“แตงกวาไฮโซ” ลูกดก สด อร่อย ทนไวรัสได้ดีเยี่ยม เพิ่มรายได้ ครองใจเกษตรกร

ปัญหาโรคและแมลง คือ อุปสรรคสำคัญของการปลูกแตงกวา แถมระยะหลังเมืองไทยมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้เกิดโรคแมลงมากขึ้น ในช่วงหน้าร้อน เช่น โรคไวรัส โรคราน้ำค้าง ทำให้ต้นแตงกวาเกิดอาการใบเหลือง แห้งเหี่ยว ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ในช่วงอากาศร้อนมากๆ เพศของดอกจะกลายเป็นตัวผู้ ทำให้ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้

บริษัท เจียไต๋ จำกัด ผู้นำธุรกิจเมล็ดพันธุ์อันดับหนึ่งของประเทศไทย ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้พัฒนา “แตงกวาพันธุ์ไฮโซ” เป็นสินค้าทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกร โดยแตงกวาพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นในเรื่อง ความแข็งแรงต้านทานโรคไวรัส ทนอากาศร้อนได้อย่างดีเยี่ยม ให้ผลผลิตที่คุ้มค่า สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรให้มีรายได้สูงขึ้น เหมาะสำหรับปลูกเชิงการค้า

นักวิจัยของเจียไต๋ใช้เวลาทดลองปรับปรุงแตงกวาพันธุ์ไฮโซมากว่า 2 ปี ทดลองปลูกในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพราะเป็นพื้นที่ที่นิยมปลูกแตงกวาเป็นอย่างมาก ซึ่งพบว่าแตงกวาพันธุ์นี้แม้ว่าอากาศจะร้อนจัด ก็สามารถยังให้ผลผลิตที่ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และยังให้ขนาดมาตรฐาน

แตงกวาไฮโซ มีขนาดผลยาวประมาณ 11 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.8 เซนติเมตร ผลตรงเรียวสวย ไม่งอ การไล่สีของผลเป็นสีขาวเขียวสวยงาม เนื้อแน่นและกรอบ ภายหลังจากที่ได้ให้เกษตรกรทดลองปลูกในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรบางรายสามารถขายผลผลิตได้ กิโลกรัมละ 20 บาท ถือเป็นราคาที่สูงมากสำหรับในช่วงหน้าแล้ง

ขั้นตอนการปลูกแตงกวา

เริ่มจาก เตรียมแปลงปลูกขนาด 1 เมตร โดยระยะห่างระหว่างแปลงยาว 1 เมตร ให้เสร็จก่อนการเพาะเมล็ด วางสายน้ำหยด 2 เส้น ต่อแปลง ก่อนปูแปลงด้วยมัชชิ่งฟิล์ม เจาะหลุมปลูก ให้มีระยะระหว่างต้น 50 ซม. และระยะระหว่างแถว 60 ซม. (จะวัดจากขอบแปลงทั้งสองด้านเข้ามา ด้านละ 20 ซม.) ปักไม้ทำค้าง ตามระยะระหว่างต้น แล้วผูกไม้ค้างเข้าหากัน ทำเป็นลักษณะของกระโจม เชื่อมแกนกลางด้วยไม้ยาว วางตลอดทั้งแนว

การเตรียมเพาะเมล็ด

แนะนำให้เกษตรกรเพาะเมล็ดในวัสดุปลูก คือ พีทมอสส์สีส้ม (แบบละเอียด) รดน้ำให้ชื้น แต่ไม่ให้แฉะ เพราะอาจทำให้รากเน่าได้ หลังการเพาะต้นกล้าแตงกวาประมาณ 7-9 วัน หรือดูที่มีใบจริง ใบแรกโผล่ออกมาให้เห็น ก็เตรียมย้ายลงแปลงปลูกได้เลย โดยปลูกหลุมละ 2 ต้น คลุมแปลงปลูกด้วย spun ball เพื่อกันแมลง และในช่วงฤดูที่ฝนตกหนัก ทั้งนี้เพื่อ ป้องกันลำต้นหัก เมื่อฝนตกรุนแรงได้

การดูแลรักษา

หลังจากย้ายกล้าแตงกวาลงแปลงแล้ว ควรให้ปุ๋ย โดยใช้วิธีเดินรดไปตามต้น หรือให้ปุ๋ยละลายไปพร้อมกับการให้น้ำ ในช่วงแรกของต้นกล้าจะให้ปุ๋ยวันเว้นวัน ควรฉีดสารเคมี เพื่อป้องกันโรคราน้ำค้าง และสารเคมีป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟกับแมลงหวี่ขาว ซึ่งแมลงทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคไวรัส การป้องกันจะเน้นหนักมากในช่วงแรกก่อนที่จะถอด spun ball ออก

ในช่วงเวลา 2 อาทิตย์ หลังจากย้ายต้นกล้า แตงกวาจะโตขึ้นมาก ถอด spun ball ออก จากนั้น ผูกต้นแตงกวาขึ้นกับค้างที่ได้เตรียมไว้แล้ว จากหลุมละ 2 ต้น ให้เลือกผูกเพียง 1 ต้น โดยพิจารณาจากความสมบูรณ์ของต้นเป็นหลัก จากนั้น ตัดต้นที่เหลือทิ้ง เมื่อผูกทุกต้นขึ้นค้างแล้ว จะเริ่มมีการตัดแต่งแขนงแตงกวาได้ ทั้งนี้ การตัดแต่ง ควรเริ่มทำตั้งแต่เห็นส่วนที่เป็นแขนงใน ข้อที่ 1-5 นับจากโคนต้นขึ้นมา สามารถสกิดออกได้เลย และจะเริ่มไว้แขนงได้ตั้งแต่ ข้อที่ 6 เป็นต้นไป

 

เมื่อต้นแตงกวาโตขึ้น จะต้องมีการผูกยอดให้ติดแนบกับค้าง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการปะทะกับลมที่แรงๆ โดยตรง ซึ่งจะทำให้ต้นหัก นอกจากนี้ จะทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต และโอกาสในการเก็บหลงก็จะลดน้อยลง การผูกยอด ควรหยุดผูกเมื่อต้นแตงกวาโตถึงยอดค้าง

การแต่งแขนงต้นแตงกวา จะทำตั้งแต่ ข้อที่ 6 ขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งต้นแตงกวาเจริญเติบโตจนถึงยอดค้าง การแต่งแขนงมีผลดี คือ ทำให้ลูกที่ได้มีลูกดีเป็นจำนวนมาก ลูกที่ตกเกรดจะลดน้อยลง ยิ่งแต่งแขนงเร็วเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีต่อต้นแตงกวามากขึ้นเท่านั้น ตลอดอายุของแตงกวา ควรให้ปุ๋ย เพื่อบำรุงต้นและผล ร่วมกับการฉีดสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคและแมลงด้วย

เมื่อแตงกวาอายุได้ประมาณ 30 วัน ก็เริ่มติดผลให้ผลผลิตได้ และสามารถเก็บได้ทุกวันต่อเนื่องกันไปจนประมาณ 20-25 มีด เนื่องจากว่าเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้พื้นที่เดิมปลูกแตงกวาตลอดทั้งปี อาจทำให้พื้นที่ดังกล่าวขาดแคลนแร่ธาตุที่จำเป็นบางอย่างของแตงกวาลงไปได้ ดังนั้น ควรมีการเพิ่มธาตุอาหารรองลงไปด้วย

การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

โรคที่สำคัญของแตงกวา ได้แก่ โรคราน้ำค้าง และโรคไวรัส สำหรับโรคราน้ำค้าง สามารถป้องกันตั้งแต่ระยะแรกๆ ด้วยการฉีดสารเคมี สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ โนมิวดิว เท็นเอ็ม และบาวีซาน ในบางครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน จะใช้วิธีการผสมสารเคมีเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับสูตรที่ใช้ร่วมกัน คือ โนมิวดิวร่วมกับเท็นเอ็ม

สำหรับโรคไวรัส ยังไม่มีสารเคมีตัวใดที่สามารถกำจัดโรคไวรัสได้ แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการกำจัดแมลงที่เป็นพาหะของโรค ได้แก่ เพลี้ยไฟ และแมลงหวี่ขาว สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ สกาย คอมโบ น็อคไดน์35 ชอสแมค ไดเมทโธเอท และไดทาฟอส และสูตรที่นิยมใช้ร่วมกัน คือ สกายร่วมกับคอมโบ ไดทาฟอสร่วมกับชอสแมค หรือน็อคไดน์35 ร่วมกับชอสแมค เป็นต้น

ทั้งนี้เกษตรกรควรใช้สารเคมีกำจัดโรคแมลง ตามสัดส่วนที่กำหนดบนฉลากของสารเคมีแต่ละชนิด โดยคำนึงถึงอายุของแตงกวาร่วมด้วย หากต้นแตงกวามีอายุน้อย ควรปรับลดปริมาณสารที่ใช้ลง และการฉีดสารเคมีตัวเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกในที่เดิม อาจมีผลต่อการดื้อยาได้ ดังนั้น เกษตรกรควรสลับการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดโรคและแมลงด้วย

สำหรับเกษตรกรที่สนใจเมล็ดพันธุ์ “แตงกวาพันธุ์ไฮโซ” สามารถติดต่อหาซื้อได้ที่ตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของเจียไต๋ทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-810-3031