ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
---|---|
เผยแพร่ |
“ปลูกผักแลกค่าเทอม” เป็นโครงการยุทธศาสตร์หนึ่งของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ในการนำความรู้ ภาคทฤษฎีมาทำการผลิตพืช ผัก ผลไม้ ไข่ เนื้อสัตว์ ปลา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา/นักวิชาการทำหน้าที่พี่เลี้ยง นำเทคนิค องค์ความรู้ มาสอนแนะแก่นักศึกษา ซึ่งมาจากทุกคณะ ทุกชั้นปี ที่สนใจ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แบ่งเบาภาระให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองในค่าเล่าเรียน ปัจจุบันมีนักศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมในโครงการจำนวน 467 คน จาก 11 คณะ
สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เทคนิคทางการเกษตรจากการปฏิบัติงานจริงนอกห้องเรียน รวมทั้งมีรายได้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในการลงทะเบียนเรียน ขณะที่ทางคณะและสำนักได้บูรณาการการเรียนการสอน เพื่อการสร้างบัณฑิตที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ทั้งยังเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการผลิตสินค้าสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ป้อนเข้าสู่กาดแม่โจ้ 2477
ผลการดำเนินงานในภาคเรียนที่ผ่านมา (ภาคเรียนที่ 2/2559) นักศึกษาสามารถจำหน่ายผลผลิตที่ผลิตจากพื้นที่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัย จัดสรรให้ดำเนินการผลิต (สำนักฟาร์ม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และคณะต้นสังกัด) โดยให้นักศึกษานำผลผลิตมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ในกาดแม่โจ้ 2477 เป็นประจำทุกวันศุกร์และเสาร์ สร้างรายได้ เพื่อชำระเป็นค่าลงทะเบียนเรียน จำนวน 77 คน มูลค่า 215,880 บาท
นางสาวหฤทธิ์ชนัน ดีดวง หรือ น้องแนน นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ เผยความรู้สึกภายหลังที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้เป็นครั้งแรกว่าโครงการปลูกผักเลี้ยงปลาแลกค่าเทอมสอนให้เกิดทักษะการทำงานที่สามารถนำไปประกอบอาชีพในชีวิตจริงได้
โดยเฉพาะในตัวโครงการที่มุ่งเน้นการให้ความรู้ในทางทฤษฎีและปฏิบัติจากความรู้ที่ได้จากในห้องเรียน รวมถึงยังสอนให้รู้จักนำวัตถุดิบจากในพื้นที่เพื่อนำทำเกษตรกรรม ไม่ว่าจะปลูกผัก เลี้ยงปลา ขณะเดียวกัน ยังได้รับความรู้จากการสร้างมูลค่าด้วยการแปรรูป แล้วยังชี้นำในการตลาดด้วยการนำไปขายที่กาดแม่โจ้ 2477 เพื่อนำรายได้กลับมาเป็นค่าเทอม
สำหรับโครงการนี้ทำหน้าที่ในการเลี้ยงปลานิล ปลูกผัก และการแปรรูปทำปลานิลแดดเดียว ปลาส้ม โดยนำผลผลิตทุกอย่างไปขายที่กาดแม่โจ้ 2477 น้องแนนบอกว่าจะพบปัญหาจากครั้งแรกที่เริ่มเลี้ยงปลาและปลูกผักเนื่องจากตัวเองยังไม่เคยมีความรู้มาก่อน แต่ภายหลังที่ทำกิจกรรมบ่อยๆ พร้อมไปกับการเรียนวิชาการในห้องเรียนทำให้มีความเข้าใจเพิ่มมากและเกิดความชำนาญเป็นอย่างดี ไม่เพียงเท่านั้นยังได้นำสิ่งที่ได้จากโครงการมาช่วยทางบ้านในเรื่องการเลี้ยงปลาและการแปรรูป ยิ่งทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“สิ่งที่ได้จากโครงการจะสอนในรู้ถึงวิธีการสร้างทักษะ ความชำนาญในการนำความรู้มาใช้ประกอบอาชีพในชีวิตจริง รวมถึงยังได้ข้อคิดเรื่องการประกอบอาชีพเพื่อให้มีความรอบคอบมากขึ้น นอกจากนั้น ยังช่วยเสริมสร้างภาวะผู้นำ” น้องแนน กล่าว
ขณะที่ นายนราธิป ทิพย์มณี หรือ น้องต้น นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะผลิตกรรมการเกษตร ได้บอกเล่าว่า โครงการปลูกผักแลกค่าเทอมเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ความรู้แก่นักศึกษาเพื่อนำไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้จริง ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้สามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แล้วยังช่วยทำให้มีรายได้เกิดขึ้นเพื่อนำไปใช้เป็นค่าเทอม ช่วยแบ่งเบาภาระได้มาก
“กิจกรรมนี้มีหน้าที่เผาถ่านไบโอชาร์หรือถ่านชีวภาพ ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ในอุตสาหกรรมความงาม การดับกลิ่น โดยขั้นตอนวิธีการทำถ่านไบโอชาร์ จะต้องนำเศษไม้แห้ง หรือเปลือกผลไม้แห้งบางชนิดมาอบในถังโดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้นปล่อยให้เย็นแล้วนำมาตากแห้ง นำมาบดให้ละเอียดแล้วจึงนำไปใช้งาน”
น้องต้นชี้ถึงประโยชน์ของกิจกรรมในโครงการปลูกผักแลกค่าเทอมว่า มีส่วนช่วยในเรื่องการสร้างความสามัคคี การทำงานเป็นทีมเพื่อให้ประสบความสำเร็จที่นอกเหนือจากรายได้จากการขาย
“ช่วยให้มีความรู้ทางวิชาชีพมากขึ้น ได้นำความรู้ ทักษะต่างๆ กลับมาช่วยงานทางบ้าน เพราะที่บ้านทำปุ๋ยหมักมูลสุกรจากที่เลี้ยงไว้จำนวนกว่า 40 ตัว ทั้งนี้ ได้นำมูลสุกรมาผสมกับถ่านไบโอชาร์เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพเพราะได้ราคาสูงกว่าการผลิตปุ๋ยมูลสุกรล้วน อย่างถ้าขายปุ๋ยสุกรราคากระสอบละ 50-60 บาท แต่พอนำมาผสมกับถ่านไบโอชาร์สามารถเพิ่มมูลค่าขายได้ราคาสูงกว่าหลายเท่า” น้องต้น กล่าว
ร่วมอุดหนุนผลิตภัณฑ์สินค้าทางการเกษตร แวะไปที่ กาดแม่โจ้ 2477 ได้เป็นประจำทุกวันศุกร์และเสาร์ ทั้งนี้ ไม่เพียงท่านจะได้เลือกซื้อสินค้าพืชผักอาหารที่สะอาดปลอดภัยต่อสุขภาพจากฝีมือการผลิตของน้องนักศึกษาจากแม่โจ้แล้ว ท่านยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนค่าเทอมให้แก่น้องนักศึกษาอีกด้วย