เผยแพร่ |
---|
“…ร่วมกันก็หมายความว่าสมาชิกในแต่ละสหกรณ์ จะต้องเพาะความสามัคคีกัน ความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกัน และสหกรณ์ต่างๆ ก็จะต้องพยายามที่จะอุดหนุนส่งเสริมกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน เพื่อประโยชน์ของแต่ละคน มิใช่เพื่อประโยชน์ของ คำว่า สหกรณ์เท่านั้น…”
พระราชดำรัส
พระราชทานแก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม และสหกรณ์ประมงทั่วราชอาณาจักร
เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันจันทร์ ที่ 7 พฤษภาคม 2522
อำเภอลับแล หรือ เมืองลับแล เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเมืองล้านนาโบราณมีมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย คำว่า “ลับแล” นั้น ตามข้อสันนิษฐานว่า เดิมชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่บริเวณนี้ เนื่องจากเป็นที่ป่ารก หลบซ่อนตัวง่าย และภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในหุบเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย
เมืองลับแล มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการเพาะปลูก ชาวเมืองลับแลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร พืชผลที่ทำรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้กับเมืองลับแล คือ ลางสาด ทุเรียน หอมแดง และยามว่างจากการทำสวน ทำไร่ ทำนา ชาวเมืองลับแลยังผลิตสินค้าหัตถกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้กับเมืองลับแล ได้แก่ ผ้าตีนจก ผ้าห่ม ไม้กวาดตองกง
“เมืองลับแล” ยังมีของดีๆ นอกจากผลไม้เลื่องชื่ออย่างลางสาด ทุเรียนแล้ว “ข้าวพันผัก” ก็เป็นอาหารที่ผู้ที่ได้ไปเยือน สมควรได้มีโอกาสลิ้มลอง
“ข้าวพันผัก” ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มข้าวพันผักภูมิลับแล สังกัด สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด เป็นเมนูยอดฮิตของเมืองลับแล มีหน้าตาคล้ายกับข้าวเกรียบปากหม้อของคนภาคกลาง เป็นภูมิปัญหาชาวบ้านที่มีตั้งแต่ดั้งเดิมมาแล้ว โดยนำผักที่มีอยู่รอบรั้วบ้าน อาทิ ผักบุ้ง ฟักทอง ตำลึง มาผสมกับวุ้นเส้น พันกับแผ่นแป้ง เมื่อสุกก็แต่งด้วยเครื่องเคียง และรับประทานเป็นอาหารว่าง ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ และทำให้สุขภาพดีอีกด้วย
นอกจากนี้ กลุ่มข้าวพันผักภูมิลับแล ยังมีผลิตภัณฑ์แนะนำอีก อาทิ ข้าวพันผักสมุนไพร ข้าวแคบ หมี่พันลับแล
ข้าวแคบ หรือข้าวเกรียบของอำเภอลับแลมี 2 ชนิด คือ ชนิดหนึ่งทำจากแป้งข้าวเจ้า จะเป็นแผ่นบางๆ รสจืด มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว อีกชนิดหนึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียวเป็นแผ่นหนากว่า แป้งข้าวเจ้าแต่รสเค็มและมีขนาดเล็กกว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว ปัจจุบัน ผู้ทำข้าวแคบบางคนอาจปรุงรส เผ็ด เค็ม เปรี้ยว หรือ หวานเล็กน้อย ลงไปก่อนที่จะทำให้สุกเป็นแผ่น
หมี่พัน อีกหนึ่งอร่อยแต่เรียบง่ายของชาวลับแล คือ การนำเอาแผ่นข้าวแคบมาม้วนห่อเส้นหมี่ที่ลวกและปรุงรสด้วยน้ำมันกระเทียมเจียว น้ำปลา น้ำมะนาว พริกป่น และซอสมะเขือเทศ เป็นแท่งยาว หากไม่นำข้าวแคบมาห่อก็จะเรียกว่า “หมี่คุก” ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน สำหรับเส้นที่นิยมนำมาทำหมี่คุกนั้น ใช้ได้ทุกเส้นตามแต่ลูกค้าสั่ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นหมี่ขาวเส้นเล็ก เส้นใหญ่ หรือบะหมี่ แต่ที่นิยมมากที่สุดคือ หมี่ขาว
คุณสมัย อินคำ ประธานกลุ่มข้าวพันผักภูมิลับแล เล่าว่า ข้าวพันผัก มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ ยา ตา ยาย เป็นอาหารหลักของชาวลับแล และรับประทานได้ทุกเพศทุกวัย และปัจจุบัน กลุ่มข้าวพันผักภูมิลับแลได้มีการประยุกต์สูตรข้าวพันผักออกมาอีกหลายสูตร เพื่อเอาใจลูกค้า อาทิ ข้าวพันไข่ตี ข้าวพันผักก๋วยเตี๋ยวอบ ข้าวพันผักไข่ดาว ข้าวพันผักเจ และอีกหลากหลายเมนู
ทั้งนี้ กลุ่มข้าวพันผักภูมิลับแล ได้รับการสนับสนุนจากสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานเกษตรอำเภอ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในการให้ความรู้เป็นพี่เลี้ยง จัดประชุม และจัดอบรม เพื่อให้กลุ่มข้าวพันผักภูมิลับแล มีความเข็งแข็งขึ้น
หากท่านใด สนใจผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว อร่อย สะอาด ถูกหลักอนามัย ติดต่อสอบถามได้ที่คุณสมัย อินคำ ประธานกลุ่มข้าวพันผักภูมิลับแล เลขที่ 7/6 หมู่ที่ 2 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ 53130 หรือ 08-7572-2036 หรือติดต่อ สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด 0-5543-1032 หรือ คุณสุกัญญา แก้วเปี้ย โทร.08-9707-5484