“ไก่ตะเภาทอง” เลี้ยงง่าย ขายดี สร้างรายได้ที่มั่นคงสู่ชุมชน

ปัจจุบัน กระแสความนิยมบริโภคไก่พื้นเมือง เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” ซึ่งเป็นไก่พื้นเมืองรุ่นใหม่ที่มีการเติบโต แข็งแรง ปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะ และฮอร์โมน ตลอดกระบวนการเลี้ยง เพราะปล่อยให้ไก่เติบโตธรรมชาติ ในลักษณะ “ไก่อินทรีย์ปลอดสารพิษ” เนื้อไก่มีรสชาติอร่อย เนื้อนุ่ม หวาน หอม นำมาแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรจำนวนมาก

“ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์”

ความจริง  “ไก่ตะเภาทอง” เป็นที่รู้จักในหมู่เกษตรกรไทยมานานกว่า 200 ปีแล้ว  โดยไก่สายพันธุ์นี้ มีต้นกำเนิดมาจาก “ไก่พันธุ์เซี่ยงไฮ้” ซึ่งเป็นไก่พันธุ์พื้นเมืองของจีน คาดว่า พ่อค้าจีนเลี้ยงไก่พันธุ์นี้ไว้บนเรือสำเภาเพื่อเป็นอาหารระหว่างการเดินทางมาค้าขายกับประเทศไทย ต่อมามีการกระจายพันธุ์ไก่สู่เกษตรกรไทยที่พักพักอาศัยแถบชายฝั่งทะเล โดยเกษตรกรไทยเรียกไก่กันติดปากว่า  “  ไก่ตะเภา  ”

ลักษณะตามธรรมชาติของ “ ไก่เซี่ยงไฮ้ ”มีหงอนจักร ตัวใหญ่ ขนฟู ต่อมาเกิดการผสมพันธุ์กับไก่พื้นเมืองของไทยหลายชั่วรุ่น จนเกิดการพัฒนาสายพันธุ์แท้ขึ้นมา โดยมีลักษณะหงอนหินเหมือนกับไก่พื้นเมืองของไทย และมีตัวใหญ่ อกกว้าง ปริมาณเนื้อมาก ขนมีสีสันที่หลากหลายเช่นเดียวกับไก่พื้นเมืองทั่วไป ต่อมาได้มีการคัดเลือกไก่ที่มีลักษณะดีและสีเหลืองทองทั้งตัวไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ว่า “ไก่ตะเภาทอง ” ซึ่งไก่สายพันธุ์นี้ เป็นที่นิยมบริโภคในกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน เพราะมีสีทอง เป็นสีแห่งความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่งและร่ำรวย ทำให้ไก่ตะเภาทองเข้าข่าย “ ไก่มงคล ” ตามหลักความเชื่อของคนจีน

ต่อมาไก่ตะเภาทองกลายเป็นไก่หายาก เสี่ยงกับการสูญพันธุ์ อาจารย์สุชาติ สงวนพันธุ์ และคณะนักวิจัยภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ร่วมมือกันพัฒนาไก่สายพันธุ์นี้ โดยนำ ไก่ตะเภาทอง ไปผสมข้ามพันธุ์กับ ไก่สามเหลือง (ซาอึ้ง) ซึ่งเป็นไก่พื้นเมืองจีน จนได้  “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” ซึ่งเป็นไก่ลูกผสมสองสายพันธุ์

“ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” มีรูปร่างสมส่วนสวยงามทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีหงอนแบบจักร และหงอนหินแบบไก่พื้นเมือง ขนสีเหลืองทอง แข้งสีเหลือง จะงอยปากเหลือง หนังเหลืองเรียบเนียน เลี้ยงง่าย แข็งแรง ทนโรคเช่นเดียวกับไก่พื้นเมืองของไทย และมีเนื้อนุ่ม หวานกรอบมาก เป็นเอกลักษณ์ประจำพันธุ์

อบรมอาชีพเลี้ยงไก่สู่ชุมชน

พ่อพันธุ์ไก่ตะเภาทอง ตัวสีขาว ที่หายาก

ต่อมา อาจารย์สุชาติ สงวนพันธุ์ และคณะนักวิจัยภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น จัดอบรมความรู้เรื่องการเลี้ยง “ ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ”  สู่เกษตรกรผู้สนใจในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ซึ่ง กลุ่มอาชีพการเกษตร ตำบลมหาสวัสดิ์ ชุมชน 4 ภายใต้การนำของ “ คุณอนันต์  ประดิษฐ์ศร ” มีโอกาสเข้ารับการอบรมความรู้ในครั้งนี้ด้วย เพราะต้องการขยายโอกาสทางการตลาด เพราะทุกวันนี้ สมาชิกกลุ่มก็ทำอาชีพเลี้ยงไก่ชนอยู่แล้ว

คุณอนันต์ ประดิษฐ์ศร

คุณอนันต์  ประดิษฐ์ศร ประธานกลุ่มอาชีพการเกษตร ตำบลมหาสวัสดิ์  อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 27/3 หมู่ 1 ตำบลมหาสวัสดิ์  อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เล่าให้ฟังว่า  ภายหลังเข้ารับการอบรมความรู้กับ อาจารย์สุชาติ สงวนพันธุ์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อปลายปี 2558  ทางกลุ่มฯ ได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ มาทดลองเลี้ยงจำนวน 100 ตัว พร้อมอาหารสัตว์ 60% และคุณอนันต์ลงทุนซื้อไก่ตะเภาทองเลี้ยงเองอีก 100 ตัวผลการทดลองพบว่า  ไก่ตะเภาทอง สร้างรายได้ที่ดีพอเลี้ยงตัวเองได้ จึงตัดสินใจขยายการเลี้ยงไก่ตะเภาทองอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ 3 แล้ว

“ทางกลุ่ม ฯ สามารถขายไก่สดได้ในราคา ก.ก.ละ 80 บาท ช่วงตรุษจีน ขายในลักษณะไก่ต้มสำหรับไหว้เจ้า ในราคาก.ก.ละ 90 บาท ถือว่า ได้ผลกำไรที่ดี คุ้มค่ากับการลงทุน สร้างแรงจูงใจให้สมาชิกกลุ่มสนใจที่จะขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยปี 2559 ได้ขยายจำนวนการเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้นเป็น 360 ตัว” คุณอนันต์กล่าว

โครงการ 9101 ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงไก่

ในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำ “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน”   เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรในชุมชน เพื่อก้าวเข้าสู่หลักการทฤษฎีพร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ที่พพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศและภาคการเกษตร ขณะเดียวกันช่วยสร้างรากฐานความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนอย่างครบวงจร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและเครือข่าย (กลุ่มสมาชิกในชุมชน) ให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภาคการเกษตรของชุมชนให้มีส่วนร่วมแบบประชารัฐอย่างยั่งยืน โดยเน้นการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชน

ตำบลมหาสวัสดิ์  ชุมชน 4 เป็นหนึ่งใน 9,101 ชุมชนกลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรฯ เพื่อจัดทำโครงการ ศูนย์การเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ตะเภาทอง โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ เพื่อช่วยให้ชาวบ้านในชุมชน ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยได้มีไก่เนื้อ ไข่ไก่ไว้บริโภคในครัวเรือน หากเหลือก็นำไปขายสร้างรายได้เสริมในครัวเรือน เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ที่ผ่านมา มีเกษตรกรและผู้สนใจแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้อาชีพการเลี้ยงไก่ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง

คุณอนันต์บอกว่า   ภายหลังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล  ทางกลุ่มฯ ได้ขยายปริมาณการเลี้ยงไก่ตะเภาทองเป็น 600-700 ตัว พร้อมเลี้ยงไก่ไข่  300 ตัว เป็ด 800 ตัว โดยซื้อลูกไก่แรกเกิด สายพันธุ์ไก่ตะเภาทองจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในราคาตัวละ 25 บาท ขณะที่ลูกเจี๊ยบอายุ 1 เดือน ขายในราคาตัวละ  35 บาท

การเลี้ยงดูแลไก่ตะเภาทอง        

คุณอนันต์ บอกว่า ไก่ตะเภาทองดูแลง่าย เหมือนกับการเลี้ยงไก่บ้านทั่วไป ทางกลุ่มฯ เลี้ยงไก่ตะเภาทองแบบปล่อยตามธรรมชาติ โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาเลี้ยงไก่ประมาณ 4 เดือน ต่อรุ่น  1 ปี สามารถเลี้ยงไก่ตะเภาทองได้ถึง 4 รุ่น โดยใช้ระยะเวลาการพักเล้าพร้อมฉีดยากำจัดโรค ครั้งละ 15 วัน จึงเริ่มต้นการเลี้ยงไก่รอบใหม่

เมื่อถามถึงวิธีการเลี้ยงดู  คุณอนันต์บอกว่า ทางกลุ่มฯ ยึดหลักการดูแลจัดการฟาร์มไก่ตะเภาทอง ตามคำแนะนำของอาจารย์สุชาติเป็นหลัก โดยลูกไก่แรกเกิดต้องกกให้ความอบอุ่น  ประมาณ 1- 2 สัปดาห์  ให้อาหารในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ลูกไก่กินอาหารได้ดีมีความแข็งแรง และมีน้ำสะอาดให้ลูกไก่อย่างเพียงพอ

ทางกลุ่มฯ จัดพื้นที่เลี้ยงไก่ให้โรงเรือนที่เหมาะสม ทั้งนี้ พื้นที่  3×4 เมตรขนาด 12 ตารางเมตร สามารถเลี้ยงไก่ได้ 100 ตัว ส่วนไก่มีอายุได้ 3 – 4 สัปดาห์ จะเริ่มปล่อยออกนอกโรงเรือน โดยกั้นตาข่ายไว้รั้ว เพื่อให้ไก่หากินพืชผัก ผลไม้ ใบไม้ได้เองตามธรรมชาติแล้ว สามารถให้อาหารเสริมในการเลี้ยงได้เช่น หญ้าเนเปียร์ ใบเตย ฯลฯ  เพื่อบำรุงไก่ให้เติบโตแข็งแรงสมบูรณ์ ทั้งนี้  ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์  ใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 3 – 4 เดือน ถือว่ามีระยะเวลาการเลี้ยงที่สั้นกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป เมื่อครบอายุ สามารถจับไก่ออกขายได้น้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 2.2  ก.ก.

“ไก่ตะเภาทอง ได้รับความนิยมจากตลาดค่อนข้างดี เพราะมีจุดเด่นในเรื่องเนื้อหวาน หอม ไก่อารมณ์ดี ไม่เครียด สุขภาพแข็งแรง เติบโตดี ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายตามไปด้วย ไก่ตะเภาทอง จึงขายได้ราคาดี  ” คุณอนันต์กล่าว

ฝาก “ แม่ไก่แจ้กกไข่ ” อัตรารอด 100%

ปัจจุบัน ทางกลุ่มฯ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการขยายพันธุ์ไก่ตะเภาทอง โดยใช้วิธีฝากเลี้ยง โดยให้ “ แม่ไก่แจ้ ” ทำหน้าที่ฟักไข่ไก่ตะเภาทองแทน โดยแม่ไก่แจ้ 1 ตัว สามารถฟักไข่ได้ 6 ฟอง  ผลการทดลองพบว่า ลูกไก่ตะเภาทองแรกเกิดมีเปอร์เซ็นต์การรอด 100% เต็ม ไม่เจอไข่เสียเลย ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าตู้ฟักไข่ทั่วไปเสียอีก  ( ตู้ฟักไข่ สามารถฟักไข่ได้ครั้งละ 260 ฟอง แต่มีอัตราการสูญเสียประมาณ  20-30 ฟอง  )

“  โดยธรรมชาติแล้ว แม่ไก่แจ้ มีนิสัยหวงไข่ กินน้อย ตัวเล็ก แค่ลงมาหาน้ำกินชั่วครู่ชั่วยาม ก็บินกลับไปฟักไข่ต่อทันที  เรียกว่า ไก่แจ้ ทำหน้าที่แม่ไก่ฟักไข่ได้เก่งกว่าแม่ไก่ตะเภาทองเสียอีก ตอนนี้ ทางกลุ่มฯ ก็เตรียมเพิ่มจำนวนแม่ไก่แจ้ เพื่อขยายปริมาณการฟักไข่ไก่ตะเภาทองให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เมื่อได้ลูกไก่ตะเภาทองมากพอสำหรับใช้ในกลุ่มสมาชิก แทนที่จะซื้อพันธุ์จากภายนอก จะได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง    ” คุณอนันต์กล่าวในที่สุด

จากการเยี่ยมชมฟาร์มในครั้งนี้  เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ยืนยันได้ว่า  “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตที่ดี เหมาะสำหรับเลี้ยงเชิงการค้า ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ดังนั้น เกษตรกรที่กำลังมองหาอาชีพเสริมรายได้ หรือคนไทยวัยเกษียณที่อยากทำอาชีพเสริมที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน ควรมอง “ไก่ตะเภาทอง” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงสำหรับเลี้ยงดูแลตัวเองและครอบครัวในอนาคต

หากผู้อ่านท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับไก่ตะเภาทอง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์สุชาติ สงวนพันธุ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนา การผลิตสัตว์ปีก สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม  โทร.  034 -281078 – 9

และสามารถแวะเข้ามาเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงไก่ของ คุณอนันต์ ประดิษฐ์ศร ประธานกลุ่มอาชีพการเกษตร ตำบลมหาสวัสดิ์  อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ได้ตลอดเวลา  สอบถามเส้นทางได้ที่เบอร์โทร. 099-351-0655  และ  087-372-7887