“เอนไซม์อัจฉริยะ ทูอินวัน” นวัตกรรมพัฒนาสิ่งทอ ประหยัดต้นทุน พลังงาน รักษ์สิ่งแวดล้อม

ต้นฮ่อมหรือ ต้นคราม ที่ปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน

“ม่อฮ่อม หรือ หม้อห้อม ” มาจากภาษาถิ่นล้านนา หมายถึงสีของผ้าฝ้ายย้อมสีครามอมดำ จาก “ ต้นฮ่อม “ ซึ่งพืชชนิดนี้ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น คนน่านเรียกพืชชนิดนี้ว่า “ ฮ่อมเมือง “ แม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ ครามหลอย ” ขณะที่คนอีสาน เรียกว่า “ ต้นคราม ”

โดยทั่วไป ต้นฮ่อม มีลักษณะเป็น ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 50-80 เซนติเมตร ลำต้น เป็นข้อปล้องคล้ายขาไก่ แตกกิ่งก้านตามข้อ ลำต้นกลม ใบ เดี่ยวเรียงตรงข้าม หัวใบเรียวท้ายใบแหลมขอบใบหยัก ใบด้านบนสีเขียวมัน ใบแก่หรืออ่อนเมื่อถูกกดหรือทุบทิ้งไว้กลายเป็นสีดำ ดอก เป็นช่อออกตามซอกใบและกิ่ง รูปทรงคล้ายระฆัง ดอกสีม่วง เมล็ด อ่อนสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล แตกง่าย

บ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่นับเป็นแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ชาวบ้านทุ่งโฮ้งยังคงรักษากรรมวิธีการย้อมผ้าฝ้ายแบบแบบโบราณ โดยใช้กิ่งและใบของ “ ห้อม ” มาหมักในหม้อตามกรรมวิธี แล้วนำมาย้อมผ้าดิบให้เป็นสีน้ำเงินหรือสีกรมท่า ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ หม้อห้อม ” นั่นเอง

เสื้อหม้อห้อม เป็นสินค้าผ้าพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของจังหวัดแพร่ คนเหนือนิยมสวมใส่ผ้าหม้อห้อมกันมาก ในช่วงงานประเพณี เทศกาลทำบุญ เสื้อหม้อห้อม แต่เดิมมีรูปแบบเป็นเสื้อคอกลม ผ่าอก แขนยาวหรือแขนสั้น มีทั้งแบบที่ใช้กระดุมกลัดและที่ใช้ผ้าเย็บเป็นเชือกผูก ปัจจุบันเสื้อม่อฮ่อมได้เปลี่ยนแปลงพัฒนารูปแบบของเสื้อให้มีความสวยงามยิ่งขึ้นและได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศ เพราะสวมสบาย ทนทาน และราคาถูก

แก้ปัญหาการย้อมห้อมสีติดสม่ำเสมอมากขึ้น

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล็งเห็นความสำคัญของ “ บ้านทุ่งโฮ้ง ” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตผ้าทอพื้นบ้าน ที่มีองค์ความรู้หลากหลาย เมื่อปี 2558 สวทช.จึงได้สนับสนุนให้ “บ้านทุ่งโฮ้ง” เป็นหมู่บ้านสิ่งทอนาโนแห่งแรกในจังหวัดแพร่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้านนาโน มาทำให้ผ้าฝ้ายย้อมของบ้านทุ่งโฮ้ง มีคุณสมบัติแตกต่าง หนุ่ม ลื่นและป้องกันสีซีดจางจากแสงยูวี

โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการต่อยอดนำภูมิปัญญาดั้งเดิม มาประสานร่วมกับเทคโนโลยีนาโนพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ผ้าทอมือของชุมชน ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างโอกาสทางการตลาดได้มากขึ้นแล้ว ยังยกย่องให้ “แพร่ ” เป็นจังหวัดต้นแบบของการนำนาโนเทคโนโลยี ไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอในท้องถิ่น เกิดเป็นธุรกิจสร้างสรรค์แล้ว ยังช่วยอนุรักษ์เอกลักษณ์ “ผ้าหม้อห้อม” ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดแพร่ไปพร้อมๆ กัน

สวทช. ต่อยอดพัฒนาสิ่งทอเมืองแพร่

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ส่งเสริมการใช้ “ เอนไซม์เอนอีซ เอนไซม์อัจฉริยะ ทูอินวัน “ ในพื้นที่อำเภอสูงเม่น และตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าทอหม้อห้อมพื้นเมือง ที่มีเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่

เอนไซม์เอนอีซ (ENZease) เป็นผลงานของ ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ นักวิจัยหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์และชีวเคมีภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ ศูนย์ไบโอเทค สวทช. ผลงานวิจัยดังกล่าว ถูกนำไปใช้ในกระบวนการลอกแป้ง และกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียวแทนการใช้สารเคมี 100% ในอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ช่วยให้เนื้อผ้านิ่มเหมาะสำหรับการสวมใส่

ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ ผู้พัฒนา “เอนไซม์เอนอีช”

เอนไซม์เอ็นอีซ นวัตกรรมวิจัย ยกระดับสิ่งทอ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และ โรงงานสิ่งทอธนไพศาล ร่วมกันบูรณาการองค์ความรู้ในสหสาขาวิชาต่างๆ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อพัฒนา “เอนไซม์เอนอีซ (ENZease)” ซึ่งผลิตได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยใช้จุลินทรีย์ที่คัดเลือกจากศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (Thailand Bioresource Research Center: TBRC)

ซึ่งจุลินทรีย์นี้สามารถสร้างเอนไซม์ได้ทั้งอะไมเลส และเพคติเนส ในเวลาเดียวกันเรียกได้ว่าเป็น “เอนไซม์อัจฉริยะ” ที่สามารถทำงานได้ดีในช่วงค่าพีเอช (pH) และอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกัน คือ pH 5.5 และที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นวัตกรรมชิ้นนี้มีจุดเด่นสำคัญคือ ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพความแข็งแรงของผ้า สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียวภายในเวลา 1 ชั่วโมงเท่านั้น ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนในการผลิต และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพของผ้าฝ้ายให้มีคุณภาพสูงมากกว่าที่ใช้สารเคมี

เนื่องจาก เอนไซม์เอนอีซจะทำปฏิกิริยาแบบจำเพาะเจาะจง ต่างจากสารเคมีที่ทำลายเส้นใยผ้า ซึ่งจะส่งผลให้ผ้ามีความแข็งแรง น้ำหนักลดลง และเนื้อผ้านิ่ม เหมาะสมสำหรับการสวมใส่ ปัจจุบันได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับ บริษัท เอเชียสตาร์ เทรด จำกัด ซึ่งมีความชำนาญในการผลิตเอนไซม์ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลงานวิจัยในการผลิตหม้อห้อม ศูนย์ไบโอเทค สวทช. ได้นำผลงานดังกล่าวไปเผยแพร่ให้กับผู้ผลิตผ้าหม้อฮ่อมพื้นเมือง ณ ร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น ตำบลเวียงทอง อำเภอสูงเม่น และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

เอนไซม์เอนอีซช่วยย้อมห้อมสีติดเสมอทั้งผืน

คุณประภาพรรณ ศรีตรัย ตันแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ตำบลทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า หลังจากทดลองใช้เอนไซม์เอนอีซในกระบวนการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียวทั้งแบบแช่ และแบบต้ม ช่วยทำให้ผ้ามีระดับการลอกแป้งและการซึมน้ำของผ้าผ่านเกณฑ์มาตรฐานและเหมาะสมต่อการนำไปย้อมสีและพิมพ์ลายได้

เมื่อนำผ้าผืนที่ได้จากการทดสอบด้วยเอนอีซมาผ่านกระบวนการพิมพ์ลาย และย้อมสีห้อม พบว่ามีการย้อมสีห้อมติดสีสม่ำเสมอกันทั้งพื้น ดูดซึมน้ำสีได้ดีและเร็วโดยไม่ต้องออกแรงขยี้ และมีสัมผัสที่นุ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การใช้เอนอีซยังช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจฯ สามารถเพิ่มคุณภาพของผ้าฝ้ายและช่วยลดพลังงานในกระบวนการต้มด้วยผงซักฟอกลงได้ และช่วยลดเวลาในกระบวนการแช่ผ้ากับน้ำหมักจากน้ำผักผลไม้จาก 3 วัน เหลือเพียงแค่ 18 ชม. เท่านั้น

ผ้าที่ผ่านกระบวนการใช้เอนอีซ

คุณชวัลณัฏฐ์ ถิ่นจอมธ์ ผู้ประกอบการร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น เปิดเผยว่า หลังจากทดลองนำเอมไซม์เอนอีซมาใช้ในการลอกแป้งและทำความสะอาดผ้าฝ้ายแล้วพบว่าลดขั้นตอนการทำความสะอาดได้มาก ใช้เวลาเพียง 1 วัน จากเดิมใช้เวลา 3 วันที่ แลยังช่วยลดกลิ่นเหม็นของแป้งที่ติดอยู่บนผ้าได้ดีมาก นอกจากนั้นแล้วยังขจัดคราบสกปรกบนผ้าได้หมดจดทำให้ผ้านิ่มขึ้นและสีของห้อมสังเคราะห์ซึมผ่านผ้าได้ดีขึ้น ช่วยให้สีย้อมติดสม่ำเสมอทั้งผืนผ้าได้เป็นอย่างดี

เอนไซม์เอนอีซ ช่วยลดข้อจำกัด สิ่งทอไทย

คุณปิลันธน์ ธรรมมงคล กรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ธนไพศาล ผู้ประกอบการโรงงานสิ่งทอรายใหญ่ ใน จังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับต้นๆ โดยทั่วไป อุตสาหกรรมสิ่งทอมักจะใช้สารเคมีในปริมาณมาก และใช้พลังงานสูงในกระบวนการผลิต ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการลอกแป้ง (Desizing) และกำจัดสิ่งสกปรก (Scouring) บนผ้าฝ้ายที่ต้องใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่างอย่างรุนแรง อาทิ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และโซดาไฟ ที่สำคัญกระบวนการทั้งสองต้องทำแยกกันเพราะมีการใช้สารเคมีในสภาวะที่แตกต่างกัน ทำให้ใช้พลังงานสูง สิ้นเปลืองเวลา และน้ำที่ใช้ในระบบ

ที่ผ่านมา การประยุกต์ใช้เอนไซม์ในกระบวนการทางสิ่งทอของประเทศไทย ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะผู้ประกอบการสิ่งทอไทยต้องสั่งซื้อเอนไซม์บางชนิดมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเอนไซม์เพกติเนสนั้นมีราคาค่อนข้างแพงในท้องตลาด อีกทั้งเอนไซม์สำหรับลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าในท้องตลาด ยังขายแยกกันเพราะมีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถทำร่วมกันได้ในขั้นตอนเดียวกัน ส่งผลให้ต้นทุนในกระบวนการผลิตผ้าที่ใช้สารเคมีสูงกว่าการใช้เอนไซม์เอนอีซ ซึ่งนักวิจัยไบโอเทค สวทช. ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเอนไซม์เอนอีซ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำงานได้ทั้งสองขั้นตอนในครั้งเดียว จึงช่วยประหยัดต้นทุน ลดเวลาการผลิต ประหยัดพลังงานและช่วยรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น

เอนไซม์เอนอีซ ลดต้นทุน
ทดแทนสารเคมี100%

การนำ “เทคโนโลยีเอนไซม์” ไปใช้ในการพัฒนากระบวนการทางสิ่งทอมากยิ่งขึ้น เช่น การนำเอนไซม์อะไมเลสสำหรับการลอกแป้ง และเอนไซม์เพกติเนสสำหรับกำจัดสิ่งสกปรก การใช้ “เอนไซม์เอนอีซ” ทดสอบภาคสนามในโรงงานสิ่งทอธนไพศาล จังหวัดสมุทรปราการ และประสบความสำเร็จอย่างมาก อาทิ กระบวนการแบบจุ่มอัดหมัก (Cold-Pad-Batch: CPB) และแบบจุ่มแช่ (Exhaustion) โดยใช้เครื่องจักรที่มีอยู่เดิมของโรงงาน และไม่จำเป็นต้องดัดแปลงเครื่องจักรและสายการผลิตแต่อย่างใด

เทียบสีผ้าที่ใช้เอนอีซกับไม่ใช้

นอกจากนี้ผ้าที่ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโรงงาน สามารถนำเข้าสู่กระบวนการฟอกย้อมและพิมพ์ลาย ก่อนนำส่งลูกค้าของโรงงาน จากการใช้ “เอนไซม์เอนอีซ” นั้นสามารถทดแทนการใช้สารเคมีในระบบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการใช้น้ำ ลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสีย ลดขั้นตอนในกระบวนการเตรียมผ้า พลังงาน และต้นทุนการผลิตโดยรวมได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับกระบวนการดั้งเดิม