สร้างผืนป่ารอบแปลงนา 1 ไร่ มีรายได้เดือนละหมื่น

ระยะหลังภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งอากาศร้อน ฝนแล้ง โรคแมลงก็เยอะ แถมปลายปีเจอน้ำท่วมซ้ำเติมอีก ใครปลูกพืชเชิงเดี่ยว เสี่ยงต่อการขาดทุนสูงมาก หากปรับแนวคิดจากพืชเชิงเดี่ยวสู่การทำเกษตรผสมผสานที่มีหลากหลายพันธุ์พืชในแปลงเดียวกัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะช่วยกระจายความเสี่ยง เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ เพราะมีผลผลิตหมุนเวียนเข้าตลาดได้เรื่อยๆ   

พ่อจันทร์ที ประทุมภา ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตร เศรษฐกิจพอเพียงปี 2554 จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบที่นำความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ปลูกพืชแบบผสมผสาน จนประสบความสำเร็จ สามารถปลดหนี้สินก้อนโตได้สำเร็จในปีที่ 5 แถมยังเหลือเงินออม ทำให้พ่อจันทร์ทีได้รับรางวัลชนะเลิศด้านเกษตรทฤษฎีใหม่จากการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครั้งที่ 1 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

พ่อจันทร์ที ประทุมภา เป็นวิทยากรเวทีปราชญ์ชาวบ้าน งานวันยางพาราบึงกาฬ

ล้มเหลวสักกี่ครั้ง ก็สู้ไม่ถอย

พ่อจันทร์ที เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ทำงานเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ ด้วยความขยันหมั่นเพียร สะสมเงินทุน ตั้งตัวได้ในฐานะนักธุรกิจ มีกิจการโรงสี มีฟาร์มเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์และสุกรขุน ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดีในขณะนั้น ต่อมามีเพื่อนมาชวนพ่อจันทร์ทีทำอาชีพนายหน้าจัดหาแรงงานไปทำงานต่างประเทศ พ่อจันทร์ทีเรียกเก็บเงินจากแรงงานส่งให้เพื่อน จำนวน 250,000 บาท เพื่อเป็นค่าประกันและค่าทำวีซ่า ปรากฏว่าเพื่อนโกงเงินไป ทิ้งให้พ่อจันทร์ทีแบกรับภาระหนี้สินทั้งหมด

“ผมเสียใจมาก จนอยากฆ่าตัวตาย แต่ภรรยาผม (แม่สำเภา ศรีนนท์นาม) เตือนสติว่า ฆ่าตัวตายไป ลูกหลานจะกลายเป็น “แพะรับบาป” แทน ทำให้ผมฮึดสู้ใหม่อีกครั้ง ผมยอมขายทรัพย์สินและจำนองที่ดินเพื่อนำเงินล้างหนี้สินก้อนดังกล่าว ผมยอมเปลี่ยนอาชีพจากนักธุรกิจ มาเป็นแรงงานรับจ้างรายวัน ยอมทำงานทุกอย่าง เพื่อให้มีเงินรายได้เลี้ยงดูครอบครัวต่อไป” พ่อจันทร์ที กล่าว

พ่อจันทร์ที โชคดีที่ได้มิตรแท้น้ำใจดี ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ชวนเขาไปคุมงานก่อสร้างที่ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี พ่อจันทร์ทีทุ่มเทแรงกายแรงใจตั้งใจทำงาน ประหยัดอดออม จนสามารถเก็บเงิน 150,000 บาท ติดมือกลับเมืองไทย เพื่อนำมาไถ่ถอนที่นาที่ติดจำนอง และเริ่มต้นทำอาชีพเกษตรกรรมใหม่อีกครั้ง

แม้จะได้ที่นาคืนมา แต่พ่อจันทร์ทีขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน จึงกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 5,000 บาท มาลงทุนทำเกษตร ครอบครัวเขามีรายได้จากการทำเกษตร พออยู่ได้ไปวันๆ ก้าวเข้าสู่ปีที่สอง ถึงเวลาต้องจ่ายดอกเบี้ย ธ.ก.ส. ปรากฏว่า เงินขาดมือ จำเป็นต้องกู้หนี้นอกระบบ หนี้สินมีแต่เพิ่มพูน แต่ยังหาทางปลดหนี้ไม่ได้

พ่อจันทร์ที มีโอกาสไปศึกษาดูงานเกษตรผสมผสานของ “พ่อผาย สร้อยสระกลาง” ปราชญ์ชาวบ้าน ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ พ่อจันทร์ทีเกิดความประทับใจ จึงเริ่มต้นทำการเกษตรแบบผสมผสาน เมื่อปี 2534  เนื่องจากขาดแคลนเงินทุน จึงต้องใช้แรงงานในครอบครัวทำงานขุดสระน้ำ เนื้อที่ 2 งาน ด้วยมือ โดยใช้เวลาขุดสระนานถึง 3 เดือน จึงสามารถเก็บกักน้ำสำหรับใช้ในไร่นาได้ตามความต้องการ พ่อจันทร์ทีปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก แต่ยังมีรายได้ไม่มาก

ตามรอยพ่อ กับเกษตรทฤษฎีใหม่

พ่อจันทร์ที ได้พัฒนาต่อยอดการเรียนรู้เรื่องการทำเกษตร โดยไปศึกษาเรื่องหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมการพัฒนาชุมชน จนเข้าใจหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำมาปรับใช้ในไร่นาสวนผสมของตัวเอง ในช่วงปี 2540-2541 จนเกิดรายได้ที่ยั่งยืน ปลดหนี้สินได้สำเร็จ

พ่อจันทร์ที ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อยู่บนหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน โดยยึดหลักความพอประมาณ ให้ครอบครัวพอมีพอกินก่อน ปลูกอะไรก็กินสิ่งนั้น ทำให้มีกินมีใช้ในครอบครัว ลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องพึ่งปัจจัยภายนอก ยึดหลักความรู้คู่คุณธรรม มีใจนักสู้ไม่ย่อท้อต่อความลำบาก มีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำให้มีครอบครัวที่อบอุ่น

ที่ดินทำกิน จำนวน 22 ไร่ ของพ่อจันทร์ทีถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แบ่งที่ดิน 2 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย ทำนาปลูกข้าวอินทรีย์ 10 ไร่ อีก 10 ไร่ ใช้ปลูกพืชผสมผสานตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ หัวใจสำคัญของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ อยู่ที่ “แหล่งน้ำ” พ่อจันทร์ที ลงทุนขุดสระน้ำกว่า 10 บ่อ เก็บกักน้ำสำหรับใช้เพาะปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย พืชสมุนไพร เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ และปลา ผลผลิตที่ได้ใช้บริโภคก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ให้พึ่งพาตัวเองได้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ”

ลูกเขยพ่อจันทร์ที โชว์ผลผลิตในแปลงปลูกพืชผสมผสาน

“ก่อนปลูก ผมไปสำรวจตลาดก่อนว่า ผู้ซื้อต้องการอะไร จึงค่อยปลูกพืชผักผลไม้ที่ตลาดต้องการ เมื่อผลผลิตออกขาย แม่ค้าปฏิเสธการรับซื้อ โดยอ้างว่า มีแหล่งผลิตที่ส่งขายให้ประจำอยู่แล้ว แต่ผมตัดสินใจขายผลผลิตเอง พืชผักผลไม้ทุกชนิดปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ พืชผักสดมีคุณภาพดี โดยตั้งราคาขายต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อเรียกลูกค้า ปรากฏว่าสินค้าขายดีมาก มีกลุ่มลูกค้าขาประจำเกิดขึ้นมากมาย” พ่อจันทร์ที กล่าว

 วิธีเพาะต้นกล้าผักหวานป่า

ผักหวานป่า กับ ยางนา ต้นผักหวานป่ากับตะขบ สามารถอยู่ร่วมกันได้ พ่อจันทร์ทีเก่งในเรื่องการเพาะต้นกล้าผักหวานป่า สร้างรายได้จากการขายพันธุ์ต้นผักหวานป่าได้เป็นกอบเป็นกำ พ่อจันทร์ที แนะนำเทคนิคเพาะต้นกล้าผักหวานป่าว่า สิ่งจำเป็นที่ต้องเตรียม ได้แก่ เมล็ดผักหวานป่าที่สุกแล้ว (การเก็บเมล็ดผักหวานป่า สามารถเก็บได้ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ปุ๋ยคอก แกลบดิบ แกลบดำ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ดินร่วน ถุงเพาะ ขนาด 3×7 นิ้ว และแผ่นผ้ายาง

การเพาะปลูกผักหวานป่า เริ่มจาก นำปุ๋ยคอก แกลบดิบ แกลบดำ และดินร่วน มาผสมให้เข้ากัน ในอัตรา 1 ต่อ 1   นำปุ๋ยน้ำชีวภาพ 1 ลิตร ผสมน้ำ 10 ลิตร คนให้เข้ากัน รดกองปุ๋ยหมักที่เตรียมไว้ นำถุงเพาะที่เตรียมไว้นำดินกรอกใส่ให้เต็ม นำผ้ายางปูพื้นรองวางถุงเพาะต้นกล้าผักหวานป่า

การปอกเปลือกเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่า
แปลงปลูกผักหวานป่า

วิธีการเพาะเมล็ดผักหวานป่า ให้นำเมล็ดผักมาบีบให้เปลือกแตกออกเหลือแต่แกน นำมาคลุกปูนขาวเพื่อป้องกันเชื้อราและแมลง แล้วจึงนำไปปลูกในถุงเพาะที่เตรียมไว้ โดยวางเมล็ดเพียงครึ่งแกนเมล็ดไม่ต้องกลบให้มิด และรดน้ำ ผักหวานป่าไม่ชอบน้ำขัง และห้ามรดน้ำบริเวณใบ ให้รดน้ำบริเวณราก และไม่ควรใช้สารเคมีใดๆ ทิ้งไว้ 3-7 วัน เมล็ดจะแตกคล้ายถั่วงอก หลังจากนั้น ทิ้งไว้ 30-40 วัน เมล็ดถึงจะแทงยอดขึ้นบนดิน ผักหวานป่าเมื่อแตกใบ 4-5 ใบ ก็สามารถขายต้นกล้าได้ โดยจะขายส่งราคา ต้นละ 15 บาท ขายปลีก ต้นละ 20 บาท ผักหวานป่าเมื่อมีอายุ 2-3 ปี ก็สามารถเก็บผลผลิตเพื่อนำมารับประทานหรือจำหน่ายได้

ผักหวานป่าที่เก็บออกขาย

 

สร้างผืนป่าในไร่นา

พ่อจันทร์ที ทำแปลงเกษตรแบบประณีต บนเนื้อที่ 1 ไร่ ภายใต้แนวคิด “สร้างผืนป่าในไร่นา” เพื่อเป็นตัวอย่างของการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปรับคันนาให้ใหญ่ขึ้น ปลูกพืชสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจหลากหลายบนคันนา จากเดิมที่เคยเป็นผืนนาที่แห้งแล้ง ใช้เวลาแค่ปีเดียว กลายเป็นป่าธรรมชาติที่มีความสมดุลทางธรรมชาติ มีเห็ดป่าหลากหลายชนิด ทั้งเห็ดระโงกขาว เห็ดระโงกเหลือง เห็ดโคน ฯลฯ ให้เก็บกิน เก็บขายได้ตลอดทั้งปี

พืชผักสวนครัว ใช้บริโภคในครัวเรือน เหลือกินก็ส่งขายตลาด สร้างรายได้เข้ากระเป๋าได้ทุกวัน บ่อน้ำใช้เก็บกักน้ำและเลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ขายสร้างเงินรายเดือน ส่วนเงินรายปีมาจากการขายข้าว ผลไม้ และการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต ประเภท มะพร้าว กล้วย เสาวรส สร้างรายได้ทะลุหลักหมื่นต่อเดือน ส่วนไม้ยืนต้น เช่น ต้นยางนา ที่ปลูกไว้รอบคันนา เป็นเงินออมวัยเกษียณและเป็นมรดกให้ลูกหลาน พ่อจันทร์ทีปลูกและขยายพันธุ์ต้นยาง นาเอง ใช้เงินลงทุนไม่ถึง 10 บาท ผ่านไป 20 ปี เมื่อตัดไปขาย สร้างรายได้ 15,000 บาท ต่อต้น ทีเดียว

“เมื่อก่อนผมเคยทุกข์ยากลำบากเพราะแบกหนี้สินก้อนโตจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่หลังจากปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตน้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ทำเกษตรผสมผสาน ก็ประสบความสำเร็จ สามารถปลดหนี้สินและเกิดรายได้ที่ยั่งยืน ความสุขในชีวิตของผมในวันนี้คือ เปิดบ้านเป็นศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรังบูรพา เพื่อถ่ายทอดความรู้ ให้ประชาชนที่สนใจได้เรียนรู้เรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนแนวความคิด รู้จักพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองในชุมชน เพื่อปลดหนี้ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนเช่นเดียวกับผม” พ่อจันทร์ที กล่าวในที่สุด