมชลประทาน

“ น้ำ ” นับเป็นปัจจัยพื้นฐานทางการเกษตร ปัจจุบัน ภาคการเกษตรทั่วโลกต่างกำลังเผชิญหน้ากับผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม พายุฝนและอากาศหนาวที่มาผิดฤดู ทำให้ปริมาณน้ำลดลง อากาศขาดความชุ่มชื้น ส่งผลกระทบทำให้พืชขาดน้ำ ชะงักการเจริญเติบโต ปริมาณผลผลิตลดลงและมีคุณภาพต่ำ เพื่อความอยู่รอด เกษตรกรจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างดิน น้ำและพืช เพื่อปรับปรุงแผนการใช้ทรัพยากรน้ำให้ สอดคล้องกับ ปริมาณความต้องการของพืชแต่ละชนิด เพื่อจะได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดในอนาคต

เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เครดิตภาพ กรมชลประทาน

ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เรื่องการจัดการระบบ ชลประทาน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร และสามารถขจัดความยากจนได้อย่างยั่งยืน  ตลอดจนการยกระดับเครือข่ายเชื่อมโยงการพัฒนาชนบท กับการพัฒนาเมือง สนับสนุนการมีส่วนร่วมการรวมกลุ่มของประชาชนและเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้เกษตรกรมากขึ้น

ข้อดีของการทำนาแบบ เปียกสลับแห้ง
นิทรรศการการทำนาแบบใช้น้ำน้อยหรือการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

ที่ผ่านมา การทำนาแบบใช้น้ำน้อยหรือการทำนาแบบเปียกสลับแห้งในการทำนาปรังในเขตชลประทานช่วงฤดูแล้ง ช่วยลดการใช้น้ำลง 20 -35 % และยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ในขณะที่ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศไทยได้รับรางวัล WatSave Awards 2016 จากการประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2  ระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2559

พระอัจริยะภาพด้านการจัดการน้ำของ  ” ร.9 ” 

ระบบชลประทานของประเทศไทยเจริญก้าวหน้าไม่แพ้ชาติใดในโลกนี้ เกิดพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จากพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้แก่

ฝนหลวงแก้ปัญหาแล้ง เป็นการแสดงถึงพระอัจฉริยภาพที่สามารถกำหนดบังคับฝนให้ตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายได้สำเร็จส่งผลให้พื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยกว่า 173 ล้านไร่ ได้มีน้ำใช้ในการเพาะปลูกมาเป็นเวลากว่า 30 ปี

เครื่องบินฝนหลวง
เครดิตภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ป่าต้นน้ำ/ระบบป่าเปียก เป็นการแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในการพัฒนาป่าไม้โดยใช้การชลประทานเข้ามาช่วยในการสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าไม้ เพื่อเป็นแนวป้องกันไฟไหม้ป่าในระยะยาว โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เป็นป่าธรรมชาติ

ฝายต้นน้ำลำธาร ( Check dam ) คือ สิ่งก่อสร้างขวาง หรือกั้นทางเดินของน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วย ลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นพระอัจฉริยภาพในการอนุรักษ์ดินและน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

นิทรรศการหญ้าแฝก

หญ้าแฝก เพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการพังทลายของดิน ทำให้แหล่งน้ำไม่ตื้นเขิน จะช่วยรักษาหน้าดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้นอันจะเป็นการช่วยให้ป่าไม้ในบริเวณพื้นที่รับน้ำสมบูรณ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว

อ่างเก็บน้ำและเขื่อน  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการสร้างเขื่อน นอกจากนี้พระองค์ยังใช้อ่างเก็บน้ำสร้างปิดกั้นระหว่างหุบเขาหรือเนินสูง เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ จะเห็นได้จากโครงการอ่างเก็บน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคอีกด้วย

เขื่อนขุนด่านปราการชล

ฝายทดน้ำ-อาคารบังคับน้ำ-ประตูระบายน้ำ เป็นการจัดแสดงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการใช้อาคารชลประทานบริหารจัดการน้ำ โดยในพื้นที่ทำกินที่อยู่ระดับสูงกว่าลำห้วย ทรงเลือกใช้วิธีการก่อสร้างฝายหรือเขื่อนทดน้ำปิดขวางทางน้ำไหล เพื่อทดน้ำที่ไหลมาให้มีระดับสูงขึ้นจนสามารถผันเข้าไปตามคลองหรือคูส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูก ส่วนน้ำที่เหลือจะไหลข้ามสันฝายไปเอง

เครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) เป็นรูปแบบการจัดการน้ำโดยใช้อ่างเก็บน้ำหลายอ่างเชื่อมเข้าหากัน โดยนำน้ำส่วนเกินจากอ่างหนึ่ง ผันไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำที่ขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่สนับสนุนให้เกษตรกรไทยทำการเกษตรแบบยั่งยืน ตามพระราชดำรัส “เกษตรทฤษฎีใหม่” คือ การดำเนินการในพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็ก ด้วยวิธีการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาอย่างเหมาะสม โดยการจัดสรรการใช้ประโยชน์ในที่ดิน มีการจัดสร้างแหล่งน้ำในที่ดินสำหรับทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ให้มีรายได้ไว้ใช้จ่ายและมีอาหารไว้บริโภคตลอดปี

แก้มลิงธรรมชาติ ของอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

แก้มลิง  แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการบริหารจัดการน้ำโดยใช้แก้มลิง ช่วยชะลอน้ำหรือใช้เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วม และช่วยชะลออัตราการไหลของน้ำบนผิวดิน โดยการใช้พื้นที่ระบายน้ำก่อนปล่อยให้ไหลลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ ซึ่งตัวอย่างแก้มลิงที่ดำเนินการประสบสำเร็จได้แก่ แก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย จ.สมุทรสาคร แก้มลิงหนองใหญ่ จ.ชุมพร แก้มลิงหนองสมอใส เป็นต้น

ระบบระบายน้ำ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ด้วยการการก่อสร้างทางผันน้ำ หรือขุดคลองลัด เชื่อมต่อกับแม่น้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม โดยอาศัยหลักการที่ว่า จะผันน้ำในส่วนที่ไหลล้นตลิ่งออกไปจากลำน้ำโดยตรง ปล่อยน้ำส่วนใหญ่ที่มีระดับไม่ล้นตลิ่งให้ไหลอยู่ลำน้ำเดิมตามปกติ เช่น การดำเนินโครงการคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ระบบป้องกันน้ำเค็ม  แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการป้องกันน้ำเค็ม โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม ทำให้สามารถใช้น้ำจืดบริเวณด้านเหนือประตูระบายน้ำทำการเกษตรได้ เช่น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น

เครื่องกลเติมอากาศ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำ โดยเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ซึ่งมีใบพัดเคลื่อนน้ำและซองรับน้ำไปสาดกระจายเป็นฝอยเพื่อให้สัมผัสกับอากาศได้อย่างทั่วถึงเป็นผลให้ออกซิเจนในอากาศสามารถละลายเข้าไปในน้ำได้อย่างรวดเร็ว และในช่วงที่น้ำเสียถูกยกขึ้นมากระจายสัมผัสกับอากาศตกลงไปยังผิวน้ำ จะทำให้เกิดฟองอากาศจมตามลงไป ก่อให้เกิดการถ่ายเทออกซิเจนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งกังหันน้ำชัยพัฒนาแบบนี้จะใช้ประโยชน์ได้ทั้งการเติมอากาศ การกวนแบบผสมผสานและการทำให้เกิดการไหลตามทิศทางที่กำหนด

กังหันน้ำชัยพัฒนา

การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติ แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำเสีย ขยะ โดยใช้วิธีธรรมชาติ จากโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ใช้เทคโนโลยีที่เรียบง่ายมี 4 ระบบคือ ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม และระบบแปลงพืชป่าชายเลน

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เปรียบเสมือน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการดูแลจัดการป่าต้นน้ำได้อย่างยั่งยืน

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ” เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมพ.ศ. 2525 โดยเริ่มต้นจากการศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ

กรมชลประทานได้ช่วยพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยการจัดทำฝายต้นน้ำ สำหรับเก็บกักน้ำไว้ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของพื้นดินในฤดูแล้ง และทำระบบกระจายน้ำแบบก้างปลา เพื่อกระจายน้ำออกไปเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน เพื่อประโยชน์ในการปลูกป่าและเป็นแนวป้องกันไฟป่าเปียกและน้ำที่ไหลมาเบื้องล่างจะทำอ่างเก็บน้ำไว้ ใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนกิจกรรมการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง