กรมชลประทาน พร้อมรับมือ พายุโซนร้อน “ปาบึก” เข้าใต้พรุ่งนี้

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศแจ้งเตือน พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 65 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะเคลื่อนผ่านแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ทำให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ในช่วง วันที่ 3-4 มกราคม 2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลานครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล ช่วงวันที่ 4-5 มกราคม 2562 บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล แล้วจะเคลื่อนตัวออกกสู่ทะเลอันดามัน ในวันที่ 6 มกราคม 2562 ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกเล็กน้อยบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร นั้น

กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำอย่างเร่งด่วน โดยการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ทุกโครงการฯ เพื่อเน้นย้ำให้ทุกแห่งเตรียมการรับมือจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนดังกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ได้เร่งพร่องน้ำออกจากลำน้ำต่างๆ ทำให้ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2-3 เมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับน้ำจากฝนที่ตกลงในพื้นที่ สำหรับเขื่อนต่างๆ ได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนไว้ล่วงหน้าแล้วเช่นกัน จากที่เขื่อนขนาดกลางส่วนใหญ่มีปริมาตรน้ำ ร้อยละ 70-80 ของความจุอ่าง ได้ให้โครงการชลประทานแต่ละแห่งระบายน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ทั้งนี้ ต้องไม่เร่งระบายออกมากเกินไป จนเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนแล้ว ภาคใต้จะยังคงมีน้ำเก็บกักเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังได้ให้เจ้าหน้าที่กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้น้ำระบายได้สะดวก พร้อมกับสั่งการให้เจ้าหน้าที่ชลประทานทุกโครงการ รวมไปถึงศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับการเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือนั้น กรมชลประทาน ได้ติดตั้งและเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือไว้ในพื้นที่ภาคใต้ ไว้ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนแล้ว อาทิ เครื่องสูบน้ำ 453 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 300 เครื่อง และเครื่องจักรกลอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 1,106 หน่วย พร้อมกันนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน ตรวจสอบอาคารและระบบชลประทาน ให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ยังได้นำรถกระจายสัญญาณวิทยุสื่อสารลงไปประจำในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม

เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เจ้าหน้าที่ชลประทาน ในด้านการสื่อสารด้วยวิทยุสื่อสารระยะไกล ซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกลมีความสะดวก รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ให้ประสานงานบูรณาการทำงานร่วมกับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างทั่วถึงแล้ว